การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคนิคซินเนคติกส์ในการพัฒนาผลงานสร้างส
การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคนิคซินเนคติกส์ในการพัฒนาผลงานสร้างสรรค์
นางสาวศิรินันท์ สุรสันติวรการ
บทนำ
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2545 มุ่งเน้นให้ผู้เรียนรู้จักพึ่งตนเอง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ใฝ่รู้และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 24 ระบุให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในการฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา และมีจุดมุ่งหมายให้ผู้เรียนเกิดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านการคิด คือ มีความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้การจัดการศึกษายังมีเป้าหมายให้ผู้เรียนเป็นคนดี คนเก่งและมีความสุข จะเห็นได้ว่าการศึกษาไทยให้ความสำคัญและมีจุดเน้นในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยาก เพราะทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์อยู่ในตนเอง เพียงแต่เปิดโอกาสให้ได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ มีนักจิตวิทยาหลายท่านได้พยายามคิดค้นหาวิธี หรือเทคนิคในการส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และเทคนิคซินเนคติกส์ เป็นเทคนิคที่ Gordon (1961) ได้พัฒนาขึ้นมาจากทฤษฎีซินเนคติกส์ ซึ่งเทคนิคซินเนคติกส์ มุ่งเน้นการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้เรียน เป็นการนำเอาการเปรียบเทียบมาให้ผู้เรียนได้พิจารณาและเปรียบเทียบอย่างละเอียดและเป็นระบบ เมื่อการเปรียบเทียบมาถึงจุดหนึ่ง ผู้เรียนจะสามารถนำเสนองานในมิติที่แตกต่างไปจากกรอบแนวคิดเดิมๆได้อย่างเกิดผล โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การฝึกฝนให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา หรือการคิดค้นสิ่งใหม่ขึ้นมาโดยใช้การเปรียบเทียบมาเป็นเครื่องมือในการคิดสร้างสรรค์ซึ่งประกอบด้วยการเปรียบเทียบทางตรง (direct analogy) การเปรียบเทียบบุคคลกับสิ่งอื่น (personal analogy) และการเปรียบเทียบโดยใช้คำคู่ที่มีความหมายขัดแย้งกัน (compressed conflict) เพื่อทำให้ผู้เรียนมีโอกาสในการพิจาณางานในมุมมองที่แปลกออกไปและชัดเจนยิ่งขึ้น และจากการศึกษางานวิจัย ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคนิคซินเนคติกส์ที่มีต่อความคิดสร้างสรรค์ (จริญญา จักรกาย, 2539; Meador, 1994) พบว่า นักเรียนที่ได้รับการฝึกแบบซินเนคติกส์ มีความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05นอกจากนี้ได้ศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคนิคซินเนคติกส์ที่มีต่อการเขียนและการวาดภาพเชิงสร้างสรรค์ (กฤษณา ศิลปนรเศรษฐ์, 2553 ; ชัยวาฤทธิ์ สร้อยเงิน 2553, อุษา ขุนทอง, 2551 ; ประยงค์ เลพล, 2546) พบว่า นักเรียนที่ได้รับการฝึกแบบซินเนคติกส์ มีการเขียนและการวาดภาพเชิงสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05
ในการใช้เทคนิคซินเนคติกส์ เป็นการใช้การเปรียบเทียบในลักษณะคำพูดที่เป็นนามธรรม ซึ่งจากทฤษฎีพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญา Piaget (1971) กล่าวว่า ในขั้น Formal Operations เด็กที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป พัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาและความคิดเห็นของเด็กวัยนี้เป็นผู้ที่คิดเหนือไปกว่าสิ่งปัจจุบัน สนใจที่จะสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่าง และมีความพอใจที่จะคิดพิจารณาเกี่ยวกับกับสิ่งที่ไม่มีตัวตน หรือสิ่งที่เป็นนามธรรม ซึ่งการใช้เทคนิคซินเนคติกส์ครูจะมีบทบาทเป็นเพียงผู้ริเริ่ม คอยดำเนินการตามขั้นตอน คอยกระตุ้นให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นของตนเองให้มากที่สุด และต้องเปิดกว้างต่อแนวความคิดของผู้เรียน ยอมรับแนวคิดของผู้เรียนที่แสดงออกมา ดังนั้นผู้เรียนจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการเรียนรู้ คือ มีอิสระในการคิด การที่ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นมากเท่าใด การมองเห็นสิ่งใหม่ๆ ก็ย่อมมีมากขึ้น ทำให้ลักษณะการเรียนรู้เต็มไปด้วยความสนุกสนานไม่น่าเบื่อ ซึ่งเนื้อหาวิชาที่สามารถนำเทคนิคซินเนคติกส์ไปใช้ได้ค่อนข้างสะดวก เหมาะสม คือ เนื้อหาวิชา หรือหัวข้อที่ต้องการให้ผู้เรียนคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆออกมาให้แตกต่างไปจากสภาพที่เป็นอยู่ เช่น เนื้อหาเกี่ยวกับการเขียนความเรียงแบบสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาต่างๆ และการสร้างงานประดิษฐ์ เป็นต้น
การสร้างงานประดิษฐ์เป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจากตัวอย่างมีผลงานจำนวนมากในอดีตที่เกิดจากการประดิษฐ์คิดค้น เช่น ผลงานของทอมัส อัลวา เอดิสัน ที่สามารถประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้านานาชนิด อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์มีความใฝ่ฝันที่จะส่งเสียงของมนุษย์ไปตามสายลวด เป็นการพัฒนาเครื่องมือขึ้นแทนโทรเลขซึ่งเป็นจุดกำเนิดเริ่มแรกที่ทำให้บุคคลทั่วโลกสามารถสื่อสารด้วยเสียงผ่านทางโทรศัพท์ถึงกันได้ในทุกวันนี้ หรือการประดิษฐ์คิดค้นในเรื่องการบินของสองพี่น้องตระxxxลไรท์ เป็นต้น ซึ่งอารี รังสินันท์ (2532) กล่าวว่า กิจกรรมการประดิษฐ์เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างดี ส่งเสริมให้เกิดการคิดจินตนาการ และสร้างจินตนาการออกเป็นผลงาน บุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์จะไม่เพียงคิดแล้วนิ่งเฉย แต่คิดแล้วพยายามหาหนทางให้ความคิดเกิดเป็นชิ้นงานขึ้นมา ซึ่งสอดคล้องกับ Perkins (1984) กล่าวว่า เกณฑ์การวัดความคิดสร้างสรรค์ที่แน่นอนที่สุดคือ ผลงานที่บุคคลสร้างขึ้นมา เราจะเรียกบุคคลนั้นว่ามีความคิดสร้างสรรค์ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นได้ผลิตผลงานที่สร้างสรรค์ออกมาอย่างสม่ำเสมอ การฝึกให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์จึงไม่ควรเน้นเรื่องกระบวนการคิดคล่องเพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้ผู้เรียนสามารถออกแบบหรือประดิษฐ์ผลงานออกมาได้ด้วย ซึ่งการสร้างงานประดิษฐ์เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ส่งเสริมและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์จากทฤษฎีไปสู่ภาคปฏิบัติ ส่งเสริมให้ผู้เรียนคิดเกิดจินตนาการ และดึงเอาจินตนาการมาสร้างสานต่อความฝันให้เป็นจริงด้วยการลงมือทำ ไม่เพียงแต่จะคิดแล้วปล่อยให้ผ่านเลยไป พยายามคิดวิเคราะห์หาหนทาง เพื่อให้จินตนาการนั้นเป็นสิ่งที่ธรรมดาในสายตาของผู้อื่น ให้กลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ได้อย่างที่อาจคาดไม่ถึง นอกจากนี้ยังพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านสติปัญญา หมายถึง ความคิด ความเข้าใจ ด้านจิตใจ อันได้แก่ ความรู้สึก เจตคติ ความพอใจที่จะทำงานที่ยากและซับซ้อน และประการสุดท้าย คือ ด้านปฏิบัติ คือ การนำความรู้ ความเข้าใจไปปฏิบัติหรือสร้างให้เกิดผลงาน ดังนั้นผู้สอนควรมุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านความรู้ ความคิด ความรู้สึก จิตใจ และเจตคติในการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้ที่มีความรู้ ความมั่นใจ รู้จักพัฒนาตนเอง และเป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิด กล้าลอง กล้าใช้จินตนาการของตนให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนพัฒนาให้ผู้เรียนคิดเป็น ทำเป็น หรือพัฒนาผลงานอย่างสร้างสรรค์
คำสำคัญ : การจัดการเรียนการสอน/ เทคนิคซินเนคติกส์ / ผลงานสร้างสรรค์
ทฤษฎีและแนวคิดพื้นฐานของการสอนโดยการใช้เทคนิคซินเนคติกส์กับความคิดสร้างสรรค์
ทฤษฎีซินเนคติกส์
ทฤษฎีซินเนคติกส์คิดขึ้นโดยศาสตราจารย์วิลเลียมเจ เจ กอร์ดอน Gordon (1961) กล่าวว่า Synectics เป็นคำในภาษากรีก หมายความว่า การรวมกันของสิ่งที่แตกต่างกันและมีลักษณะที่ไม่น่าจะเข้ากันได้ โดยการใช้การอุปมาเป็นพื้นฐานของการคิด และมีแนวความคิดสำคัญ คือ ความคิดสร้างสรรค์ที่ส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีนั้นขึ้นอยู่กับความหลากหลายของความชำนาญ ความรู้และประสบการณ์ที่น่าสนใจของแต่ละบุคคล ผลทางปฏิบัติของความคิดสร้างสรรค์ย่อมบังเกิดขึ้นบนพื้นฐานเดียวกันในทุกสาขาวิชาชีพ เกณฑ์ในการรวมกลุ่มของบุคคลนั้นเน้นลักษณะภูมิหลังทางอารมณ์เป็นสิ่งสำคัญกว่าทางสติปัญญา เพราะกลไกทางอารมณ์นั้นจะเกิดปฏิกิริยาโดยตรงได้รวดเร็วและง่ายเมื่อเผชิญต่อปัญหาทันทีทันใด วิธีการของกอร์ดอนเกิดขึ้นโดยการเปลี่ยนแปลงวิธีการระดมสมองบางส่วนแล้วเพิ่มกระบวนการสิ่งที่เรียกว่า “ความคิดสร้างสรรค์เชิงปฏิบัติการ” ขึ้นมา วิธีนี้แตกต่างจากวิธีการระดมสมองตรงที่ว่า จะไม่มีการชี้แจงปัญหาอย่างละเอียดก่อนล่วงหน้า ปัญหาจะให้ในแนวกว้างๆ ในลักษณะนามธรรม ต่อมาจึงทำปัญหาหรือคำถามให้แคบลงแล้วให้ผู้เรียนระดมหาทางแก้ปัญหา วิธีนี้เชื่อว่าการเริ่มแก้ปัญหาด้วยคำถามกว้างๆจะทำให้ได้คำตอบตามปกติคนจะนึกไม่ถึง ซึ่งนับเป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี
แนวคิดพื้นฐานของการสอนโดยการใช้เทคนิคซินเนคติกส์
เทคนิคซินเนคติกส์เป็นเทคนิคที่กอร์ดอนได้พัฒนาขึ้นมาจากทฤษฎีซินเนคติกส์ เทคนิคนี้อาจเรียกว่าเป็นเรื่องของการเปรียบเทียบหรืออุปมาอุปไมย (analogy) แต่มีลักษณะพิเศษตรงที่จะต้องเพิ่มกลไกทางจิตวิทยาในการวิเคราะห์ปัญหาเข้าไปก่อน ซึ่งกลไกในทางจิตวิทยาที่ใช้ในการวิเคราะห์ปัญหามีอยู่ 2 ขั้นตอน คือ การทำปัญหาที่แปลกให้คุ้นเคย กับการทำปัญหาที่คุ้นเคยให้แปลก (Gordon, 1961) การทำปัญหาที่แปลกให้คุ้นเคย คือ การทำความเข้าใจต่อปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ โดยการเทียบเคียงกับประสบการณ์เดิมในอดีตและการแยกแยะปัญหาออกเป็นส่วนประกอบย่อยเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นการทำปัญหาที่คุ้นเคยให้แปลก คือ การที่จะให้ได้คำตอบในเชิงสร้างสรรค์นั้นจำเป็นต้องมองปัญหาในแนวใหม่ คือ ทำปัญหาที่คุ้นเคยอยู่แล้วให้แปลกไปจากความเคยชินหรือสามัญสำนึก เช่นจิตรกรมองรูปคน สัตว์ ต้นไม้เป็นรูปลูกบาศก์ และสถาปนิกมองหลังคาอาคารที่ตนเองออกแบบเหมือนกลีบดอกชบาพลิกคว่ำ เป็นต้น การกลับมองปัญหาที่คุ้นเคยให้แปลก เป็นหลักการเบื้องต้นที่จะให้ได้ผลลัพธ์คำตอบเป็นความคิดเชิงสร้างสรรค์ การทำปัญหาที่แปลกให้คุ้นเคย กับการทำปัญหาที่คุ้นเคยให้แปลกเป็นกลไกทางจิตวิทยาโดยธรรมชาติซึ่งจะเห็นได้ว่าความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นในขั้นตอนที่สอง คือ การทำปัญหาที่คุ้นเคยให้แปลก ซึ่งขั้นตอนนี้จะสมบูรณ์จะต้องใช้หลักการเปรียบเทียบ หรืออุปมาอุปไมยเข้ามาช่วย
การสอนโดยการใช้เทคนิคซินเนคติกส์มีลักษณะที่สำคัญ คือ การนำเอาการเปรียบเทียบมาให้ผู้เรียนได้คิดพิจารณา เปรียบเทียบกันอย่างละเอียดและเป็นระบบที่ดี เมื่อการเปรียบเทียบมาถึงจุดหนึ่ง ผู้เรียนจะสามารถเสนอบทเรียนหรือผลงานของบทเรียนในมิติที่แตกต่างไปจากรอบแนวคิดเดิมได้อย่างเกิดผล
เป้าหมายหลักของการสอนโดยการใช้เทคนิคซินเนคติกส์ คือ การฝึกให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ในบทเรียนในการแก้ปัญหา หรือการคิดค้นสิ่งใหม่ขึ้นมาโดยใช้การเปรียบเทียบมาเป็นเครื่องมือในการคิดสร้างสรรค์
วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้โดยการใช้เทคนิคซินเนคติกส์
1. ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ว่าในการแก้ปัญหาใดๆนั้น สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยวิธีการที่ถูกต้องหลายวิธี
2. ต้องการให้ผู้เรียนฝึกการใช้ความคิดหลากหลายแง่มุม
3. ต้องการให้ผู้เรียนเรียนรู้ที่จะยอมรับแนวความคิดที่แตกต่างจากแนวคิดเดิมๆที่ตนเองเคยมีอยู่
รูปแบบการเรียนการสอนกระบวนการคิดสร้างสรรค์ “Synectics Instructional Model” เป็นรูปแบบที่พัฒนาความคิดสร้างสรรค์อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่ง Joyce และ Weil (1992) กล่าวว่า ซินเนคติกส์เป็นวิธีสอนพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ที่น่าสนใจวิธีหนึ่ง ซึ่งกอร์ดอนและผู้ช่วยของเขามีความเชื่อพื้นฐานเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ 4 ประการ คือ
1. ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นอยู่เสมอ และมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์
2. กระบวนการของความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่สิ่งลึกลับซับซ้อน แต่สามารถอธิบายและฝึกฝนคนให้มีระดับความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นได้
3. ความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดในศาสตร์สาขาวิชาการต่างๆ มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านศิลปะ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือวิศวกรรมศาสตร์ ศาสตร์เหล่านี้จำเป็นต้องใช้กระบวนการทางสติปัญญาเข้ามาเกี่ยวข้องในการคิดสร้างสรรค์ทั้งนั้น
4. การคิดสร้างสรรค์ของคนคนเดียวหรือกลุ่มคนมีลักษณะใกล้เคียงกันมากทั้งกระบวนการคิดและผลงานที่ได้
การสอนโดยการใช้เทคนิคซินเนคติกส์ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อ ดังนี้
1. การนำกระบวนการของความคิดสร้างสรรค์มาใช้อย่างรู้ตัวผนวกกับการให้เครื่องมือเพื่อใช้ในการคิดสร้างสรรค์ จะช่วยให้บุคคลหรือกลุ่มคนเกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นได้
2. องค์ประกอบด้านความรู้สึกสำคัญมากกว่าด้านสติปัญญา และการไม่มีเหตุผลสำคัญเท่ากับการใช้เหตุผล กล่าวคือ การไม่มีเหตุผลทำให้คนไม่ติดอยู่กับกรอบแนวคิดและทำใจให้เปิดกว้างยอมรับสิ่งต่างๆเป็นอย่างมาก ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องของการใช้อารมณ์มากกว่าการใช้สติปัญญา
3. ผู้เรียนต้องรู้จักใช้อารมณ์และความไม่มีเหตุผลของตน เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาโดยวิธีการแปลกใหม่ยิ่งขึ้น
ประเภทของการคิดด้วยเทคนิคซินเนคติกส์
การสอนโดยการใช้เทคนิคซินเนคติกส์ เป็นรูปแบบการเรียนการสอนกระบวนการคิดสร้างสรรค์จากแนวคิดของกอร์ดอน ที่กล่าวว่าบุคคลทั่วไป มักยึดติดกับวิธีคิดแก้ปัญหาแบบเดิมๆของตน โดยไม่ค่อยคำนึงถึงความคิดของคนอื่นทำให้การคิดของตนคับแคบและไม่สร้างสรรค์แตกต่างไปจากเดิม หากมีโอกาสได้ลองคิดแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่ไม่เคยคิดมาก่อน หรือคิดโดยสมมติตนเองเป็นคนอื่น และถ้ายิ่งให้บุคคลจากหลายกลุ่มประสบการณ์มาช่วยกันแก้ปัญหา ก็จะยิ่งได้วิธีการที่หลากหลายขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นกอร์ดอนจึงได้เสนอให้ผู้เรียนมีโอกาสคิดแก้ปัญหาด้วยแนวความคิดใหม่ๆที่ไม่เหมือนเดิม ไม่อยู่ในสภาพที่เป็นตนเอง ให้ลองใช้ความคิดในฐานะที่เป็นคนอื่นหรือเป็นสิ่งอื่น สภาพการณ์เช่นนี้จะกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความคิดใหม่ๆ ขึ้นได้
วิธีการใช้เทคนิคซินเนคติกส์อาศัยกิจกรรมการเปรียบเทียบอุปมาอุปไมยเป็นหลักในการจัดกิจกรรม 3 วิธี คือ (Joyce และ Weil, 1992)
1. การเปรียบเทียบทางตรง (Direct Analogy) เป็นการเปรียบเทียบแบบง่ายๆ ระหว่างสิ่ง 2 สิ่ง หรือมากกว่า สิ่งที่นำมาเปรียบเทียบอาจเป็นคน สัตว์ พืช หรือสิ่งของ โดยของที่นำมาเปรียบเทียบไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกประการ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนมองเห็นปัญหาในอีกแนวหนึ่ง หรือเกิดความคิดใหม่ที่อาจนำมาใช้แก้ปัญหาที่ต้องการได้ เช่น การเปรียบเทียบการเขียนจดหมายกับลักษณะการเคลื่อนที่ของตัวหนอน หรือการที่วิศวกรเฝ้าสังเกตดูหนอนเจาะท่อนไม้เป็นรูปคล้ายอุโมงค์ ทำให้วิศวกรเกิดความคิดสร้างท่ออุโมงค์ทำงานใต้น้ำขึ้นมา
2. การเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับสิ่งอื่น (Personal Analogy) เป็นการเปรียบเทียบโดยให้ผู้เรียนเข้าไปมีส่วนร่วม หรือเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งนั้นๆ ผู้เรียนต้องสมมติตนเองเป็นสิ่งที่ต้องการเปรียบเทียบและบรรยายความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อตนเป็นสิ่งนั้น สิ่งที่นำมาเปรียบเทียบอาจเป็นคน สัตว์ พืช หรือสิ่งของ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงเรื่องของความรู้สึก ลักษณะสภาพความเป็นจริง (fact) และอารมณ์ (emotion) ในสภาพของสิ่งที่มีชีวิต (a living thing) และสภาพของสิ่งที่ไม่มีชีวิต (a nonliving object) ซึ่งทำให้ผู้เรียนมองเห็นแนวทางในการคิดสร้างสรรค์จากฐานความคิดของตนเองและฐานความคิดจากสิ่งที่เปรียบเทียบ เช่น การสมมติให้ผู้เรียนเป็นเครื่องยนต์ในรถยนต์ เป็นโทรศัพท์ หรือสิ่งอื่นๆ เป็นต้น
3. การเปรียบเทียบโดยใช้คำคู่ที่มีความหมายขัดแย้งกัน (Compressed Conflict) เป็นการใช้คำเปรียบเทียบสองคำที่มีความหมายขัดแย้งกันหรือตรงข้ามกันมาอธิบายลักษณะของคน สัตว์ พืช หรือสิ่งของที่ต้องการ เช่น หน้าชื่นอกตรม ฉลาดในเรื่องโง่ๆ เป็นต้น
การสอนโดยการใช้เทคนิคซินเนคติกส์ อาศัยกิจกรรมการเปรียบเทียบ 3 วิธี ตัวอย่างคำถามที่กระตุ้นให้ผู้เรียนคิดเปรียบเทียบมีดังนี้
1. ตัวอย่างคำถามที่กระตุ้นการเปรียบเทียบทางตรง ได้แก่ ผลส้มเหมือนหรือต่างกับลูกฟุตบอล โรงเรียนเหมือนสลัดผักหรือผลไม้ในแง่ไหน
2. ตัวอย่างคำถามที่กระตุ้นการเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับสิ่งอื่น ได้แก่ ถ้าท่านเป็นก้อนเมฆขณะนี้ท่านอยู่ที่ไหนและกำลังทำอะไรอยู่ ท่านจะรู้สึกอย่างไรเมื่อถูกแสงอาทิตย์เผาจนแห้งผาก หรือสมมติว่าท่านเป็นหนังสือเล่มที่ท่านชอบที่สุดจงบรรยายความรู้สึกนั้น
3. ตัวอย่างคำถามที่กระตุ้นการเปรียบเทียบโดยใช้คำคู่ที่มีความหมายขัดแย้งกัน ได้แก่ บอกได้ไหมว่าเครื่องมือหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดใดที่ชอบยิ้มและทำบึ้งขณะเดียวกัน
ขั้นตอนของการฝึกคิดด้วยเทคนิคซินเนคติกส์
Joyce และ Weil (1992) กล่าวว่า การสอนโดยการใช้เทคนิคซินเนคติกส์ มี 2 วิธีด้วยกัน คือ แบบที่ 1 ใช้เพื่อสร้างผลงานที่แปลกใหม่ และแบบที่ 2 ใช้เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับสิ่งที่ยังไม่รู้จัก การจะใช้วิธีแบบที่ 1 หรือแบบที่ 2 ย่อมขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการสอน
การสอนโดยการใช้เทคนิคซินเนคติกส์แบบที่ 1 เพื่อสร้างผลงานที่แปลกใหม่มีขั้นตอนดังนี้
ขั้นที่ 1 บรรยายสถานการณ์ปัจจุบัน ขั้นนี้ผู้สอนให้ผู้เรียนบรรยายสถานการณ์หรือหัวข้อ ตามที่ผู้เรียนมองเห็น
ขั้นที่ 2 การเปรียบเทียบทางตรง ขั้นนี้ผู้เรียนเปรียบเทียบทางตรง แล้วเลือกอันที่ดีที่สุดมาอธิบายให้กว้างขวางขึ้น
ขั้นที่ 3 การเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับสิ่งอื่น ขั้นนี้ผู้เรียนเปรียบเทียบสิ่งที่เลือกในขั้นที่ 2กับตนเอง
ขั้นที่ 4 การเปรียบเทียบโดยใช้คำคู่ที่มีความหมายขัดแย้งกัน จากการบรรยายในขั้นที่ 2 และขั้นที่ 3 ผู้เรียนคิดหาคำคู่ที่มีความหมายค้านกันมาหลายๆคู่ แล้วเลือกคู่ที่ดีที่สุด
ขั้นที่ 5 การเปรียบเทียบทางตรง ขั้นนี้ผู้เรียนคิดหาการเปรียบเทียบทางตรงโดยใช้คำคู่ที่เลือกในขั้นที่ 4
ขั้นที่ 6 ตรวจสอบปัญหาเริ่มแรกอีกครั้ง ขั้นนี้ผู้สอนให้ผู้เรียนกลับมาสำรวจปัญหาเริ่มแรก แล้วใช้การเปรียบเทียบขั้นสุดท้าย โดยใช้ประสบการณ์ทั้งหมดที่ได้จากกระบวนการของซินเนคติกส์เข้าช่วย
การสอนโดยการใช้เทคนิคซินเนคติกส์แบบที่ 2 เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับสิ่งที่ยังไม่รู้จัก
วิธีสอนนี้มีจุดประสงค์เพื่อทำความคุ้นเคยกับสิ่งที่แปลกใหม่ เป็นการเพิ่มพูนความเข้าใจและสำรวจลึกในสิ่งของหรือสถานการณ์ที่ใหม่และซับซ้อน ซึ่งใช้การเปรียบเทียบช่วยในการวิเคราะห์ ไม่ใช่เพื่อเชื่อมโยงสิ่งต่างๆที่มีความต่างกันดังเช่นแบบที่ 1 ในแบบที่ 2 จะใช้สิ่งของหรือสถานการณ์ที่ใกล้ตัว เช่น บ้าน รถ ร่างกายคน เปรียบเทียบกับสถานการณ์ที่เป็นปัญหาแล้วให้วิเคราะห์ปัญหาโดยการศึกษาลักษณะสำคัญของสิ่งที่คุ้นเคยกับลักษณะของปัญหา (สิ่งที่ไม่คุ้นเคย) ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
ขั้นที่ 1 การให้ข้อมูล ผู้สอนให้ข้อมูลผู้เรียนเกี่ยวกับหัวข้อใหม่
ขั้นที่ 2 การเปรียบเทียบ ผู้สอนแนะการเปรียบเทียบทางตรงแล้วให้ผู้เรียนบรรยายถึงการเปรียบเทียบนั้น
ขั้นที่ 3 การเปรียบเทียบกับตนเอง ผู้สอนให้ผู้เรียนเปรียบเทียบหัวข้อใหม่กับตนเอง
ขั้นที่ 4 การบรรยายถึงความสัมพันธ์ในส่วนที่เป็นไปได้ ผู้เรียนอธิบายถึงการเปรียบเทียบในส่วนที่เหมือนกัน
ขั้นที่ 5 การบรรยายถึงความสัมพันธ์ในส่วนที่เป็นไปไม่ได้ ผู้เรียนอธิบายว่าการเปรียบเทียบใช้ไม่ได้ในส่วนใด
ขั้นที่ 6 การสำรวจ ผู้เรียนสำรวจหัวข้อใหม่ที่ต้องการศึกษาอีกครั้ง
ขั้นที่ 7 การเปรียบเทียบ ผู้เรียนเปรียบเทียบระหว่างหัวข้อใหม่กับสิ่งที่คิดขึ้นมาด้วยตนเอง และบรรยายถึงส่วนที่ของสองสิ่งคล้ายกันและส่วนที่การเปรียบเทียบใช้ไม่ได้หรือเป็นไปไม่ได้
อารี รังสินันท์ (2532) ได้กล่าวถึงขั้นตอนการฝึกการคิดเปรียบเทียบแบบซินเนคติกส์ดังนี้
ขั้นที่ 1 นำเข้าสู่แนวคิด เปรียบเทียบสิ่งที่กำหนดให้ว่าเหมือนอะไร เช่น
คำถาม : ที่เหลาดินสอเหมือนกับอะไร
คำตอบ : รถตัดหญ้า เครื่องบดปลาหมึก กว้านสมอเรือ
ขั้นที่ 2 เปรียบเทียบโดยตรง เปรียบเทียบได้ว่าเหมือนอย่างไร เช่น รถตัดหญ้าเหมือนที่เหลาดินสออย่างไร
ขั้นที่ 3 เปรียบเทียบกับความรู้สึกของตนเอง ใช้ความรูสึกของตนเอง เช่น ถ้าเป็นต้นหญ้าท่านจะรู้สึกอย่างไร
ขั้นที่ 4 เปรียบเทียบว่าเหมือนอย่างหนึ่ง แต่ไม่เหมือนกับอีกอย่างหนึ่ง เช่น หยดน้ำฝนเหมือนน้ำตา แต่ไม่เหมือนเมฆ เป็นต้น
ทิศนา แขมมณี (2547) ได้กล่าวถึงขั้นตอนการใช้เทคนิคซินเนคติกส์ดังนี้
ขั้นที่ 1 ขั้นนำ เป็นขั้นที่ผู้สอนให้ผู้เรียนทำงานต่างๆที่ต้องการให้ผู้เรียนทำ เช่น ให้เขียนบรรยาย เล่า ทำ แสดง วาดภาพ สร้าง ปั้น เป็นต้น ผู้เรียนทำงานนั้นๆตามปกติที่เคยทำเสร็จแล้วให้เก็บผลงานไว้ก่อน
ขั้นที่ 2 ขั้นการสร้างอุปมาแบบตรง (Direct Analogy) เป็นขั้นที่ผู้สอนเสนอคำคู่ให้ผู้เรียนเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่าง เช่น ลูกบอลกับมะนาว เหมือนหรือต่างกันอย่างไร คำคู่ที่ผู้สอนเลือกมาควรให้มีลักษณะที่สัมพันธ์กับเนื้อหา หรืองานที่ผู้เรียนทำในขั้นที่ 1 ผู้สอนเสนอคำคู่ให้ผู้เรียนเปรียบเทียบหลายๆคู่ และจดคำตอบของผู้เรียนไว้บนกระดาน
ขั้นที่ 3 ขั้นการสร้างอุปมาบุคคล หรือเปรียบเทียบบุคคลกับสิ่งของ (Personal Analogy) เป็นขั้นที่ผู้เรียนสมมติตนเองเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และให้ผู้เรียนแสดงความรู้สึกออกมา เช่น ถ้าเปรียบเทียบผู้เรียนเป็นเครื่องซักผ้าจะรู้สึกอย่างไร ผู้สอนจดคำตอบของผู้เรียนไว้บนกระดาน
ขั้นที่ 4 ขั้นอุปมาคำคู่ขัดแย้ง (Compressed Conflict) เป็นขั้นที่ผู้เรียนนำคำที่ได้จากการเปรียบเทียบในขั้นที่ 2 และ 3 มาประกอบเป็นคำใหม่ที่มีความหมายขัดแย้งกันในตัวเอง เช่น ไฟเย็น น้ำผึ้งขม เป็นต้น
ขั้นที่ 5 ขั้นอธิบายความหมายของคำคู่ขัดแย้ง เป็นขั้นที่ผู้เรียนอธิบายความหมายของคำคู่ขัดแย้งที่ได้
ขั้นที่ 6 ขั้นการนำความคิดใหม่มาสร้างสรรค์ เป็นขั้นที่ผู้เรียนนำงานที่ทำไว้เดิมในขั้นที่ 1 ออกมาทบทวนใหม่ และเลือกนำความคิดที่ได้มาใหม่มาสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อทำให้งานมีความแปลกใหม่มากขึ้น
ขั้นตอน กิจกรรม
ขั้นกำหนดงานหรือบรรยายสถานการณ์ปัจจุบัน - ผู้สอนกำหนดว่าเศษวัสดุเหลือใช้ที่จะนำมาเป็นโจทย์ให้ผู้เรียนออกแบบในแต่ละกิจกรรมคืออะไร เช่น เศษวัสดุเหลือใช้ประเภทกระดาษ พลาสติก เป็นต้น หลังจากนั้นให้ผู้เรียนออกแบบผลงานประดิษฐ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ที่ผู้สอนได้กำหนดขึ้นในแต่ละกิจกรรม
ขั้นการเปรียบเทียบทางตรง
(direct analogy) - ผู้เรียนนำเศษวัสดุเหลือใช้ที่ผู้สอนได้กำหนดขึ้นใน
แต่ละกิจกรรม มาเปรียบเทียบทางตรงหลายๆคู่
ขั้นการเปรียบเทียบบุคคลกับสิ่งอื่น (personal analogy) - ผู้เรียนบรรยายความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อตนกลายเป็นสิ่งนั้น (สิ่งที่เลือกในขั้นที่ 2)
ขั้นการเปรียบเทียบโดยใช้คำคู่ที่มีความหมายขัดแย้งกัน
(compressed conflict) - ผู้เรียนนำคำที่ได้จากขั้นที่ 2 และขั้นที่ 3 ที่มีความหมายขัดแย้งกัน มารวมกันเป็นกลุ่มคำหรือวลีใหม่ โดยกลุ่มคำหรือวลีที่สร้างขึ้นใหม่อาจเพิ่มคำเชื่อมได้ แล้วเลือกคู่ที่ดีที่สุด
ขั้นการเปรียบเทียบทางตรง
ครั้งที่ 2 - ผู้เรียนนำคำคู่ที่เลือกในขั้นที่ 4 มาคิดเปรียบเทียบโดยพิจารณาในด้านการนำไปใช้งาน
ขั้นการสำรวจงานที่ต้องทำ
อีกครั้ง - ผู้เรียนนำการออกแบบผลงานประดิษฐ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ในครั้งแรกออกมาพิจารณาและเลือกนำความคิดที่ได้มามาปรับเปลี่ยนการออกแบบใหม่อีกครั้ง เพื่อทำให้การออกมีความแปลกใหม่มากขึ้น หลังจากนั้นจึงลงมือปฏิบัติสร้างงานประดิษฐ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ตามที่ได้ออกแบบไว้ในครั้งสุดท้าย
ผลที่ได้รับจากการใช้เทคนิคซินเนคติกส์
บทบาทของผู้สอนและผู้เรียน
การสอนโดยการใช้เทคนิคซินเนคติกส์ผู้สอนจะมีบทบาทเป็นผู้ริเริ่ม และคอยดำเนินการเรียนการสอนตามบทเรียนและขั้นตอนที่จัดเตรียมไว้ มีบทบาทคอยกระตุ้นความคิดของผู้เรียนอยู่ตลอดเวลา ผู้สอนจะไม่มีบทบาทในการชักนำความคิดของผู้เรียนให้เป็นไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง แต่จะต้องคอยกระตุ้นให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดของตนเองออกมาให้มากที่สุด ผู้เรียนจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างสำคัญในกระบวนการเรียนการสอน คือ มีอิสระในการคิด แสดงความคิด อภิปรายถกเถียงกันตามบทเรียน ยิ่งผู้เรียนแสดงความคิดมากเท่าใด การมองเห็นสิ่งใหม่ๆจะมีมากขึ้นเท่านั้น
หลักการตอบสนอง
ในการตอบสนองต่อกระบวนการเรียนการสอนตามบทเรียนนั้น ผู้สอนต้องเปิดกว้างต่อแนวคิดของผู้เรียน ยอมรับแนวคิดของผู้เรียนที่แสดงออกมา แม้ว่าความคิดนั้นจะไม่มีเหตุผลหรือไม่เหมาะสมก็ตามที ผู้สอนต้องไม่ตัดสินความคิดของผู้เรียนว่าถูกหรือไม่ถูก หรือดีหรือไม่ดี เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมแต่อย่างใด ท่าทีของผู้สอนต้องยอมรับความคิดของผู้เรียนอย่างสร้างสรรค์ ไม่ปิดกั้นความคิดของผู้เรียน
การนำไปใช้
การสอนโดยการใช้เทคนิคซินเนคติกส์ใช้ได้ดีกับบทเรียนที่ต้องการให้ผู้เรียนคิด พัฒนา สร้าง หรือมองบทเรียนไปในแนวทางใหม่ เนื่องจากการนำเอาการเปรียบเทียบที่แตกต่างกันมาให้ผู้เรียนได้คิดพิจารณาและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ลักษณะการเรียนก็เป็นไปอย่างสนุกสนาน ไม่น่าเบื่อหน่าย บรรยากาศการเรียนเต็มไปด้วยความพึงพอใจของทั้งผู้สอนและผู้เรียน นอกจากจะช่วยฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนได้ดีแล้ว สิ่งที่จะตามมาอีกก็คือ ความสัมพันธ์ในกลุ่มซึ่งเป็นจุดที่การศึกษาไทยปัจจุบันค่อนข้างให้ความสำคัญมาก
เอกสารอ้างอิง
กฤษณา ศิลปะนรเศรษฐ์. (2553). การพัฒนาความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ระหว่างการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบซินเนคติกส์กับการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบแผนผังความคิด. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาหลักสูตรและการสอนมหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
จริญญา จักรกาย. (2539).ผลของการใช้วิธีซินเนคติกส์ควบคู่กับการเสริมแรงทางสังคมที่มีต่อความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนราชินีบูรณะ จังหวัดนครปฐม. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
ชัยวาฤทธิ์ สร้อยเงิน. (2553). การพัฒนาความสามารถการเขียนเชิงสร้างสรรค์กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้กิจกรรมซินเนคติกส์. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี.
ทิศนา แขมมณี. (2547). ศาสตร์การสอน องค์ความรู้เพี่อการจัดระบบการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ.
พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพฯ : ด่านสุทธราการพิมพ์.
ประยงค์ เลพล. (2546). ผลการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเขียนเรียงความเชิงสร้างสรรค์โดยใช้กิจกรรม ซินเนคติกส์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี.
อารี รังสินันท์. (2532). ความคิดสร้างสรรค์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ข้าวฟ่าง.
อุษา ขุนทอง. (2551). การเปรียบเทียบทักษะการวาดภาพเชิงสร้างสรรค์และเจตคติต่อการวาดภาพเชิงสร้างสรรค์ ของนักเรียนช่วงชั้นที่ 1 ที่เรียนรู้ตามรูปแบบซินเนคติกส์กับตามรูปแบบซิปปา.วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาการจัดการการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา.
Gordon, W.J.J. (1961). Synectics : The development of creative capacity. New York : Harper & Row.
Joyce, Bruce and Weil, Marsha. (1992). Model of Teaching. 4th ed. Boston : Allyn and
Bacon.
Piaget, J. (1971). The Theory of Stages in Cognitive Devlopment. In D.R. Green (Ed.), Measurement and Piaget. New York : McGraw-Hill.