การแก้ปัญหาการอ่านจับใจความ
ชื่อรายงานการวิจัย : การแก้ปัญหาการอ่านจับใจความ โดยใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนบทบาทประกอบแผนภาพโครงเรื่อง ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านหนองชุม จังหวัดยโสธร
ผู้ที่ทำวิจัยในชั้นเรียน : ชไมพร กุลบุตรดี
ปีที่ทำวิจัย : 2564
คำสำคัญ : การอ่านจับใจความ / กระบวนการแลกเปลี่ยนบทบาท / แผนภาพโครงเรื่อง
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สำรวจและศึกษาสภาพปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนในชั้นเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 2) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์สภาพปัญและสาเหตุของปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการเรียน 3) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์แนวทางการแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น 4) เพื่อศึกษาผลของการนำนวัตกรรมไปปฏิบัติ
ผู้วิจัยได้ดำเนินการจัดทำวิจัยตามลำดับขั้นตอนและกระบวนการทำวิจัย โดยแบ่งวิธีดำเนินการ เป็น 3 ระยะดังนี้ ระยะที่ 1 สำรวจและวิเคราะห์สภาพปัญหาในชั้นเรียน ระยะที่ 2 พัฒนานวัตกรรม และระยะที่ 3 การนำนวัตกรรมไปปฏิบัติ ประชากรเป้าหมายคือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านหนองชุม จำนวน 7 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แผนการจัดการเรียนรู้การแก้ปัญหาการอ่านจับใจความ โดยใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนบทบาทประกอบแผนภาพโครงเรื่อง จำนวน 7 แผน แบบทดสอบท้ายแผนการจัดการเรียนรู้ และแบบทดสอบหลังเรียน จำนวน 30 ข้อ
ผลการวิจัยพบว่า
1) สภาพปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 คือ การอ่านจับใจความ จากการสำรวจสภาพปัญหาพบว่า มีนักเรียนไม่ผ่านเกณฑ์จำนวน 7 คน จากนักเรียนทั้งหมด 12 คน คิดเป็นร้อยละ 58.33 ซึ่งมีสาเหตุมาจากนักเรียนขาดทักษะด้านการอ่าน ไม่ได้รับคำแนะนำเพื่อพัฒนาการสรุปความ หรือส่งเสริมกระบวนการอ่านอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไม่สามารถระบุใจความสำคัญจากเรื่องที่อ่านได้
2) นวัตกรรมในการแก้ปัญหาคือ กระบวนการแลกเปลี่ยนบทบาทประกอบแผนภาพโครงเรื่อง ซึ่งนำมาพัฒนารูปแบบให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่พบและบริบทของสถานศึกษา ผลการตรวจสอบความสอดคล้องของนวัตกรรมจากผู้เชี่ยวชาญ พบว่า นวัตกรรมมีความเหมาะสมสำหรับใช้พัฒนาทักษะการอ่านจับใจความของนักเรียน
3) ผลการนำนวัตกรรมไปปฏิบัติพบว่า นักเรียนผ่านเกณฑ์การประเมินทักษะด้านการอ่านจับใจความร้อยละ 70 ตามที่ผู้วิจัยกำหนด จำนวน 6 คน คิดเป็นร้อยละ 85.71 และมีนักเรียนจำนวน 1 คน คิดเป็นร้อยละ 14.29 ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่ผู้วิจัยกำหนด ซึ่งมีสาเหตุมาจากนักเรียนมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ที่จะต้องได้รับการดูแลรักษาและวางแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล ตามระบบสารสนเทศด้านการศึกษาพิเศษและการศึกษาสงเคราะห์ (Special Education Technology : SET) ในลำดับต่อไป
การสะท้อนผลการวิจัย
กระบวนการแลกเปลี่ยนบทบาทประกอบแผนภาพโครงเรื่อง เป็นกระบวนการสอนที่ช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้เรียน ช่วยฝึกกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้มีความสามารถด้านการอ่านจับใจความที่ดีขึ้น