การพัฒนาจัดระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
โดยใช้รูปแบบ TMK.MODEL โรงเรียนกิริวัฒนศักดิ์ จังหวัดนครราชสีมา
โดย : นายพิเชษฐ์ โคนกระโทก
ปีการศึกษา : 2564
รายงานฉบับนี้ เป็นการศึกษาผลการนำระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองของนักเรียนในการจัดระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน 5 ขั้นตอน คือ การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล การคัดกรองนักเรียนเป็นกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มมีปัญหา ซึ่งจำแนกออกตามพฤติกรรม 8 ด้าน ได้แก่ ด้านการเรียน ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ จิตใจ ด้านความประพฤติ ด้านการใช้สารเสพติด ด้านเศรษฐกิจ ด้านความสัมพันธ์กับเพื่อน และ
ด้านการคุ้มครองนักเรียน จากนั้นจึงดำเนินกิจกรรมในขั้นส่งเสริมนักเรียน ขั้นใช้กิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหา และการส่งต่อนักเรียน โดยมีการติดตามตรวจสอบนักเรียนเป็นระยะเพื่อเปลี่ยนแปลงปรับปรุงพฤติกรรมและการดูแลนักเรียน
รายงานนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1. เพื่อพัฒนาจัดระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน กลยุทธ์ “สานสายใย สานใจพ่อแม่ลูก” โดยใช้รูปแบบ TMK.MODEL 2. เพื่อศึกษาผลการพัฒนาจัดระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน กลยุทธ์ “สานสายใย สานใจพ่อแม่ลูก” โดยใช้รูปแบบ TMK.MODEL โรงเรียนกิริวัฒนศักดิ์ จังหวัดนครราชสีมา 3. เพื่อศึกษาระดับความพึงพอใจของครู นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนต่อการดำเนินงานพัฒนา ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน กลยุทธ์ “สานสายใย สานใจพ่อแม่ลูก” โดยใช้รูปแบบ TMK.MODEL โรงเรียนกิริวัฒนศักดิ์ จังหวัดนครราชสีมา การเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการรายงานใช้เครื่องมือ 3 ชนิด คือ 1. แบบสำรวจผลการคัดกรองนักเรียน 2. แบบสำรวจการใช้กิจกรรมตามกระบวนการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน 3. แบบสำรวจการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของผู้ปกครอง ซึ่งมีการเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับจำนวนนักเรียนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มมีปัญหาก่อนการพัฒนา จากนั้นจึงมีการเก็บรวบรวมข้อมูลหลังการพัฒนา 3 ด้าน คือ จำนวนนักเรียนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มมีปัญหา สำรวจความพึงพอใจของบุคลากร และสำรวจการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองจากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์โดยการคิดคำนวณค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ระดับคะแนนค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของระดับคะแนน และการทดสอบความแตกต่างของจำนวนนักเรียนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มมีปัญหาระหว่างก่อนการพัฒนากับหลักการพัฒนาโดยวิธีการทดสอบด้วย Sing test
ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้
1. จำนวนนักเรียนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มมีปัญหาก่อนการพัฒนาอยู่ในระดับน้อย หลังการพัฒนาอยู่ในระดับน้อยอย่างยิ่ง และน้อยกว่าก่อนการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
2. การปฏิบัติตามกระบวนการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน กลยุทธ์ “สานสายใย สานใจพ่อแม่ลูก” โดยใช้รูปแบบ TMK.MODEL โรงเรียนกิริวัฒนศักดิ์ จังหวัดนครราชสีมา อยู่ในระดับมากอย่างยิ่ง
3. ความพึงพอใจของบุคลากรอยู่ในระดับมาก
4. การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองอยู่ในระดับมาก