การพัฒนารูปแบบการจัดการด้านความปลอดภัย โดยใช้ SAFE MODEL
ผู้วิจัย : เยาวลักษณ์ เกษรเกศรา
ปีที่วิจัย : 2564
คำสำคัญ : รูปแบบการจัดการ / ความปลอดภัยในโรงเรียน
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางในการจัดการด้านความปลอดภัยของโรงเรียนวัดเมืองสาตร อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 2) เพื่อสร้างรูปแบบการจัดการด้านความปลอดภัยของวัดเมืองสาตร อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดการด้านความปลอดภัยของโรงเรียนวัดเมืองสาตร อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยการพัฒนารูปแบบการจัดการด้านความปลอดภัยของโรงเรียนวัดเมืองสาตร มี 3 ขั้นตอนประกอบด้วย ประกอบด้วย ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาปัญหาและแนวทางการจัดการด้านความปลอดภัยของโรงเรียนวัดเมืองสาตร ขั้นตอนที่ 2 การสร้างรูปแบบการจัดการด้านความปลอดภัยของโรงเรียนวัดเมืองสาตร ขั้นตอนที่ 3 ผลการใช้รูปแบบการจัดการด้านความปลอดภัยของโรงเรียนวัดเมืองสาตร
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาปัญหาและแนวทางการจัดการด้านความปลอดภัยของโรงเรียนวัดเมืองสาตร อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
1.1 ผลการศึกษาปัญหาในการจัดการด้านความปลอดภัยในโรงเรียนวัดเมืองสาตร จำแนกออกเป็น 6 ด้านดังนี้ 1) ด้านบริหารจัดการ งบประมาณในการดำเนินงานด้านความปลอดภัยไม่เพียงพอโดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด 2) ด้านการพัฒนาบุคลากร บุคลากรยังขาดความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตน เมื่ออุบัติภัยต่างๆ ในชีวิตประจำวัน 3) ด้านการจัดทำโครงการพิเศษต่างๆในแผนปฏิบัติการ โครงการมีกิจกรรมบางกิจกรรมมีความซ้ำซ้อน ทำให้งบประมาณในการดำเนินกิจกรรมไม่เพียงพอ ซึ่งมีผลต่อการจัดกิจกรรมได้ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ 4) ด้านอาคารสถานที่ ระบบไฟฟ้าบางห้องเรียนพบว่ายังไม่มีความปลอดภัยสำหรับนักเรียน ,ถังขับเพลิงมีไม่ครบตามจำนวนอาคารเรียนและเครื่องเล่นของนักเรียนในระดับปฐมวัยบางชิ้นยังไม่แข็งแรง อาจจะก่อให้เกิดอันตรายกับนักเรียนได้ 5) ขาดการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชนในด้านความปลอดภัยของนักเรียน และผู้ปกครองไม่ตระหนักและเห็นความสำคัญของความปลอดภัยของนักเรียน 6) ด้านปัญหาเศรษฐกิจ ผู้ปกครองต้องหาเช้ากินค่ำ ทำให้นักเรียนต้องอยู่ลำพังที่บ้านโดยไม่มีดูแล
1.2 แนวทางในการจัดการด้านความปลอดภัยในโรงเรียนวัดเมืองสาตร จำแนกออกเป็น 6 ด้าน ดังนี้ 1) ด้านบริหารจัดการ ควรจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ 2) ด้านการพัฒนาบุคลากร ส่งเสริมให้ครูและบุคลากรได้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ซึ่งอาจจะเชิญวิทยากรภายนอกเข้ามาให้ความรู้ให้กับคณะครูและนักเรียนในโรงเรียน 3) ควรมีการบูรณาการโครงการพิเศษต่าง ๆในแผนปฏิบัติการที่มีกิจกรรมใกล้เคียงกันเข้าด้วยกัน 4) ควรแต่งตั้งให้คณะครูและบุคลากร ตรวจสอบระบบไฟฟ้าและเครื่องเล่นของนักเรียนในระดับปฐมวัยอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และจัดสรรงบประมาณจัดซื้อวัสดุที่จำเป็นเพื่อความปลอดภัยของนักเรียน 5) ทางโรงเรียนอาจจะทำโต๊ะปันสุขให้นักเรียน จากอาหารกลางวันที่เหลือรับประทานในช่วงกลางวัน แล้วแบ่งไปกินที่บ้านในช่วงเย็น ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองได้ในระดับหนึ่ง
2. รูปแบบการจัดการด้านความปลอดภัยในโรงเรียนวัดเมืองสาตร อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ผู้รายงานได้ใช้ทฤษฎีเชิงระบบในสร้างรูปแบบ โดยมีองค์ประกอบทั้งหมด 3 องค์ประกอบดังนี้ องค์ประกอบที่ 1 ปัจจัยนำเข้า (Input) ประกอบด้วย นโยบายจากหน่วยงานต้นสังกัดและนโยบายของโรงเรียน องค์ประกอบที่ 2 กระบวนการ (Process) มีการใช้วงจรการบริหารคุณภาพ 4 ขั้นตอน 1) การวางแผน (Plan) 2) การลงมือปฏิบัติ (Do) 3) การตรวจสอบ (Check) และ 4) การปรับปรุง (Action) โดยใช้ “SAFE MODEL” ในการขับเคลื่อน S – Swot (การวิเคราะห์/การวางแผน) , A - Acknowledgement (การมอบหมายงาน) , F – Function (ทำตามหน้าที่) และ E – Evaluate (การประเมินผล) และพบว่า รูปแบบการจัดการด้านความปลอดภัยในโรงเรียนวัดเมืองสาตร อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ผู้รายงานพัฒนาขึ้นมีความเหมาะสม มีความเป็นไปได้และความเป็นประโยชน์ในระดับมากที่สุด
3. ผลการใช้รูปแบบการจัดการด้านความปลอดภัยในโรงเรียนวัดเมืองสาตร อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
3.1 ความพึงพอใจของครู ตัวแทนคณะกรรมการสถานศึกษาและตัวแทนของผู้ปกครองที่มีต่อรูปแบบการจัดการด้านความปลอดภัยในโรงเรียนวัดเมืองสาตร อยู่ในระดับคุณภาพมากที่สุด
3.2 ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการดำเนินการด้านความปลอดภัยในโรงเรียนวัดเมืองสาตร อยู่ในระดับคุณภาพมากที่สุด