ประเมินโครงการส่งเสริมการนิเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งของการนิเทศฯ
(Executive summary in research report)
คำชี้แจง
บทสรุปสำหรับผู้บริหารในรายงานการประเมินโครงการนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้ผลงานที่เป็นผู้บริหารซึ่งไม่มีเวลามากพอในการอ่านรายงานผลการประเมินทั้งฉบับหรือไม่เคยชินกับคำศัพท์ทางการวิจัยและการประเมิน แต่สะดวกในการเลือกอ่านเฉพาะบทสรุปและสามารถเข้าใจถึงความสำคัญของ ข้อค้นพบจากการประเมินพร้อมที่จะตัดสินใจตามข้อเสนอแนะ หรือใช้เป็นคู่มือในการนำผลการประเมินไปสู่การนำไปใช้ได้จริง เป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในการตัดสินใจ
กลุ่มเป้าหมาย
สำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้บทสรุปสำหรับผู้บริหารในรายงานการประเมิน ได้แก่
1. ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา
2. ศึกษานิเทศก์
3. ผู้บริหารสถานศึกษา
4. หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้
5. ครูผู้สอน
ขอบข่ายเนื้อหา
1. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
2. วัตถุประสงค์ของการวิจัย
3. ระเบียบวิธีวิจัย (โดยย่อ)
4. ผลการวิจัย
5. ข้อเสนอแนะ
แนวทางการใช้บทสรุปสำหรับผู้บริหารในรายงานการวิจัย
1. ให้ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ศึกษานิเทศก์ประจำเขตพื้นที่ ผู้บริหารสถานศึกษา หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ ครูผู้สอนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ศึกษาบทสรุปสำหรับผู้บริหารในรายงานการวิจัยนี้อย่างละเอียดให้เข้าใจ เพื่อให้สามารถนำขั้นตอนการประเมินโครงการส่งเสริมการนิเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งของการนิเทศภายในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราชไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาและสถานศึกษา
2. ในระหว่างการดำเนินการโครงการส่งเสริมการนิเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งของการนิเทศภายในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายควรอำนวยความสะดวกในการดำเนินโครงการ สังเกต แก้ไขปัญหา เกิดความตระหนัก
3. หลังจากนำการประเมินโครงการส่งเสริมการนิเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งของการนิเทศภายในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ไปประยุกต์ใช้แล้ว ให้ผู้เกี่ยวข้องประเมินผลด้วยการสังเกต การมีส่วนร่วม ในการนิเทศภายในสถานศึกษา เพื่อเป็นการนำผลการประเมินไปปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม เกิดประสิทธิภาพต่อไป
บทสรุปสำหรับผู้บริหารในรายงานการวิจัย
(Executive Summary in Research Report)
ชื่อเรื่อง : การประเมินโครงการส่งเสริมการนิเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งของการนิเทศภายใน
สถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช
ผู้วิจัย : นางภัคนันท์ สุวรรณรัตน์
ปีที่วิจัย : 2564
1. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
สภาวการณ์โลกกำลังเคลื่อนจากยุคข้อมูลข่าวสาร ผ่านยุคสารสนเทศ เข้าสู่ยุคสังคมใหม่ (New normal) ในคลื่นของดิจิทัล คลื่นดังกล่าวได้พัดพามนุษย์จากยุคหนึ่งไปสู่ยุคหนึ่ง ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่จะอยู่ในโลกนี้ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โลกในยุคดิจิทัล พลโลกที่มีวิธีปฏิบัติเรียนรู้วัฒนธรรม และค่านิยมร่วมกันมากขึ้น โลกกำลังจะกลายเป็นแบนราบ ด้วยความเจริญทางเทคโนโลยีและการสื่อสาร มีการแข่งขันมากขึ้น ดัชนีชี้วัดการอยู่รอดขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถและคุณภาพ เรียกว่า โลกที่ใช้ความรู้นวัตกรรมเป็นฐาน หรือการก้าวเข้าสู่สังคม เศรษฐกิจฐานความรู้แห่งนวัตกรรม ซึ่งการศึกษานับเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาคนให้เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ พร้อมรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกได้อย่างเท่าทัน เพราะฉะนั้นการศึกษาจึงถูกให้ความสำคัญในฐานะเครื่องมือหลักที่รัฐและองค์การทางสังคมจะใช้ในการพัฒนาคนและมนุษย์
การนิเทศการศึกษาเป็นกระบวนการที่เกิดจากความร่วมมือของศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู บุคลากรทางการศึกษา โดยการแนะนำให้คำปรึกษาหารือช่วยเหลือและเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้ที่ได้รับการนิเทศได้พัฒนาความรู้ความสามารถด้วยตนเองให้สามารถปฏิบัติ ภารกิจทางด้านการนิเทศภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนส่งเสริมให้บุคลากรที่ได้รับการนิเทศ มีความรู้ที่ทันสมัยสามารถนำไปบูรณาการใช้เพื่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ นอกจากนี้การนิเทศการศึกษายังเป็นกระบวนการสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ช่วยปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการจัดประสบการณ์การเรียนรู้และประสิทธิภาพการบริหาร การจัดการ เพื่อนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของผู้เรียน แต่ทั้งนี้การนิเทศการศึกษา ไม่สามารถที่จะทำได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากจำนวนศึกษานิเทศก์มีน้อยไม่เพียงพอเมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการของครูผู้สอนในสถานศึกษา ตลอดจนความรู้ของศึกษานิเทศก์ก็ไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกสาขาวิชา ขาดแคลนเครื่องมือ การนิเทศติดตามงานที่ครอบคลุมทุกกิจกรรม ศึกษานิเทศก์ซึ่งอยู่ภายนอกสถานศึกษาไม่สามารถรับรู้สภาพปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ต้องร่วมมือกับสถานศึกษา ครูผู้สอน ร่วมมือกันส่งเสริม ช่วยเหลือ สนับสนุนการนิเทศภายในสถานศึกษา เพื่อเพื่อสร้างความเข้มแข็งของการนิเทศภายในสถานศึกษา ให้เกิดประสิทธิภาพ และส่งผลก่อให้เกิดการพัฒนาผู้เรียนต่อไป
ดังนั้น ผู้วิจัยในฐานะที่เป็นศึกษานิเทศก์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช เป็นผู้รับผิดชอบงานนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการนิเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งของการนิเทศภายในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช จึงได้ทำการประเมินโครงการดังกล่าว เพื่อให้ทราบว่าการดำเนินการโครงการส่งเสริมการนิเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งของการนิเทศภายในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช ประสบความสำเร็จหรือไม่เพียงใดมีปัญหาและอุปสรรคอย่างไร มีปัจจัยต่างๆ เพียงพอกับการดำเนินการหรือไม่ ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการประเมินโครงการ ซึ่งจะประเมินทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPPIEST
2. วัตถุประสงค์การวิจัย
1. เพื่อประเมินโครงการส่งเสริมการนิเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งของการนิเทศภายในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช
2. เพื่อศึกษาแนวทางการส่งเสริมการนิเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งของการนิเทศภายในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช
3. ระเบียบวิธีวิจัย (โดยย่อ)
การประเมินโครงการครั้งนี้ เป็นการประยุกต์การวิจัยแบบผสม โดยเก็บข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพจากกลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่ม คือ ผู้บริหารโครงการอันได้แก่ ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช ผู้ดำเนินโครงการ ได้แก่ ศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช และผู้เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษาและครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช
รูปแบบการประเมิน ผู้วิจัยประยุกต์ใช้รูปแบบ CIPPIEST Model โดยมุ่งประเมิน 8 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) การประเมินบริบท (Context) 2) การประเมินปัจจัยนำเข้า (Input) 3) การประเมินกระบวนการ (Process) 4) การประเมินผลผลิต (Product) 5) การประเมินผลกระทบ (Impact)
6) การประเมินประสิทธิผล (Effectiveness) 7) การประเมินความยั่งยืน (Sustainability) และ 8) การประเมินการถ่ายโยงความรู้ (Transportability)
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมมี 2 ประเภท ได้แก่ 1) แบบสอบถาม มีจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 สำหรับผู้บริหารและผู้ดำเนินโครงการ แบ่งเป็น 2 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 เป็นข้อคำถามเกี่ยวกับสภาพทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม มีลักษณะเป็นแบบตรวจสอบรายการ (Check List) ตอนที่ 2 เป็นข้อคำถามเกี่ยวกับการประเมินบริบท การประเมินปัจจัยนำเข้า การประเมินกระบวนการ การประเมินผลผลิต การประเมินผลกระทบ การประเมินประสิทธิผล การประเมินความยั่งยืน และการประเมินการถ่ายโยงความรู้ของโครงการ ฉบับที่ 2 แบบสอบถามสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ แบ่งเป็น 2 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 เป็นข้อคำถามเกี่ยวกับสภาพทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม มีลักษณะเป็นแบบตรวจสอบรายการ (Check List) ตอนที่ 2 เป็นข้อคำถามเกี่ยวกับการประเมินบริบท การประเมินปัจจัยนำเข้า การประเมินกระบวนการ การประเมินผลผลิต การประเมินผลกระทบ การประเมินประสิทธิผล การประเมินความยั่งยืน และการประเมินการถ่ายโยงความรู้ของโครงการ การวิเคราะห์ข้อมูลแบบสอบถาม โดยใช้ค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ข้อมูลแบบสัมภาษณ์ ใช้การวิเคราะห์เนื้อหา
4. ผลการวิจัย
ผลการวิจัยพบว่า 1) ผลการประเมินโครงการส่งเสริมการนิเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งของการนิเทศภายในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช ผ่านเกณฑ์ทุกด้าน โดยกลุ่มผู้บริหารโครงการและผู้ดำเนินโครงการ ประเมินโครงการผ่านเกณฑ์ทุกด้าน ในภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากและพบว่า ด้านผลกระทบ ด้านประสิทธิผล ด้านการถ่ายโยงความรู้ ด้านกระบวนการ และความยั่งยืนอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการ ประเมินโครงการผ่านเกณฑ์ทุกด้าน ในภาพรวมและรายข้ออยู่ในระดับมาก 2) แนวทางการส่งเสริมการนิเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งของการนิเทศภายในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช
กล่าวโดยสรุป คือ 1) ผู้บริหารประชุมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ครูและบุคลากรในโรงเรียนด้วยวิธีการ ที่หลากหลาย ได้แก่ การประชุมสัมมนา/Google Classroom ประชาสัมพันธ์ผ่านแผ่นประชาสัมพันธ์, Info Graphic หรือ Link / QRCode 2) จัดทำข้อมูลสารสนเทศตามประเด็นการนิเทศ เพื่อสนับสนุนการนิเทศภายใน ประกอบไปด้วย การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) การพัฒนาหลักสูตร การจัดการการเรียนการสอนส่งเสริมทักษะอาชีพและการมีงานทำ การจัดกิจกรรมโรงเรียนคุณธรรม การจัดการเรียนรู้โดยใช้สื่อเทคโนโลยีทั้งในรูปแบบ On-Line และ On-Site การประกันคุณภาพการศึกษา 3) วิเคราะห์ข้อมูล และกำหนดยุทธศาสตร์/รูปแบบ และวิธีการนิเทศภายในตามบริบทของโรงเรียน 4) จัดทำแผนการนิเทศภายในโรงเรียน 5) การแต่งตั้งคณะกรรมการนิเทศภายในสถานศึกษาและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้สามารถดำเนินการนิเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ 6) การวิเคราะห์สังเคราะห์ประเมิน สรุปผลและรายงานผลการนิเทศภายในของสถานศึกษาในแต่ละปีการศึกษา โดยส่งไปที่กลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช
5. ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะจากผลการประเมิน
1.1 ผลการประเมินที่ค้นพบในการประเมินโครงการส่งเสริมการนิเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งของการนิเทศภายในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช ผู้บริหารสถานศึกษา และครู ควรให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมการนิเทศภายในสถานศึกษา มีการประเมินและการเก็บข้อมูลอย่างถูกต้องตามระบบ เพื่อค้นหาวิธีการและคำตอบในการพัฒนานักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
1.2 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาควรร่วมมือกันจัดทำโครงการนิเทศภายในโรงเรียนอย่างรอบด้าน ควรมีการวางแผน จัดทำโครงการอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง และประสานงานกับบุคลากรในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการนิเทศภายในอีกด้วย
1.3 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาควรจัดให้มีการประชุมครูผู้สอนก่อน และหลังดำเนินโครงการอย่างสม่ำเสมอ จัดทำแผนงานและโครงการนิเทศภายในไว้อย่างชัดเจน ศึกษาสภาพปัจจุบันปัญหา และความต้องการเพื่อนำข้อมูลมาจัดทำแผนและโครงการนิเทศภายใน มอบหมาย
ให้บุคลากรมีส่วนร่วมรับผิดชอบกิจกรรมต่างๆ อย่างเหมาะสม มีการยกย่องชมเชยผู้รับผิดชอบโครงการอย่างสม่ำเสมอ
2. ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยต่อไป
2.1 ควรมีการประเมินการดำเนินงานในการส่งเสริม พัฒนาการนิเทศภายในโรงเรียนในลักษณะนี้เป็นระยะๆ อย่างน้อยปีการศึกษาละ 1 ครั้ง
2.2 ควรศึกษาปัญหาที่มีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการส่งเสริมนิเทศภายในสถานศึกษาเพื่อทำให้ทราบถึงปัจจัยที่ทำให้กระบวนการนิเทศภายในไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรและการพัฒนาการนิเทศภายในให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
2.3 ควรทำการประเมินในรูปแบบการวิจัยในลักษณะเดียวกันนี้ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอื่นต่อไป
2.4 ควรทำวิจัยที่เกี่ยวกับมาตรฐานและคุณภาพของโครงการส่งเสริมการนิเทศภายในสถานศึกษา ให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของโรงเรียนยุค New Normal