รายงานผลการประเมินโครงการพัฒนาทักษะชีวิตโดยใช้กระบวนการลูกเสือ
เรื่อง : รายงานผลการประเมินโครงการพัฒนาทักษะชีวิตโดยใช้กระบวนการลูกเสือ
โรงเรียนบ้านฮ่องแฮ่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3
หน่วยงาน : โรงเรียนบ้านฮ่องแฮ่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3
ผู้รายงาน : นายชาญชัย ชุ่มเมืองเย็น
ปีที่พิมพ์ : 2565
……………………………………………………………………………………………………….
รายงานผลการประเมินโครงการพัฒนาทักษะชีวิตโดยใช้กระบวนการลูกเสือ โรงเรียน บ้านฮ่องแฮ่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 ใช้รูปแบบ CIPPIEST Model มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินบริบท (Context Evaluation) ประเมินปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ประเมินกระบวนการ (Process Evaluation) และประเมินผลผลิต (Product Evaluation) ซึ่งผลผลิตประกอบด้วยส่วนขยายดังนี้ ประเมินผลกระทบ (Impact Evaluation) ประเมินประสิทธิผล (Effectiveness Evaluation) ประเมินความยั่งยืน (Sustainability Evaluation) และประเมิน การถ่ายทอดส่งต่อ (Transportability Evaluation) โดยดำเนินโครงการในปีการศึกษา 2564 เก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มประชากร จำนวน 132 คน ประกอบด้วย ครู จำนวน 7 คน บุคลากรทางการศึกษา จำนวน 2 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน นักเรียน จำนวน 58 คน และผู้ปกครอง จำนวน 58 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม จำนวน 13 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สามารถสรุปผลการประเมินดังนี้
สรุปผลการประเมิน
ผลการประเมินโครงการพัฒนาทักษะชีวิตโดยใช้กระบวนการลูกเสือ โรงเรียนบ้านฮ่องแฮ่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 ใช้รูปแบบ CIPPIEST Model สรุปผลดังนี้
1. ผลการประเมินบริบท (Context Evaluation) ตามความคิดเห็นของครู บุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับได้ผลดีมาก โดยค่าเฉลี่ยสูงสุดสองอันดับแรก ได้แก่ วัตถุประสงค์โครงการมีความชัดเจนในการพัฒนาทักษะชีวิตนักเรียน โดยใช้กระบวนการลูกเสือ และมีการศึกษาสภาพปัญหาที่เกิดกับผู้เรียนก่อนดำเนินงานโครงการ ตามลำดับ
2. ผลการประเมินปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ตามความคิดเห็นของครู บุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับได้ผลดีมากที่สุด โดยค่าเฉลี่ยสูงสุดสองอันดับแรก ได้แก่ สื่อ เอกสาร ที่ใช้ในการพัฒนาทักษะชีวิตนักเรียน ตรงตามเนื้อหาของหลักสูตร และจำนวนครูร่วมพัฒนาโครงการมีความเหมาะสม ตามลำดับ
3. ผลการประเมินกระบวนการ (Process Evaluation) ตามความคิดเห็นของครู และบุคลากรทางการศึกษา พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับได้ผลดีมากที่สุด เรียงลำดับค่าเฉลี่ย แต่ละกระบวนการจากมากไปหาน้อย และรายละเอียดรายการค่าเฉลี่ยสูงสุดในแต่ละกระบวนการ ดังนี้ ลำดับแรกคือ กระบวนการพัฒนาด้านสติปัญญา ค่านิยม และเจตคติ ค่าเฉลี่ยสูงสุด ในกระบวนการนี้ ได้แก่ มีการพัฒนาด้านสติปัญญา ค่านิยม และเจตคติที่ช่วยให้นักเรียน มีเจตคติที่ดีต่อวิชาลูกเสือ ลำดับที่สองคือ กระบวนการพัฒนาด้านร่างกายและสิ่งแวดล้อม ค่าเฉลี่ย สูงสุด ในกระบวนการนี้ ได้แก่ มีการดำเนินการพัฒนาด้านร่างกายและสิ่งแวดล้อม ที่ช่วยให้นักเรียนมีทักษะในการดูแลสุขภาพตนเองและสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ ถัดมาคือ กระบวนการพัฒนาด้านจิตใจ ศีลธรรม และสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ค่าเฉลี่ยสูงสุดในกระบวนการนี้ ได้แก่ มีการใช้สื่อ อุปกรณ์ แต่ละกิจกรรมเหมาะสมกับเนื้อหาการพัฒนาด้านจิตใจศีลธรรม และสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ลำดับสุดท้าย คือ กระบวนการพัฒนาด้านสัมพันธภาพกับชุมชนและสังคม ค่าเฉลี่ยสูงสุดในกระบวนการนี้คือ มีการพัฒนาด้านสัมพันธภาพกับชุมชนและสังคม ที่ให้นักเรียนมีความรับผิดชอบต่อตนเอง และสังคม
4. ผลการประเมินผลผลิต (Product Evaluation) นำเสนอตามส่วนขยายของผลผลิตดังนี้
4.1 ผลการประเมินผลกระทบ (Impact Evaluation) ที่เกิดเกินเป้าหมายของโครงการ ตามความคิดเห็นของครู บุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครอง พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับได้ผลดีมากที่สุด ซึ่งค่าเฉลี่ยสูงสุดสองอันดับแรกตามความคิดเห็นของครู บุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก่ นักเรียนมีความภาคภูมิใจและมีความสุขจากการเรียนรู้ในโรงเรียน ส่วนนักเรียน และผู้ปกครอง มีความเห็นว่า นักเรียนไม่กระทำตนให้เป็นปัญหาของสังคม และอันดับที่สองทั้งครู บุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และ ผู้ปกครอง มีความเห็นสอดคล้องกันคือ นักเรียนสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างมีความสุข ส่วนด้านผลงานและรางวัลที่เกิดจากการบริหารโครงการ พบว่า โรงเรียนบ้านฮ่องแฮ่ ได้รับคัดเลือกเป็นโรงเรียนต้นแบบลูกเสือ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนายชาญชัย ชุ่มเมืองเย็น ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านฮ่องแฮ่ ได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือยั่งยืน
4.2 ผลการประเมินประสิทธิผล (Effectiveness Evaluation) ตามความคิดเห็นของครู และบุคลากรทางการศึกษา พบว่า โดยรวมนักเรียนมีความสามารถในการใช้ทักษะชีวิตอยู่ในระดับ ดีเยี่ยม เรียงลำดับค่าเฉลี่ยองค์ประกอบทักษะชีวิตจากมากไปหาน้อย และรายละเอียดพฤติกรรมทักษะชีวิตที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดแต่ละองค์ประกอบ ดังนี้ อันดับแรกคือ องค์ประกอบที่ 4 การสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น พฤติกรรมทักษะชีวิตสูงสุด ได้แก่ ให้ความร่วมมือและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสร้างสรรค์ อันดับที่สองคือ องค์ประกอบที่ 1 การตระหนักรู้และเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น พฤติกรรมทักษะชีวิตสูงสุด ได้แก่ เคารพสิทธิของตนเองและผู้อื่น ลำดับถัดมามีค่าเฉลี่ยเท่ากันคือ องค์ประกอบที่ 2 การคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ และแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ พฤติกรรมทักษะชีวิตสูงสุด ได้แก่ วิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสารได้อย่างเหมาะสม และองค์ประกอบที่ 3 การจัดการกับอารมณ์และความเครียด พฤติกรรมทักษะชีวิตสูงสุด ได้แก่ มีวิธีผ่อนคลายอารมณ์และความเครียด
4.3 ผลการประเมินความยั่งยืน (Sustainability Evaluation) ตามความคิดเห็นของครู บุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครอง พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับได้ผลดีมากที่สุด ซึ่งค่าเฉลี่ยสูงสุดสองอันดับแรกที่ทั้งครู บุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครอง มีความเห็นสอดคล้องกัน ได้แก่ การดำเนินโครงการเกิดประโยชน์เหมาะสมแก่การพัฒนาต่อยอดให้เกิดความยั่งยืน อันดับที่สองตามความคิดเห็นของครู บุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า มีแผนงานการพัฒนาโครงการต่อไปในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนนักเรียนและผู้ปกครองเห็นว่า มีการพัฒนาต่อยอดกิจกรรมลูกเสือที่เน้นการพัฒนาทักษะชีวิต ที่สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนและชุมชน
4.4 ผลการประเมินด้านการถ่ายทอดส่งต่อ (Transportability Evaluation) ตาม ความคิดเห็นของครู บุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครอง พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับได้ผลดีมากที่สุด ซึ่งค่าเฉลี่ยสูงสุดสองอันดับแรกดังนี้ ค่าเฉลี่ยสูงสุดอันดับแรกตามความเห็นของครู บุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการสถานศึกษา ขั้นพื้นฐาน ได้แก่ มีการขยายผลให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนากิจการลูกเสือให้แก่โรงเรียนในกลุ่มเครือข่าย และในเขตพื้นที่การศึกษา ส่วนนักเรียนและผู้ปกครอง เห็นว่า มีการนำเสนอผลงาน รางวัล ที่เกิดจากการบริหารโครงการ ให้ผู้ปกครอง ชุมชน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ลำดับที่สอง ตามตามความเห็นของครู บุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก่ มีการนำเสนอผลงาน รางวัลที่เกิดจากการบริหารโครงการให้ผู้ปกครอง ชุมชน และหน่วยงานอื่น ที่เกี่ยวข้อง ส่วนนักเรียนและผู้ปกครอง เห็นว่า มีการเผยแพร่ผลงานที่เกิดจากการบริหารโครงการ แก่สาธารณชนอย่างหลากหลาย