การเสริมสร้างความสามารถของครูด้านการออกแบบและสร้างนวัตกรรม
ชื่อผู้เสนอผลงาน นางภัครฐา แก้วจา
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดล้านตอง
โรงเรียน/หน่วยงาน โรงเรียนวัดล้านตอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1
โทรศัพท์มือถือ 097-9182293 E-mail : Pakkaratha_LawLar@hotmail.com
2. ความเป็นมาและความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรม
แผนการศึกษาแห่งชาติพ.ศ. 2560 - 2579 มุ่งพัฒนาคนให้มีการศึกษาในขณะเดียวกันได้เห็นความสำคัญของกระบวนด้านการพัฒนาครูให้มีคุณภาพและมาตรฐาน มีคุณธรรมและคุณภาพ (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2560 : 116) ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับแผนพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 12 ได้กำหนดนโยบายให้สอดคล้องตอบรับกับแผนการศึกษาแห่งชาติ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาด้านหลักสูตรการเรียนการสอนกระบวนการเรียนรู้ การยกระดับคุณภาพมาตรฐานวิชาชีพครูคณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, 2559 : 51-53) จะเห็นได้ว่าในเรื่องกระบวนการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยให้การ พัฒนาการศึกษาก้าวหน้าขึ้น คือ การพัฒนาคุณภาพของครูควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาที่เป็นเครื่องมือในการจัดการศึกษา การอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจทั้งด้านเนื้อหา และเทคนิคการสอนรวมถึงการบูรณาการในการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษามาใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอน การปรับกระบวนการเรียนการสอน การประยุกต์ใช้สื่อสมัยใหม่เพื่อกระตุ้น การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสิ่งท้าทายเพราะสังคมแห่งการเรียนรู้แบบใหม่ที่มุ่งให้ผู้เรียน ไม่เพียงแต่เป็นผู้ที่คอยรับรู้แต่ต้องเป็นผู้สรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้มีทักษะกระบวนการคิดและให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคศตวรรษที่ 21 จึงมีความสำคัญที่ครูจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจและสร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้นำไปใช้กับนักเรียน ทั้งในรูปแบบสื่อการเรียนการสอน การประเมินผลการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน รวมทั้งพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมกับสภาพการณ์กับท้องถิ่นเพื่อให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงตามบริบทของสังคม ผู้สอนและผู้เรียนมีส่วนร่วมในการสร้างวิถีการเรียนเพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริง
การจัดการเรียนการสอน การฝึกฝนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ จึงจำเป็นต้องใช้ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่ทักษะด้านการท่องจำ แต่ในสภาพปัจจุบัน ครูยังสอนด้วยวิธีการบรรยายโดยยึดเนื้อหาจากหนังสือเรียน ไม่ได้ยึดมาตรฐานการเรียนรู้ตัวชี้วัด ตามหลักสูตร การสอนเป็นการสอนเนื้อหา ไม่ได้เน้นสอนกระบวนการ อันนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำเมื่อเทียบกับนานาประเทศ ดังนั้นในการจัดการเรียนการสอนในยุคนี้จึงควรมุ่งให้ผู้เรียนเกิดการสร้างทักษะแห่งอนาคตใหม่ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ทักษะ และคุณลักษณะขั้นพื้นฐาน ที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในสังคมเศรษฐกิจสมัยใหม่ได้อย่างมีคุณภาพ รู้จักตัวเอง รู้จักโลกและมีเป้าหมายในการดำเนินชีวิต ดังนั้น การสร้างผู้เรียนให้มีศักยภาพในการใช้ชีวิตอยู่ได้ในสังคมเศรษฐกิจสมัยใหม่จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยครูต้องเป็นผู้สร้างผู้เรียนทุกคนให้มีความรู้ความสามารถ และทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้นำแนวคิดของวิจารณ์ พาณิช (2555 หน้า 18-21) ที่ได้ดำเนินการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา มีการเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษา และคุณภาพผู้เรียน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาครูผู้สอน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนให้เป็นครูยุคใหม่ ที่ไม่เน้นการสอน แต่จะทำหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน เน้นการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ครูจะเป็นผู้ชี้แนะการเรียนรู้ (Coaching) ในด้านเนื้อหาสาระสำคัญที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ 21 จะยึดหลัก 3R ได้แก่ Reading (อ่านออก) (W) Riting (เขียนได้) (A) Rithemetics (คิดเลขเป็น) และ 8 C ได้แก่ 1) Critical Thinking and Problem Solving (ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา) 2) Creativity and Innovation (ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม) 3) Cross-cultural Understanding (ทักษะด้านความเข้าใจความต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์) 4) Collaboration, Teamwork and Leadership (ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม) 5) Communications, Information and Media Literacy (ทักษะด้านการสื่อสารสารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ) 6) Computing and ICT Literacy (ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) 7) Career and Learning Skills (ทักษะอาชีพและการเรียนรู้) 8) Compassion (ความมีเมตตากรุณา มีวินัย คุณธรรม และจริยธรรม) ซึ่งเป็นภารกิจที่ผู้สอนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ในการมีบทบาทจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนทั้งในและนอกห้องเรียน เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว
ในฐานะผู้อำนวยการสถานศึกษา ได้สำรวจสภาพปัจจุบันของการจัดการเรียนรู้ โดยการใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนวัดล้านตอง พบว่า ครูยังมีการใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ในการเรียนการสอนค่อนข้างน้อย เนื่องจากครูยังขาดความรู้ความเข้าใจในกระบวนการสร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ เช่น การประยุกต์ ใช้ทฤษฎีการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับการออกแบบนวัตกรรมการศึกษาประเภทต่างๆ และกระบวนการในการปรับปรุงประสิทธิภาพ ควรได้รับการพัฒนาความสามารถด้านการออกแบบและสร้างนวัตกรรมการศึกษา เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนการแก้ปัญหาผู้เรียน และสร้างความพร้อมในการพัฒนาผู้เรียนสู่ศตวรรษที่ 21
3. วัตถุประสงค์การพัฒนานวัตกรรม
3.1 วัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน
1. เพื่อศึกษาผลการใช้กระบวนการโค้ชในการเสริมสร้างความสามารถของครูด้านการออกแบบและสร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ 3Rs8Cs สู่ศตวรรษที่21
2. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของครูต่อการใช้กระบวนการโค้ชในการเสริมสร้างความสามารถของครูด้านการออกแบบและสร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ 3Rs8Cs สู่ศตวรรษที่21
3.2 ขอบเขตของการวิจัย
ประชากรในการวิจัย เป็นครูและบุคลากรทางการศึกษา โรงเรียนวัดล้านตอง
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาเชียงใหม่เขต 1 จำนวน 12 คน
3.3 นิยามศัพท์เฉพาะ
กระบวนการโค้ช หมายถึง ขั้นตอนการเสริมสร้างศักยภาพของครูในด้านการออกแบบและสร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ 3Rs8Cs สู่ศตวรรษที่ 21 ร่วมกับการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้(PLC)
ความสามารถของครูด้านการออกแบบและสร้างนวัตกรรม หมายถึง ครูสามารถออกแบบและสร้างหรือพัฒนาการศึกษาหรือการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเกิดผลต่อการเรียนรู้ ในรูปแบบการศึกษา วิจัย การทดลอง หลักสูตร รวมถึงแนวความคิด เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นวัตกรรมการศึกษาด้านการเรียนการสอนประกอบด้วย สื่อสิ่งประดิษฐ์และรูปแบบวิธีสอน ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดแก่ผู้เรียน
การจัดการเรียนรู้ 3Rs8Cs สู่ศตวรรษที่ 21 หมายถึง การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21(3Rs8CS) ประกอบด้วย ทักษะและคุณลักษณะต่อไปนี้
1) Reading คือ การอ่านออก
2) (W)Riting คือ การเขียนได้
3) (A)Rithmetics คือ การคิดเลขเป็น
4) Critical Thinking &Problem Solving คือ ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา
5) Creativity & Innovation คือ ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม
6) Cross-cultural Understanding คือ ทักษะด้านความเข้าใจต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์
7) Collaboration, Teamwork & Leadership คือ ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ
8) Communications Information & Media Literacy คือ ทักษะด้านการสื่อสารสารสนเทศและการรู้เท่าทันสื่อ
9) Computing & ICT Literacy คือ ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
10) Career & Learning Skills คือ ทักษะอาชีพและทักษะการเรียนรู้
ภาพรวมของนวัตกรรม
การเสริมสร้างความสามารถของครูด้านการออกแบบและสร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ 3Rs8Cs สู่ศตวรรษที่21 ด้วยกระบวนการโค้ช (Coach) โรงเรียนวัดล้านตอง
สามารถนำสู่การปฏิบัติเพื่อพัฒนาหรือแก้ปัญหา ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
1. ครูมีการจัดการเรียนรู้ที่ครบวงจร คือ วางแผน จัดการเรียนรู้ และการประเมินผลการจัดการเรียนรู้ตามแนวการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน สามารถนำไปใช้กับการปฏิบัติงานอื่น ๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ต้องการและการติดตามช่วยเหลือทำให้มีทักษะกระบวนการทำงานมากขึ้น
2. ครูสามารถสร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้นำไปใช้กับนักเรียน ทั้งในรูปแบบสื่อการเรียนการสอน การประเมินผลการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน รวมทั้งพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมกับสภาพการณ์กับท้องถิ่นเพื่อก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงตามบริบทของสังคม ผู้สอนและผู้เรียนมีส่วนร่วมในการสร้างวิถีการเรียนเพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริง