การพัฒนารูปแบบการบริหารการศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา ในสถานการณ์การแพร่ระบาด
ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ผู้รายงาน นายสุขเกษม พาพินิจ
ปีที่รายงาน 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษารูปแบบการบริหารการศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน 2) พัฒนารูปแบบการบริหารการศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน 3) ใช้รูปแบบการบริหารการศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน และ 4) ประเมินรูปแบบการบริหารการศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ผลการวิจัย ปรากฏผลดังนี้
ระยะที่ 1 ศึกษารูปแบบการบริหารการศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กลุ่มเป้าหมายเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนหนองบัวพิทยาคาร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเลย หนองบัวลำภู ปีการศึกษา 2563 จำนวน 493 คน พบว่า รูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน รูปแบบที่ครูและชุมชนมีบทบาทเป็นหลัก มีค่าเฉลี่ยสูงสุด โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เท่ากับ 4.57 ทั้งนี้ โรงเรียนหนองบัวพิทยาคาร เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ เป็นศูนย์กลางการบริการทางการศึกษา มีสมาคมผู้ปกครอง ศิษย์เก่า หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมีบทบาทในการส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษา โรงเรียนได้รับการช่วยเหลือในด้านความร่วมมือ วัสดุอุปกรณ์ งบประมาณพัฒนาคุณภาพของโรงเรียน การประชุมชี้แจงใด ๆ การตัดสินใจใด ๆ ของโรงเรียนจะมีผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนรับรู้และเกี่ยวข้องในรูปของคณะกรรมการต่าง ๆ จึงเป็นมติว่าโรงเรียนหนองบัวพิทยาคาร ควรมีการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน รูปแบบที่ครูและชุมชนมีบทบาทเป็นหลัก
ระยะที่ 2 พัฒนารูปแบบการบริหารการศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ใช้วิธีการสัมมนาอิงผู้เชี่ยวชาญ (Connoisseurship) โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารการศึกษา หลักสูตรและการสอน การวิจัยทางการศึกษา การวัดและประเมินผลการศึกษา และด้านการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จำนวน 7 คน เป็นผู้พิจารณารูปแบบที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นโดยใช้แนวคิดทฤษฎีระบบ (Theory System) ที่มองภาพรวมของสถานศึกษาทั้งหมดตามหน้าที่ที่สัมพันธ์กันประกอบด้วย ปัจจัยนำเข้า (Inputs) กระบวนการ (Processes) และผลลัพธ์ (Outputs) ด้วยการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School Base Management: SBM) บนพื้นฐานการบริหารแบบมีส่วนร่วม (Participative Management) ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ภายใต้วงจรการควบคุมคุณภาพ PDCA (Deming Cycle) ได้แก่ การวางแผน (Plan) การปฏิบัติตามแผน (Do) การตรวจสอบการปฏิบัติตามแผน (Check) และการปรับปรุงแก้ไข (Action) เรียกรูปแบบนี้ว่า “HAPPY School Model” ซึ่งเป็นรูปแบบการร่วมมือระหว่างโรงเรียน ได้แก่ คณะผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา และชุมชน
ระยะที่ 3 การใช้รูปแบบการบริหารการศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พบว่า (1) ผู้เรียนมีค่าเฉลี่ยของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม และภาษาต่างประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.54 (2) ผู้เรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์อยู่ในระดับดีและดีเยี่ยม คิดเป็นร้อยละ 96.37 (3) ผลการทดสอบ O-NET ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ใน 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม และภาษาต่างประเทศ มีค่าเฉลี่ย เพิ่มขึ้น 11.20 คิดเป็นร้อยละ 6.89 (4) ผลการพัฒนาความสามารถของผู้เรียนด้านศิลปะ ด้านภาษา ด้านดนตรี ด้านกีฬา ด้านคอมพิวเตอร์ ด้านมนุษยสัมพันธ์ ด้านเข้าใจตนเอง และด้านรอบรู้ธรรมชาติ เพิ่มขึ้นทุกด้าน และ (5) ผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มที่มีปัญหาในระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนลดลงร้อยละ 93.10
ระยะที่ 4 ประเมินรูปแบบการบริหารการศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กลุ่มเป้าหมายเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนหนองบัวพิทยาคาร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเลย หนองบัวลำภู ปีการศึกษา 2564 จำนวน 499 คน พบว่า มีความพึงพอใจต่อรูปแบบการบริหารการศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.84 ในด้านการมีส่วนร่วมในการบริหารงานบริหารทั่วไป โรงเรียนและชุมชนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก