การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้โดยเกมิฟิเคชั่นเป็นฐาน
ผู้วิจัย นางสาวรัตนาวดี ศรีแก้ว ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนชุมชนเทศบาล ๓ (พินิจพิทยานุสรณ์)
สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลเมืองนครพนม
ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาสภาพบริบทและสภาพปัญหาเกี่ยวกับรูปแบบการเรียนรู้ เรื่อง ร้อยละ และอัตราส่วน (R1) 2) พัฒนารูปแบบการเรียนรู้โดยเกมิฟิเคชั่นเป็นฐานเพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหา เรื่อง ร้อยละ และอัตราส่วน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (D1) 3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการเรียนรู้โดยเกมิฟิเคชั่นเป็นฐานเพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหาเรื่อง ร้อยละ และอัตราส่วน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (R2) 4) เพื่อประเมินรูปแบบการเรียนรู้
โดยเกมิฟิเคชั่นเป็นฐานเพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหา เรื่อง ร้อยละ และอัตราส่วน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (D2) การวิจัยเป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/1 โรงเรียนชุมชนเทศบาล ๓ (พินิจพิทยานุสรณ์) สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลเมืองนครพนม ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 39 คน และครูผู้สอนคณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษาในจังหวัดนครพนม จำนวน 10 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์เพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหา 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 3) แบบทดสอบวัดทักษะการแก้ปัญหา และ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจของครูและนักเรียน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t – test) และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการเรียนรู้โดยเกมิฟิเคชั่นเป็นฐานเพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหา เรื่อง ร้อยละ และ อัตราส่วน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีชื่อว่า Step into the lesson ; Teaching ; Check ; Conclusion Model (STCC Model) มีองค์ประกอบคือ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการเรียนรู้ สาระความรู้ ทักษะกระบวนการ สิ่งที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ระบบสังคม สิ่งสนับสนุน และ หลักการตอบสนอง ซึ่งกระบวนการเรียนการสอนมี 4 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน (Step into the lesson: S) 2) ขั้นสอน (Teaching : T) 3) ขั้นตรวจสอบ (Check : C) และ 4) ขั้นสรุป (Conclusion : C)
2. รูปแบบการเรียนรู้โดยเกมิฟิเคชั่นเป็นฐานเพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหา ที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพ เท่ากับ 83.85/85.64 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่โรงเรียนกำหนด
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ได้รับการสอนตามรูปแบบการเรียนรู้โดยเกมิฟิเคชั่นเป็นฐานเพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหา สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ทักษะการแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีจำนวนนักเรียนผ่านเกณฑ์ร้อยละ 80 ขึ้นไปคิดเป็นร้อยละ 87.50 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่โรงเรียนกำหนดไว้
5. ครูและนักเรียนมีความพึงพอใจหลังการใช้รูปแบบการเรียนรู้โดยเกมิฟิเคชั่นเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหา อยู่ในระดับมาก
นอกจากนี้ยังพบว่า นักเรียนสามารถสร้างชิ้นงานโดยใช้ทักษะการแก้ปัญหาบนพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจด้วยตนเอง ส่งผลให้ชิ้นงานมีคุณภาพ นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและร่วมสร้างสรรค์สังคมได้
คำสำคัญ รูปแบบการเรียนรู้โดยเกมิฟิเคชั่นเป็นฐานเพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหา