การประเมินโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน
ผู้รับผิดชอบ พลวิเดช ดนัยดุริยะ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต 2
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อประเมินบริบท ความเหมาะสมของการจัดกิจกรรม และการบรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน 2) เพื่อประเมินปัจจัยของโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน ด้านความพร้อมของบุคลากร ความพร้อมของงบประมาณ ความพร้อมของวัสดุอุปกรณ์ ความเหมาะสมของสถานที่ ในการดำเนินงานโครงการ 3) เพื่อประเมินกระบวนการดำเนินงานของโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืนการวางแผนการดำเนินงาน การตรวจสอบ กำกับ ติดตาม การปรับปรุงพัฒนา และ 4) เพื่อประเมินผลผลิตของโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืนตามมาตรฐานโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี มีประชากรในโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี จำนวน 35 โรงเรียน เลือกกลุ่มตัวอย่างจากการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 210 คน จากประชากรประกอบด้วยผู้อำนวยการโรงเรียน ครูผู้รับผิดชอบโครงการ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครอง และนักเรียน เครื่องมือที่ใช้ประเมินโครงการ คือ แบบประเมินโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน และแบบประเมินความพึงพอใจ มาเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างและนำมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ X-bar , S.D.
จากการประเมินโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน พบว่า ผู้ตอบแบบประเมินโครงการ ประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียน จำนวน 35 คน คิดเป็นร้อยละ 16.67 ครู จำนวน 35 คน คิดเป็นร้อยละ 16.67 ผู้ปกครอง จำนวน 35 คน คิดเป็นร้อยละ 16.67 กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 35 คน คิดเป็นร้อยละ 16.67 และนักเรียน จำนวน 70 คน คิดเป็นร้อยละ 33.33
ผลการประเมินด้านบริบท โดยรวมอยู่ในระดับ มากที่สุด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.89 ค่า S.D. เท่ากับ 0.15 สำหรับผลการประเมินรายด้านปรากฏว่าด้านวัตถุประสงค์ของโครงการสอดคล้องกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน วัตถุประสงค์ของโครงการสอดคล้องกับการส่งเสริม สนับสนุนการขับเคลื่อนโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี ตามมาตรฐานโรงเรียน และเป้าหมายของโครงการสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์ของมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์อีดี มีผลการประเมินสูงกว่าด้านอื่น สำหรับผลการประเมินรายด้านที่มีผลการประเมินต่ำกว่าด้านอื่น ๆ คือ ด้านมีการเตรียมการดำเนินโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืนตามโครงการ/กิจกรรม โครงการมีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้ปกครอง และชุมชน มีผลการประเมินในระดับ มากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.55 ค่า S.D. เท่ากับ 0.50
ผลการประเมินด้านปัจจัย โดยรวมอยู่ในระดับ มาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.48 ค่า S.D. เท่ากับ 0.43 สำหรับผลการประเมินรายด้านปรากฏว่าด้านการประชาสัมพันธ์โครงการมีความเหมาะสม มีผลการประเมินสูงกว่าด้านอื่น คือ มีผลการประเมินในระดับ มากที่สุด สำหรับผลการประเมินรายด้านที่มีผลการประเมินต่ำกว่าด้านอื่นๆ คือ ด้านงบประมาณสนับสนุนการดำเนินโครงการอย่างเพียงพอ มีผลการประเมินในระดับ ปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.45 ค่า S.D. เท่ากับ 0.50
ผลการประเมินด้านกระบวนการ โดยรวมอยู่ในระดับ มากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.81 ค่า S.D. เท่ากับ 0.11 สำหรับผลการประเมินรายด้านปรากฏว่าด้านมีการจัดทำคู่มือแนวทางการดำเนินงานโครงการ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการ มีการประเมินผลการดำเนินโครงการอย่างเป็นระบบ และมีการรายงานผลการดำเนินโครงการให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ มีผลการประเมินสูงกว่าด้านอื่น คือ มีผลการประเมินในระดับ มากที่สุด สำหรับผลการประเมินรายด้านที่มีผลการประเมินต่ำกว่าด้านอื่นๆ คือ ด้านมีการนิเทศ ติดตาม กำกับการดำเนินโครงการตามขั้นตอน มีผลการประเมินในระดับ มากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.61 ค่า S.D.เท่ากับ 0.49
ผลการประเมินด้านผลผลิต อยู่ในระดับ มาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.15 ค่า S.D. เท่ากับ 0.45 สำหรับผลการประเมินรายด้านปรากฏว่าด้านการมีส่วนร่วม มีผลการประเมินสูงกว่าด้านอื่น คือ มีผลการประเมินในระดับ มากที่สุด สำหรับผลการประเมินรายด้านที่มีผลการประเมินต่ำกว่าด้านอื่นๆ คือ ด้านผู้เรียน มีผลการประเมินในระดับ มาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.56 ค่า S.D. เท่ากับ 1.03
ผลการประเมินความพึงพอใจเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ โดยรวมอยู่ในระดับ มากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.25 ค่า S.D. เท่ากับ 0.18 สำหรับผลการประเมินรายด้านปรากฏว่าด้านผู้เรียน มีผลการประเมินสูงกว่าด้านอื่น คือ มีผลการประเมินในระดับ มากที่สุด สำหรับผลการประเมินรายด้านที่มีผลการประเมินต่ำกว่าด้านอื่นๆ คือ ด้านห้องเรียนมีอุปกรณ์ไอซีที เพื่อการศึกษา มีผลการประเมินในระดับ มาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.52 ค่า S.D. เท่ากับ 0.53