รายงานการประเมินโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
โรงเรียนควนกาหลงวิทยาคม “นิคมวัฒนา” ปีการศึกษา 2564
ผู้รายงาน นางฐิตินันท์ แก้วสุวรรณ
รองผู้อำนวยการโรงเรียนควนกาหลงวิทยาคม “นิคมวัฒนา”
ปีที่รายงาน ปีการศึกษา 2564
บทสรุป
รายงานการประเมินโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยใช้กิจกรรมสร้างสรรค์ 5 ลักษณะ โรงเรียนควนกาหลงวิทยาคม “นิคมวัฒนา” ปีการศึกษา 2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินด้านสภาพแวดล้อม ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต โดยประยุกต์ใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model) ของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam’s CIPP Model) มาใช้ในการประเมิน
โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 จำนวน 214 คน ผู้ปกครองนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 จำนวน 214 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน และประชากรที่เป็นครู จำนวน 30 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการรวมทั้งสิ้น 7 ฉบับ เป็นแบบสอบถาม ฉบับที่ 1-4 และ 7 มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ ทุกฉบับมีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือ ได้ค่าเชื่อมั่นอยู่ระหว่าง 0.938 - 0.966 ฉบับที่ 5 เป็นแบบบันทึกผลการประเมินพฤติกรรมตามสภาพจริง และฉบับที่ 6 เป็นแบบบันทึกผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักสูตรสถานศึกษา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปในการวิเคราะห์ข้อมูล
ผลการประเมินพบว่า
1. ผลการประเมินด้านสภาพแวดล้อมของโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยใช้กิจกรรมสร้างสรรค์ 5 ลักษณะ โรงเรียนควนกาหลงวิทยาคม “นิคมวัฒนา” ปีการศึกษา 2564 ตามความคิดเห็นของครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำแนกตามประเด็นตัวชี้วัด ค่าน้ำหนัก และเกณฑ์การประเมิน โดยภาพรวมทั้งสองกลุ่มที่ประเมิน มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ได้คะแนนเฉลี่ย 15 ผ่านเกณฑ์การประเมิน
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยใช้กิจกรรมสร้างสรรค์ 5 ลักษณะ โรงเรียนควนกาหลงวิทยาคม “นิคมวัฒนา” ปีการศึกษา 2564 ตามความคิดเห็นของครู จำแนกตามประเด็นตัวชี้วัด ค่าน้ำหนัก และเกณฑ์การประเมิน โดยภาพรวมที่ประเมิน มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ได้คะแนนเฉลี่ย 15 ผ่านเกณฑ์การประเมิน
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการของโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยใช้กิจกรรมสร้างสรรค์ 5 ลักษณะ โรงเรียนควนกาหลงวิทยาคม “นิคมวัฒนา” ปีการศึกษา 2564 ตามคิดเห็นของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง จำแนกตามประเด็นตัวชี้วัด ค่าน้ำหนัก และเกณฑ์การประเมิน โดยภาพรวม ทั้งสามกลุ่มที่ประเมิน มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ได้คะแนนเฉลี่ย 20 ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4. ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการ ได้แก่
4.1 ผลการประเมินด้านผลผลิตเกี่ยวกับระดับคุณภาพของโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยใช้กิจกรรมสร้างสรรค์ 5 ลักษณะ โรงเรียนควนกาหลงวิทยาคม “นิคมวัฒนา” ปีการศึกษา 2564 ตามความคิดเห็นของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง จำแนกตามประเด็นตัวชี้วัด ค่าน้ำหนัก และเกณฑ์การประเมิน พบว่า โดยภาพรวมทั้งสามกลุ่มที่ประเมิน มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ได้คะแนนเฉลี่ย 15 ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.2 ผลการประเมินผลผลิตโครงการเกี่ยวกับผลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนตามแบบบันทึกผลการประเมินตามสภาพจริง ปีการศึกษา 2563-2564 พบว่า พฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของนักเรียนลดลงร้อยละ 10.18 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดได้คะแนนเฉลี่ย 10 ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.3 ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักสูตรสถานศึกษา โรงเรียนควนกาหลงวิทยาคม “นิคมวัฒนา” ปีการศึกษา 2564 พบว่า ทุกคุณลักษณะอันพึงประสงค์มีคุณภาพอยู่ในระดับดีขึ้นไป ระหว่าง 91.42-96.86 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ได้คะแนนเฉลี่ย 10 ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.4 ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับความพึงพอใจของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานต่อการดำเนินโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยใช้กิจกรรมสร้างสรรค์ 5 ลักษณะ โรงเรียนควนกาหลงวิทยาคม “นิคมวัฒนา” ปีการศึกษา 2564 พบว่า โดยภาพรวมทั้งสี่กลุ่มที่ประเมิน มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ได้คะแนนเฉลี่ย 15 ผ่านเกณฑ์การประเมิน
ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้
1.1 กิจกรรมเยี่ยมบ้านนักเรียนในระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน เป็นกิจกรรมที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์ต่อการนำข้อมูลนักเรียนมาใช้ในการคัดกรองนักเรียน และการดำเนินงานตามระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนจึงควรดำเนินกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง
1.2 โรงเรียนควรเพิ่มระยะเวลาในการเยี่ยมบ้านให้มากขึ้น เพื่อจะได้พบปะกับบิดา มารดา ผู้ปกครองนักเรียน ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลนักเรียนมากขึ้น
1.3 ผู้บริหารสถานศึกษาควรสนับสนุนสร้างเสริมแรงเชิงบวกหรือสร้างขวัญและกำลังใจผู้เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมทั้งนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และผู้ปกครองเครือข่ายในความร่วมมือดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างต่อเนื่อง
1.4 โรงเรียนอื่นๆ ควรนำกิจกรรมสร้างสรรค์ 5 ลักษณะไปประยุกต์ใช้ในการเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์หรือพัฒนาความเป็นคนดีของนักเรียน เนื่องจากกิจกรรมสร้างสรรค์ทั้ง 5 ลักษณะ ได้แก่ โรงเรียน ครู ผู้ปกครอง เพื่อน และสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยสำคัญของความร่วมมือในการพัฒนาและส่งเสริมนักเรียนได้เป็นอย่างดี
2. ข้อเสนอแนะในการประเมินหรือวิจัยครั้งต่อไป
2.1 ควรมีการศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างละเอียดในแต่ละกิจกรรม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ส่งผลต่อผลสำเร็จของโครงการ
2.2 ควรใช้วิธีการและเครื่องมือในการประเมินอย่างหลากหลายเพื่อให้ได้ผลการประเมินที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การรับฟังความคิดเห็นของผู้ปกครองจากการประชุมผู้ปกครองนักเรียน เป็นต้น