การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการโรงเรียนคุณภาพ
ผู้วิจัย นายนิวัตร วงศ์วิลัย
คำสำคัญ การพัฒนา, รูปแบบการบริหาร, โรงเรียนคุณภาพ, ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
ปีที่ทำวิจัย ปีการศึกษา 2563 - 2564
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบันและผลการดำเนินการบริหารจัดการสถานศึกษาของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี ก่อนการพัฒนา 2) สร้างและพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการโรงเรียนคุณภาพเพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของนักเรียนในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี 3) ศึกษาผลการใช้รูปแบบการบริหารจัดการโรงเรียนคุณภาพเพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของนักเรียนในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี และ 4) ศึกษาความพึงพอใจของผู้บริหารและครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อผลการดำเนินงานตามรูปแบบการบริหารจัดการโรงเรียนคุณภาพเพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของนักเรียนในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหารและครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียน วิธีการวิจัยมี 4 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาสภาพปัจจุบันและผลการดำเนินการบริหารงานสถานศึกษาโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี ก่อนการพัฒนา ขั้นตอนที่ 2 การสร้างรูปแบบการบริหารจัดการโรงเรียนคุณภาพเพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของนักเรียนในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี ขั้นตอนที่ 3 การศึกษาผลการใช้รูปแบบการบริหารจัดการโรงเรียนคุณภาพเพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของนักเรียนในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี ในปีการศึกษา 2563 และปีการศึกษา 2564 และ ขั้นตอนที่ 4 การศึกษาความพึงพอใจของผู้บริหารและครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อผลการดำเนินงานตามรูปแบบการบริหารจัดการโรงเรียนคุณภาพเพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของนักเรียนในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบวิเคราะห์เอกสาร แบบสัมภาษณ์ที่ไม่มีโครงสร้าง และแบบสอบถามความคิดเห็น สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอนตามลำดับความสำคัญของการนำเข้าตัวแปร และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพปัจจุบันของโรงเรียนก่อนการพัฒนา จากการวิเคราะห์เอกสารรายงานการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี ได้ศึกษาวิเคราะห์สภาพการบริหารงาน สรุปสาระสำคัญจากการวิเคราะห์สภาพปัจจุบัน จุดที่ควรพัฒนา ได้แก่ ด้านคุณภาพผู้เรียน ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ควรให้มีความรู้ ทักษะ คุณลักษณะตามหลักสูตรสถานศึกษา มีทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 และมีการพัฒนาด้านพหุปัญญาครบทุกด้าน ด้านกระบวนการบริหารและการจัดการ โรงเรียนยังขาดแคลนบุคลากรในจัดการเรียนการสอนในบางวิชา จึงจำเป็นต้องมีการจ้างครูอัตราจ้างจำนวนมากเพื่อทดแทนการขาดแคลนบุคลากร และครูยังขาดการนำงานวิจัยมาใช้มาใช้ในการพัฒนาการเรียนรู้และแก้ไขปัญหาชั้นเรียน อีกทั้งหลักสูตรสถานศึกษายังไม่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนเท่าที่ควร ด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ครูต้องปรับกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นการบูรณาการทักษะการเรียนรู้ของนักเรียนในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาตนเองได้เต็ม ศักยภาพ และส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผลการศึกษาระดับการปฏิบัติของการดำเนินการบริหารสถานศึกษาของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี ก่อนการพัฒนา โดยภาพรวม อยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านการบริหารวิชาการ ด้านการบริหารงบประมาณ ด้านการบริหารงานบุคคล และด้านการบริหารทั่วไป อยู่ในระดับปานกลางทุกด้าน
2. รูปแบบการบริหารจัดการโรงเรียนคุณภาพเพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของนักเรียนในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี พบว่า มีความตรงและความเหมาะสมมาก ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ปรับเปลี่ยนระบบการเรียนรู้และพัฒนาทักษะนักเรียนให้สอดคล้องกับทักษะในศตวรรษที่ 21 ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนานักเรียนด้านความฉลาดทางอารมณ์ ปลูกฝังความฉลาดทางจริยธรรมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิต ยุทธศาสตร์ที่ 3 เสริมสร้างศักยภาพครูให้เป็นครูยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 ยุทธศาสตร์ที่ 4 เพิ่มประสิทธิภาพระบบการบบริหารสถานศึกษาตามหลักธรรมาภิบาลยุทธศาสตร์ที่ 5 เสริมสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายทางการศึกษาในการจัดการศึกษาเพื่อยกระดับความเป็นเลิศทางวิชาการสู่ระดับนานาชาติ และยุทธศาสตร์ที่ 6 ส่งเสริมความสามารถทางพหุปัญญาของวนักเรียนให้เต็มตามศักยภาพ จำนวน 19 กลยุทธ์ ได้แก่ กลยุทธ์ที่ 1 พัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนมีทักษะ ในศตวรรษที่ 21 กลยุทธ์ที่ 2 พัฒนากระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนที่ใช้ฐานความรู้และระบบคิดในลักษณะสหวิทยาการ กลยุทธ์ที่ 3 พัฒนาระบบเรียนรู้เชิงบูรณการที่เน้นการลงมือปฏิบัติ มีการสะท้อนความคิด/ทบทวนไตร่ตรองเสริมสร้างทักษะชีวิต กลยุทธ์ที่ 4 พัฒนาระบบการประเมินผลนักเรียนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 กลยุทธ์ที่ 5 จัดระบบบริการสุขภาพอนามัยที่เชื่อมต่อกันระหว่างระบบสาธารณสุขกับโรงเรียน กลยุทธ์ที่ 6 ปลูกฝังความฉลาดทางด้านคุณธรรมจริยธรรมให้นักเรียนเป็นคนดีมีคุณภาพ กลยุทธ์ที่ 7 พัฒนากิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้สามารถอยู่ร่วมกัน มีความภาคภูมิใจในสถาบันและทำงานภายใต้สังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรม กลยุทธ์ที่ 8 ปรับบทบาทครูยุคใหม่ให้เป็น “ผู้อำนวยการการเรียนรู้” กลยุทธ์ที่ 9 เพิ่มขีดความสามารถของครูในการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ให้นักเรียนมีทักษะในศตวรรษที่ 21 กลยุทธ์ที่ 10 พัฒนาการประเมินศักยภาพและสมรรถนะครูในศตวรรษที่ 21 อย่างต่อเนื่อง กลยุทธ์ที่ 11 ปรับปรุงโครงสร้างการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพและเพิ่มคุณภาพการศึกษาด้วยการวิจัย กลยุทธ์ที่ 12 พัฒนาระบบการติดตามและประเมินโครงการโดยเทียบเคียงยุทธศาสตร์ชาติ กลยุทธ์ที่ 13 จัดระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพ กลยุทธ์ที่ 14 พัฒนาศักยภาพโรงเรียนให้มีความเชี่ยวชาญและโดดเด่นเฉพาะสาขา กลยุทธ์ที่ 15 สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักเรียน กลยุทธ์ที่ 16 ส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยและประเทศเพื่อนบ้านในสถานศึกษา กลยุทธ์ที่ 17 พัฒนาระบบบริหารจัดการกลไกการคัดกรองนักเรียนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาตามพหุปัญญาให้เต็มตามศักยภาพ กลยุทธ์ที่ 18 สร้างโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาความสามารถพิเศษบนฐานพหุปัญญา และกลยุทธ์ที่ 19 ส่งเสริมความร่วมมือจากครอบครัว ภาคเอกชนและสื่อ ในการเสริมสร้างความสามารถพิเศษตามความถนัดของนักเรียน
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการบริหารจัดการโรงเรียนคุณภาพเพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของนักเรียนในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี พบว่า โรงเรียนมีผลการปฏิบัติงานที่ได้รับการพัฒนาตาม 19 กลยุทธ์ สูงขึ้น
4. ความพึงพอใจที่มีต่อผลการดำเนินงานตามรูปแบบการบริหารจัดการโรงเรียนคุณภาพเพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของนักเรียนในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี พบว่า ผู้บริหารและครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียน โดยภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด