นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน
เจ้าของผลงาน นางสาวศิริกานดา คำจันทร์
ที่มาของปัญหา ความต้องการ
การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างประชากรของประเทศให้เป็นผู้มีความรู้ ความคิด พฤติกรรม ทัศนคติ ค่านิยม และคุณธรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าในวิถีทางที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เป็นรากฐานในกระบวนการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้า เพราะการศึกษามีความสัมพันธ์กับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นผู้ที่รู้จักคิดรู้จักทำและรู้จักพัฒนา แก้ไขปัญหาในประเทศ จึงจะเป็นอย่างยิ่งที่ต้อง พัฒนาคนหรือประชากรให้มีคุณภาพควบคู่กันไป เพื่อให้ผู้เรียนมีระดับสติปัญญา มีความรับผิดชอบ ต่อสังคม มีคุณธรรม จริยธรรม ตลอดตนมีบุคลิกภาพที่พึงประสงค์ เพื่อให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บททางการศึกษาของประเทศ ได้กำหนดภารกิจในการปฏิรูปการเรียนรู้ไว้ในเรื่องแนวทางการจัดการศึกษาว่า ในการศึกษาต้องยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้พัฒนาตนเองได้ ดังนั้นกระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ การจัดกระบวนการเรียนรู้ใน มาตรา 24 กำหนดว่า สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ 1)จัดเนื้อหาและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล 2)ฝึกทักษะกระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ปัญหา 3)จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกปฏิบัติ ให้ทำได้ คิดเป็นทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง 4)จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานความรู้ต่างๆ อย่างได้xxxส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงาม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกสาระการเรียนรู้ 5)ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ทั้งนี้ผู้เรียนและผู้สอนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอนและแห่งเรียนรู้ 6)จัดการเรียนให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือกับ บิดา มารดา ผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ ดังนั้นควรจัดการศึกษาที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ให้ผู้เรียนมีความสามารถเรียนรู้ด้วยวิธีการต่างๆ ตามสติปัญญา ความสามารถของผู้เรียน และพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
ในการเรียนการสอนวิชาหนึ่งๆ สิ่งที่ขาดไม่ได้และมีความสัมพันธ์กับการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องคือ การสอบ แบบทดสอบเป็นตัวอย่างของมวลความรู้ทั้งหมดที่มีในเนื้อหาหรือวิชานั้นๆ หรือกล่าวได้ว่า ข้อสอบเป็นตัวแทนของคำถามที่จะใช้วัดความสามารถของผู้เรียน ครูมักใช้ผลการสอบเป็นเกณฑ์สำคัญในการสรุปความรู้ของผู้เรียน การถามเพียงส่วนหนึ่งส่วนใดอาจขาดความตรงและไม่ยุติธรรมสำหรับผู้สอบบางคน ซึ่งอาจพลาดหรือบกพร่องในส่วนที่ถูกนำมาถาม (สุมาลี จันทร์ชลอ, 2542) นักวัดผลได้พยายามหาวิธีการในการช่วยเขียนข้อสอบให้ครบถ้วนครอบคลุมมาตรฐานและตัวชี้วัดที่มีมากมายและให้ตรงตามจุดประสงค์การศึกษา โดย สงบ ลักษณะ(2525)ได้พัฒนาเทคโนโลยีการเขียนข้อสอบ เพื่อใช้กับการเรียนการสอนในประเทศไทยขึ้น โดยกำหนดลักษณะเฉพาะของแบบทดสอบ เรียกว่า “ลักษณะเฉพาะของข้อสอบ” (Item specification) ลักษณะของข้อสอบจะเป็นตัวจัดระเบียบหรือสร้างกฎเกณฑ์สำหรับการเขียนข้อสอบให้รัดกุม รอบคอบ เด่นชัด สมบูรณ์ด้วยภาพต่างๆ วัดในสิ่งที่ต้องการวัดได้ และมีการอธิบายขั้นตอนการเขียนข้อสอบไว้อย่างละเอียดเป็นลำดับขั้นตอน ซึ่งเชื่อว่าการกำหนดลักษณะเฉพาะของข้อสอบ จะช่วยขจัดข้อยุ่งยากจากการเขียนข้อสอบของครูไม่ตรงจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมหรือไม่ครบตามจำนวนจุดประสงค์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากต่อจุดประสงค์การสอนหนึ่งๆ เนื่องจากครูผู้สอนแต่ละคนมีความรู้พื้นฐานในด้านการเขียนข้อสอบต่างกัน การเขียนข้อสอบโดยยึดจุดประสงค์การเรียนรู้ย่อมแตกต่างกันออกไป ทำให้การตีความหมายของคะแนนแตกต่างกันออกไปและไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ ซึ่งจุดอ่อนเหล่านี้สามารถแก้ไขได้โดยการสร้างลักษณะเฉพาะของข้อสอบซึ่งสามารถควบคุมการเขียนข้อสอบให้มีคุณภาพใกล้เคียงกัน เขียนข้อสอบได้ครอบคลุมจุดประสงค์การเรียนรู้ และตีความหมายของคะแนนได้ตรงกันดังนั้นการที่มีลักษณะเฉพาะของข้อสอบ จึงเป็นนวัตกรรมช่วยในการให้ครูสามารถออกข้อสอบได้อย่างมีคุณภาพ
คณิตศาสตร์เป็นวิชาการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความคิดมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์ คิดอย่างมีเหตุผล เป็นระบบ มีแบบแผน สามารถวิเคราะห์ปัญหาหรือ สถานการณ์ได้อย่างถี่ถ้วยรอบคอบ และสามารถเชื่อมโยงความรู้ในห้องเรียนสู่ชีวิตประจำวันได้ การวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ในปัจจุบันมุ่งเน้นการวัดและประเมินการปฏิบัติงานในสภาพที่เกิดขึ้นจริงหรือใกล้เคียงกับสภาพจริง โดยมีจุดประสงค์สำคัญคือ 1) เพื่อตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและตัดสินผลการเรียนรู้ตามสาระการเรียนรู้ มาตรฐานการเรียนรู้ และตัวชี้วัด เพื่อนำผลที่ได้จากการตรวจสอบไปปรับปรุงพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดียิ่งขึ้น 2) เพื่อวินิจฉัยความรู้ทางคณิตศาสตร์และทักษะที่ผู้เรียนจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ความสามารถในการแก้ปัญหา การสิบค้น การให้เหตุผล การสื่อสาร การสื่อความหมาย การนำความรู้ไปใช้ การคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ การควบคุมกระบวนการคิด และนำผลที่ได้จากการวินิจฉัยผู้เรียนไปใช้เป็นแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม 3) เพื่อรวบรวมข้อมูลและจัดทำสารสนเทศด้านการจัดการเรียนรู้โดยใช้ข้อมูลจากการประเมินผลที่ได้ในการสรุปผลการเรียนของผู้เรียนและเป็นข้อมูลป้อนกลับแต่ผู้เรียนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสม รวมทั้งนำสารสนเทศไปใช้วางแผนบริหารการจัดการศึกษาของสถานศึกษา การจัดกิจกรรมแบบ Active Learning เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และตอบสนองต่อการพัฒนาของสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นกระบวนการที่ได้เรียนรู้ผ่านการกระทำและร่วมมือกันระหว่าผู้เรียน ซึ่งเป็นการเรียนการสอนที่พัฒนาศักยภาพทางสมอง ทั้งการคิด การแก้ปัญหาและการประยุกต์ใช้ความรู้ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังเป็นการเรียนการสอนที่เน้นการคิดขั้นสูง โดยครูผู้สอนจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเท่านั้น
Plicker คือโปรแกรมหรือแอพลิเคชั่นระบบออนไลน์เพื่อถามตอบประเมินการเรียนการสอนสำหรับครูในชั้นเรียน ที่ใช้เทคนิค AR Gard เพื่อการประเมินความก้าวของนักเรียนในชั้น ทำให้นักเรียนมีความสนุกสนานเป็นการกระตุ้นจูงใจให้นักเรียนสนุกไปกับการเรียนรู้ โดยครูจะต้องมีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือที่มี App Plicker เพื่อแสกน AR Grad คำตอบของนักเรียน ผู้จัดทำจึงสนใจที่จะประเมินผลผู้เรียนจากข้อสอบที่สร้างขึ้นจากลักษณะเฉพาะของข้อสอบ(Item specification) ผ่านกิจกรรมการเรียนการสอนแบบ Active learning โดยใช้ Application Plicker กลุ่มสาระการเเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทั้งนี้เนื่องจากนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นชั้นปีที่มีการวัดและประเมินผลตามมาตรฐาน ตัวชี้วัดและจุดประสงค์การเรียนรู้ โดยดัดแปลงจากแนวทางการสร้างลักษณะเฉพาะของข้อสอบของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
วัตถุประสงค์
1. เพื่อสร้างและหาคุณภาพลักษณะเฉพาะของข้อสอบ (Item specification) กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
2. เพื่อสร้างและหาคุณภาพข้อสอบที่สร้างจากลักษณะเฉพาะของข้อสอบ (Item specification) กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
3. เพื่อประเมินผลผู้เรียนโดยใช้ข้อสอบที่สร้างขึ้นจากลักษณะเฉพาะของข้อสอบ (Item specification) กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากกิจกรรมการเรียนการสอนแบบ Active learning โดยใช้ Application Plicker
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ได้ลักษณะเฉพาะของข้อสอบ (Item specification) กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีคุณภาพ
2. ได้ข้อสอบที่สร้างจากลักษณะเฉพาะของข้อสอบที่มีคุณภาพตามหลักการวัดและประเมินผล
3. ได้ผลการประเมินผู้เรียนรายบุคคล จากการประเมินผ่าน App Plicker เพื่อใช้พัฒนาและปรับปรุงผู้เรียนต่อไป
***ดูผลงานวิชาการผ่าน https://drive.google.com/drive/folders/1gNSApwRqF_q1iflG6XKzSJ9LRjFHP6lk