บทคัดย่อการพัฒนาครูด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนฯ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพังงา ภูเก็ต ระนอง
ชื่อผู้รายงาน นางสาววันดี สง่ากอง
หน่วยงาน โรงเรียนท้ายเหมืองวิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพังงา ภูเก็ต ระนอง
ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ ด้านความรู้ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ สามารถพัฒนาตนเองได้ตามธรรมชาติ และเต็มศักยภาพ การศึกษาในครั้งนี้ มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาครูด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โรงเรียนท้ายเหมืองวิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพังงา ภูเก็ต ระนอง ให้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้ สามารถเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้นำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้ โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) 2 วงรอบ ซึ่งในแต่ละวงรอบ ประกอบด้วย ขั้นการวางแผน (Planning) ขั้นดำเนินการ (Action) ขั้นสังเกต (Observation) และขั้นสะท้อนผล (Reflection) ผู้ให้ข้อมูล ประกอบด้วย 1) กลุ่มผู้ร่วมศึกษา (Research Participants) จำนวน 5 คน ได้แก่ ผู้ศึกษาในฐานะรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และครูผู้สอน จำนวน 4 คน ซึ่งเป็นครูผู้สอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-4 และ 2) กลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) จำนวน 23 คน ประกอบด้วย ผู้บริหาร จำนวน 2 คน วิทยากร จำนวน 1 คน ครูผู้สอน จำนวน 4 คน และนักเรียน จำนวน 16 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์ครู และนักเรียน แบบนิเทศแผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ แบบบันทึกประจำวันของผู้ศึกษา แบบประเมินพฤติกรรมการสอนของครู และแบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การตรวจสอบข้อมูลสามเส้า (Triangulation Technique) และนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าโดยวิธีบรรยาย
ผลการศึกษาค้นคว้า พบว่า สภาพปัญหาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของครูโรงเรียนท้ายเหมืองวิทยา ยังไม่สอดคล้องตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 โดยครูยังขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ดังนั้น จึงได้ดำเนินการพัฒนาครูด้าน การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยใช้กลยุทธ์ในการพัฒนา 3 กลยุทธ์ คือ การอบรมเชิงปฏิบัติการ การนิเทศการเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และการนิเทศการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ผลการดำเนินการในวงรอบที่ 1 พบว่า กลุ่มเป้าหมาย มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และเข้าใจรูปแบบการเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ กลุ่มเป้าหมาย 3 คน สามารถเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้สมบูรณ์ ส่วนกลุ่มเป้าหมายอีก 1 คน ยังไม่สามารถเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้ถูกต้อง เนื่องจากยังไม่สามารถวิเคราะห์หลักสูตร วิเคราะห์ผู้เรียน วิทยากรได้ให้คำแนะนำแก้ไขส่วนที่ไม่สมบูรณ์ตลอดระยะเวลาการอบรม จนสามารถเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้ถูกต้อง แต่เมื่อนำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ พบว่า กลุ่มเป้าหมายขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ทำให้การสอนไม่เป็นธรรมชาติ การใช้สื่อในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ไม่หลากหลาย กิจกรรมการเรียนรู้ไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอน ครูยังดูแลนักเรียนไม่ทั่วถึง ขาดการวัดและประเมินผลตามสภาพจริง และไม่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนประเมินตนเองและประเมินผู้อื่น จึงได้ดำเนินการพัฒนาในวงรอบที่ 2 โดยใช้กลยุทธ์ในการพัฒนา คือ การนิเทศการเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และการนิเทศการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ พบว่า กลุ่มเป้าหมายสามารถวิเคราะห์หลักสูตร และวิเคราะห์ผู้เรียนได้ สามารถเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และสามารถนำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ไปใช้จัดการเรียนรู้ได้ มีการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนร่วมกันทำงานเป็นกลุ่ม สื่อการเรียนรู้สัมพันธ์กับเนื้อหา กิจกรรมการเรียนรู้หลากหลาย นักเรียนมีส่วนร่วมในการประเมินผลการเรียนรู้
โดยสรุป จากการศึกษาทำให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความมั่นใจในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ครูยอมรับฟังข้อเสนอแนะจากการนิเทศ เพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนางานของตนเอง ซึ่งส่งผลต่อผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนมีการเรียนรู้ด้วยความสนุกสนาน กล้าคิด กล้าแสดงออก และมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ มากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม โรงเรียนควรมีแผนการนิเทศอย่างเป็นรูปธรรมและมีการนิเทศอย่างเป็นระบบต่อเนื่องผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องให้ความร่วมมือซึ่งจะส่งผลให้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา