การจัดกิจกรรม D.I.Y BY IDEAตามแนวการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน
ชื่อนวัตกรรม การจัดกิจกรรม D.I.Y BY IDEA ตามแนวการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐานเพื่อพัฒนาทักษะด้านชีวิตและอาชีพสู่ศตวรรษที่ 21 ภายใต้ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนวัดล้านตอง
ชื่อผู้เสนอผลงาน นางแพรวนภา ไชยวงค์
กลุ่มสาระการเรียนรู้ การงานอาชีพ
โรงเรียน/หน่วยงาน โรงเรียนวัดล้านตอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1
โทรศัพท์มือถือ 080-8484761 E-mail : praewa-a@hotmail.co.th
ความเป็นมาและความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรม
ปัจจุบันเป็นยุคสมัยใหม่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงที่ท้าทาย การจัดการเรียนการสอน การฝึกฝนให้ผู้เรียนการการเรียนรู้ จึงจำเป็นต้องใช้ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่ทักษะด้านการท่องจำ แต่ในสภาพปัจจุบัน ครูยังสอนด้วยวิธีการบรรยาย โดยยึดเนื้อหาจากหนังสือเรียน ไม่ได้ยึดมาตรฐานการเรียนรู้ตัวชี้วัด ตามหลักสูตร การสอนเป็นการสอนเนื้อหา ไม่ได้เน้นสอนกระบวนการ อันนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำเมื่อเทียบกับนานาประเทศ ดังนั้นในการจัดการเรียนการสอนในยุคนี้จึงควรมุ่งให้ผู้เรียนเกิดการสร้างทักษะแห่งอนาคตใหม่ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ทักษะ และคุณลักษณะขั้นพื้นฐาน ที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในสังคมเศรษฐกิจสมัยใหม่ได้อย่างมีคุณภาพ รู้จักตัวเอง รู้จักโลกและมีเป้าหมายในการดำเนินชีวิต ดังนั้น การสร้างผู้เรียนให้มีศักยภาพในการใช้ชีวิตอยู่ได้ในสังคมเศรษฐกิจสมัยใหม่จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยครูต้องเป็นผู้สร้างผู้เรียนทุกคนให้มีความรู้ความสามารถ และทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้นำแนวคิดของวิจารณ์ พาณิช (2555 หน้า 18-21) ที่ได้ดำเนินการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา มีการเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษา และคุณภาพผู้เรียน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาครูผู้สอน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนให้เป็นครูยุคใหม่ ที่ไม่เน้นการสอน แต่จะทำหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน เน้นการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ครูจะเป็นผู้ชี้แนะการเรียนรู้ (Coaching) ในด้านเนื้อหาสาระสำคัญที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ 21 จะยึดหลัก 3R ได้แก่ Reading (อ่านออก) (W) Riting (เขียนได้) (A) Rithemetics (คิดเลขเป็น) และ 8 C ได้แก่ 1) Critical Thinking and Problem Solving (ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา) 2) Creativity and Innovation (ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม) 3) Cross-cultural Understanding (ทักษะด้านความเข้าใจความต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์) 4) Collaboration, Teamwork and Leadership (ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม) 5) Communications, Information and Media Literacy (ทักษะด้านการสื่อสารสารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ) 6) Computing and ICT Literacy (ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) 7) Career and Learning Skills (ทักษะอาชีพและการเรียนรู้) 8) Compassion (ความมีเมตตากรุณา มีวินัย คุณธรรม และจริยธรรม) ซึ่งเป็นภารกิจที่ผู้สอนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ในการมีบทบาทจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนทั้งในและนอกห้องเรียน เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว
ทักษะอาชีพและการเรียนรู้ มีความสำคัญสำหรับนักเรียนในศตวรรษที่ ๒๑ เนื่องจากเป็นทักษะที่นักเรียนจะต้องนำไปดำเนินชีวิต และเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับในอนาคต ทักษะอาชีพและการเรียนรู้ คือความสามารถแสวงหาความรู้นำพาตนเองเรียนรู้ได้มีความมั่นใจในตัวเองกระตือรือร้นใฝ่รู้เป็นผู้ผลิต มุ่งความเป็นเลิศดำรงชีวิตด้วยความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น เป็นพลเมืองที่ดีเคารพกติกา มีระเบียบวินัย คำนึงถึงสังคม มีคุณธรรม มีความเป็นไทยเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม และแบ่งปันประสบการณ์ทักษะการทำงานหรืออาชีพ คือ ความสามารถประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะในการทำงาน การติดต่อสื่อสาร การทำงานเป็นทีม แสดงภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ มีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้ดีริเริ่มงาน ดูแลตนเองได้อดทนและขยันทำงาน ทักษะอาชีพและการเรียนรู้ คือการเรียนรูที่จะปรับตัวได้อย่างดีในสภาวะการเปลี่ยนแปลงหรือมีภัยคุกคามได้อย่างชาญฉลาดถือเป็นเรื่องสำคัญในการดำรงชีวิตที่มีทักษะชีวิตในโลกศตวรรษที่ ๒๑ และการคิดสร้าง ผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบสนองการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ต่างกันไป นำไปสู่การเผยแพร นำเทคนิควิธีการใช้และพัฒนาทักษะใช้เกิดเป็นกลยุทธ์การขายเกิดผู้ประกอบการในงานอาชีพ ซึ่งเป็นทักษะอาชีพที่ต้องมีการส่งเสริมให้ทันในยุคการเปลี่ยนแปลงทักษะอาชีพและการเรียนรู้ โดย Partnership for 21 Century Skills ได้มีการแบ่งเป็น ๕ ด้าน คือ (๑) ความยืดหยุ่นและการปรับตัว (๒) เป็นผู้มีความคิดริเริ่มและเป็นผู้นำ (๓) ทักษะทางสังคมและการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม (๔) การเพิ่มผลผลิตและการรู้รับผิด (๕) ภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ ซึ่งทักษะเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระตามหลักสูตรควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะที่จำเป็น โดยกำหนดแผนการบริหารงานวิชาการให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
การจัดการเรียนรู้แบบกิจกรรมเป็นฐาน (Activity-Based Learning : ABL) เป็นการจัดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ไม่เน้นให้ผู้เรียนท่องจำ แต่ให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติจริงและมีบทบาทในการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง โดยเน้นให้ผู้เรียนรู้จักคิดวิเคราะห์และเรียนรู้จากกิจกรรมที่ได้ทำจริง (Learning by doing) โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการสร้างองค์ความรู้ การสร้างปฏิสัมพันธ์ และการร่วมมือกันเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ความรับผิดชอบร่วมกัน มีวินัยในการทำงาน และแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบร่วมกัน โดยผู้สอนจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติด้วยตนเอง (สุทัศ เอกา, 2557) การจัดการเรียนรู้แบบกิจกรรมเป็นฐานเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้แบบเดิมที่เป็นแบบตั้งรับ (Passive learning) เรียนรู้โดยการอ่าน ท่องจำ การฟังบรรยายเพียงอย่างเดียวโดยที่ผู้เรียนไม่มีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมอื่นในขณะที่ครูสอนมาเป็นกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก (Active learning) ที่ผู้เรียนมีบทบาทในการแสวงหาความรู้และเรียนรู้อย่างมีปฏิสัมพันธ์จนเกิดความรู้ ความเข้าใจ นำไปประยุกต์ใช้ นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่ครูออกแบบมา มีจุดมุ่งหมายให้เกิดความสนุกสนาน น่าสนใจ และไม่เกิดความเบื่อหน่าย โดยครูจะผู้อำนวยความสะดวก ให้คำแนะนำ กระตุ้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ (McGrath & MacEwan, 2011: 261; Stoblein, 2009: 4; วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, 2552:ออนไลน์; ศิริชัย นามบุรี, 2556: ออนไลน์; สุทัศน์ เอกา, 2556: ออนไลน์) และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ตามแนวการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน สามารถนำแนวคิดการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการจัดการเรียนรู้ในปัจจุบันที่ไม่จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียน จะสามารถช่วยเหลือให้นักเรียนเปลี่ยนสารสนเทศเป็นความรู้ได้เป็นอย่างดี
กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพเป็นกลุ่มสาระที่ช่วยพัฒนาให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง สามารถนำความรู้เกี่ยวกับการดำรงชีวิต การอาชีพ มาใช้ประโยชน์ในการทำงานอย่างมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างสิ่งของเครื่องใช้หรือวิธีการอย่างถูกต้องและปลอดภัย เลือกใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ต่อชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อม และมีการจัดการเทคโนโลยีด้วยการลดการใช้ทรัพยากรหรือเลือกใช้เทคโนโลยีที่ไม่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม เห็นแนวทางในการประกอบอาชีพ รักการทำงานและมีเจตคติที่ดีต่อการทำงาน สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างพอเพียงและมีความสุข เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐานในกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ แล้วผู้เรียนจะมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ดังนี้ คือ มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำรงชีวิตและครอบครัว การอาชีพ การออกแบบและเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีเพื่อการทำงานและอาชีพ มีทักษะในการทำงาน การประกอบอาชีพ การจัดการ การแสวงหาความรู้ เลือกใช้เทคโนโลยีและเทคโนโลยีสารสนเทศในการทำงาน สามารถทำงานอย่างมีกลยุทธ์ สร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือวิธีการใหม่ มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ ขยัน อดทน รักการทำงาน ประหยัด อดออม ตรงต่อเวลา เอื้อเฟื้อ เสียสละ และมีวินัยในการทำงาน เห็นคุณค่าความสำคัญของงานและอาชีพสุจริตตระหนักถึงความสำคัญของสารสนเทศ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและพลังงาน (กรมวิชาการ, 2551: 206-207)
โรงเรียนวัดล้านตอง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต ๑ ได้น้อมนำหลักคิด องค์ความรู้ แนวคิดเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปประยุกต์ใช้ให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ใน ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองและชุมชน จึงเห็นความสำคัญที่จะจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา มีการเผยแพร่ ขยายผล องค์ความรู้ หลักคิด รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงาน ให้กับโรงเรียนเครือข่ายและหน่วยงานที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานในศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา เนื่องจากโรงเรียนวัดล้านตอง มีความพร้อมในด้าน บุคลากร ด้านอาคารสถานที่ที่ซึ่งต่อการเรียนรู้ มีห้องข้อมูลสารสนเทศที่ประกอบด้วยองค์ความรู้เกี่ยวกับหลักการทรงงาน ตัวอย่างโครงการในพระราชดำริที่สำคัญ แผนการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เชื่อมโยงกับฐานการเรียนรู้ครบทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ครบทุกระดับชั้นและครบทุกฐานการเรียนรู้ มีการถอดบทเรียนฐานการเรียนรู้ ครบทุกฐานการเรียนรู้โดยจัดเป็นฐานการเรียนรู้ที่สำคัญจำนวน ๔ ฐานการเรียนรู้ ประกอบด้วย ฐานการเรียนรู้ปลูกผักปลอดสารเพื่ออาหารกลางวัน ฐานการเรียนรู้สานฝันงานอาชีพ ฐานการเรียนรู้สืบฮีตดนตรีล้านนา และฐานการเรียนรู้หรรษาลายเมือง ซึ่งสอดคล้องกับสภาพบริบทและภูมิสังคมของโรงเรียน เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แต่ละฐานการเรียนรู้ประกอบด้วย องค์ความรู้ของฐานการเรียนรู้ การถอดบทเรียนฐานการเรียนรู้ แผนฐานการเรียนรู้ แผนบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ใบงาน แบบประเมินความพึงพอใจการใช้ฐานการเรียนรู้ และมีแผนผังฐานในแต่ละฐาน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีหลักคิดและหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
จากความสำคัญและความจำเป็นดังกล่าว ผู้วิจัยในฐานะครูผู้สอนโรงเรียนวัดล้านตอง กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ให้กับนักเรียน รวมไปถึงการต่อยอดการพัฒนาทักษะกระบวนการทำงานของนักเรียนในปีการศึกษา2563 ที่ผ่านมาโดยการใช้กิจกรรม “Local toy by Stem Activities ”เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทำงานบูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เน้นให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองมากขึ้น วางแผน คิดวิเคราะห์สังเคราะห์ นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และผู้วิจัยได้ดำเนินการออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่สามารถส่งเสริมและพัฒนานักเรียนให้มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพ และคุณลักษณะในการประกอบอาชีพ จึงสนใจศึกษาการจัดการเรียนรู้แบบกิจกรรมเป็นฐานผ่านกิจกรรม D.I.Y BY IDEA เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพและการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21 สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนเห็นถึงความสำคัญของวิชาชีพ การประกอบอาชีพ และรู้จักการวางแผนในการประกอบอาชีพ เพื่อเป็นการส่งเสริมทักษะอาชีพและการเรียนรู้ภายใต้ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนวัดล้านตอง เป็นอีกหนึ่งในทักษะที่จำเป็นสำหรับนักเรียนในศตวรรษที่ 21 และรองรับการเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 นอกจากนี้ยังเป็นการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้เกิดกับนักเรียน และบรรลุตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติที่ว่านักเรียนเป็นผู้ที่ ดี เก่ง มีสุขและดำรงชีวิตใน สังคมได้อย่างมีความสุข เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศชาติต่อไป
วัตถุประสงค์การพัฒนานวัตกรรม
1. วัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน
1.1 เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพและการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21 สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ D.I.Y BY IDEA ตามแนวการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน
1.2 เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่เรียนรู้จากการใช้กิจกรรมการเรียนรู้ D.I.Y BY IDEA ตามแนวการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐานเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพและการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21 ภายใต้ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนวัดล้านตอง
2. เป้าหมายของการดำเนินงาน
2.1 เชิงปริมาณ นักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 36 คน
2.2 เชิงคุณภาพ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นทุกคนได้พัฒนาทักษะอาชีพและการเรียนรู้ สามารถออกแบบและสร้างชิ้นงานที่มีคุณภาพ สามารถจำหน่ายสร้างรายได้และเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพในอนาคต
นิยามศัพท์เฉพาะ
1. การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ D.I.Y BY IDEA หมายถึง กิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้นักเรียนออกแบบชิ้นงานต่างๆด้วยตนเองตามแนวการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน โดยนำสิ่งของเหลือใช้ในโรงเรียนนำมาสร้างสรรค์หรือประดิษฐ์เป็นผลงานชิ้นใหม่ เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์และมีมูลค่าสามารถต่อยอดเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ การจัดกิจกรรมจะช่วยพัฒนานักเรียนให้เกิดทักษะการปรับตัว มีความคิดริเริ่มและภาวะผู้นำ การมีปฏิสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบ รวมไปถึงการแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในกระบวนการจัดการเรียนรู้ และใช้แบบประเมินในการประเมินความพึงพอใจในการทำกิจกรรม
2. การจัดการเรียนรู้แบบกิจกรรมเป็นฐาน (Activity-Based Learning : ABL) หมายถึง การเรียนการสอนโดยใช้กิจกรรมเป็นฐานเพื่อส่งเสริมทักษะอาชีพและการเรียนรู้ โดยมีขั้นตอน ดังนี้
1. ขั้นนำ ได้แก่ การให้ผู้เรียนเกิดความสนใจก่อนนำเข้าสู่บทเรียน ผ่านสื่อ รูปแบบ วีดีโอ เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมในขั้นต่อไปเกิดความเข้าใจตรงกันและสามารถดำเนินไปได้ด้วยดี รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ซักถามความเข้าใจ
2. ขั้นกระตุ้นและให้ประสบการณ์ เป็นการทบทวนและสำรวจความรู้เดิมเกี่ยวกับความรู้ขั้นการสอนและเตรียมผู้เรียนสู่การลงมือปฏิบัติกิจกรรมเป็นกลุ่มๆ เพื่อให้เกิดประสบการณ์ตรงโดยที่กิจกรรมต่างๆ จะต้องคัดเลือกให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่องในบทเรียน
3. ขั้นกิจกรรม ได้แก่ การดำเนินกิจกรรมตามที่ได้รับมอบหมาย นักเรียนฝึกลงมือปฏิบัติให้เกิดทักษะอาชีพและการเรียนรู้ในขณะเข้าร่วมกิจกรรม นำเสนอโดยการพูดและการแสดงออกตามรูปแบบกิจกรรม
4. ขั้นสรุปและนำไปใช้ นักเรียนสรุปความคิดรวบยอดเชื่อมโยงสิ่งที่ได้เรียนรู้ นำความรู้ที่ได้รับจากขั้นกิจกรรมไปใช้ในการประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริงและแบบทดสอบความพึงพอใจในการทำกิจกรรมของนักเรียน
3. ทักษะอาชีพและการเรียนรู้ หมายถึง พฤติกรรมที่เกิดจากการคิดแก้ปัญหา การวางแผน ความคิดสร้างสรรค์ และการทำงานร่วมกันในสังคม ซึ่งทักษะอาชีพและการเรียนรู้ มี 5 ด้าน ได้แก่ ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว ความคิดริเริ่มและการชี้นำตัวเอง ทักษะทางสังคมและการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม การเพิ่มผลผลิตและความรู้รับผิด และความเป็นผู้นำและความรับผิดชอบ โดยการวัดและประเมินผลจากการใช้แบบวัดความรู้ทักษะอาชีพและการเรียนรู้ แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้จากการทำกิจกรรมและจากการทำงานที่ได้รับมอบหมาย
4. ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง ศูนย์กลางในการจัดการเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีหลักคิดและหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบูรณาการกับวิชาที่เรียนและสอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมของโรงเรียนโดยมีฐานการเรียนรู้ จำนวน 4 ฐานการเรียนรู้ ได้แก่ ฐานการเรียนรู้ปลูกผักปลอดสารเพื่ออาหารกลางวัน ฐานการเรียนรู้สานฝันงานอาชีพ (เชียงดาแปลงร่าง) ฐานการเรียนรู้สืบฮีตดนตรีล้านนา และฐานการเรียนรู้หรรษาลายเมือง
การอภิปรายผลและการนำเสนอผลกระทบการนำนวัตกรรมไปใช้
1. ด้านคุณภาพ
การจัดกิจกรรม D.I.Y BY IDEA ตามแนวการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐานเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพและการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21 ภายใต้ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนวัดล้านตอง สามารถพัฒนาทักษะอาชีพและการเรียนรู้ สนับสนุนการเรียนการสอนที่เน้นการเรียนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ตรงตามหัวใจของการปฏิรูปการศึกษาและแนวคิดกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ เน้นทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง สามารถนำความรู้เกี่ยวกับการดำรงชีวิต การงานอาชีพมาใช้ประโยชน์ในการทำงานอย่างมีความคิดสร้างสรรค์ และเห็นแนวทางในการประกอบอาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมของผู้เรียนสู่ศตวรรษที่21
การประเมินความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีต่อกิจกรรม D.I.Y BY IDEA ตามแนวการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุดเนื่องจากเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติงานกลุ่มด้วยตนเองทุกขั้นตอน มีเนื้อหาไม่ยากจนเกินไป เนื้อหามีความเหมาะสมกับเวลาในการจัดกิจกรรม ภาษาที่ใช้ชัดเจน เข้าใจง่าย มีการสอดแทรกทักษะอาชีพและการเรียนรู้ตามแนวหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทำให้นักเรียนสนุกสนานกับการเรียนด้วยเอกสารประกอบการเรียน และเป็นกิจกรรมที่นักเรียนสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
2. ด้านคุณประโยชน์
1. ครูมีการจัดการเรียนรู้ที่ครบวงจร คือ วางแผน จัดการเรียนรู้ และการประเมินผลการจัดการเรียนรู้ตามแนวการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน สามารถนำไปใช้กับการปฏิบัติงานอื่น ๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ต้องการและการติดตามช่วยเหลือทำให้มีทักษะกระบวนการทำงานมากขึ้น
2. ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนวัดล้านตองเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนให้ความสำคัญกับเหตุผล พอประมาณ และภูมิคุ้มกัน รวมถึงการดำเนินชีวิตที่ตั้งอยู่บน 2 เงื่อนไข คือ เงื่อนไขความรู้ และเงื่อนไขคุณธรรม ทำให้สามารถพัฒนาตนเองให้มีความสมบูรณ์ตามศักยภาพของแต่ละคนได้
3. การเรียนรู้ตามแนวการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน มุ่งเน้นให้ผู้เรียนซึมซับความรู้ ความเข้าใจผ่านการเล่นเกม โดยเฉพาะกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นกิจกรรมกลุ่ม จะสามารถทำให้ผู้เรียนพัฒนาภาวะผู้นำมนุษยสัมพันธ์ การทำงานเป็นทีม ความสามารถในการเข้าสังคมต่าง ๆ ได้ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ในสถานศึกษาและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตจริง
ผลงานส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริหารสถานศึกษา
นวัตกรรม“การจัดกิจกรรม D.I.Y BY IDEA ตามแนวการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน” นี้ ผู้อำนวยการโรงเรียนได้ร่วมทำกิจกรรม ส่งผลให้ผู้อำนวยการรู้ถึงสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง และสังเกตเห็นประโยชน์ของกิจกรรมในลักษณะ active learning เป็นสำคัญในการดำเนินกิจกรรม นำส่งผลให้ผู้อำนวยการได้ให้แนวทางและกระตุ้นครูในโรงเรียนให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้ด้วยนวัตกรรมลักษณะ active learning มากขึ้น อีกทั้งนวัตกรรม“การจัดกิจกรรม D.I.Y BY IDEA ตามแนวการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน” นี้ ได้ถูกนำเสนอผลการดำเนินงานในเวทีการประชุมและแสดงนิทรรศการ เป็นประโยชน์ต่อผู้บริหารสถานศึกษาอื่น อาทิ แนวคิด การสร้างแรงบันดาลใจ ตลอดจนการปรับประยุกต์นวัตกรรมไปใช้
ผลงานส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสถานศึกษา
นวัตกรรม“การจัดกิจกรรม D.I.Y BY IDEA ตามแนวการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน” นี้เป็นประโยชน์ต่อสถานศึกษาในด้านต่างๆ ต่อไปนี้
1. ด้านวิชาการ ทำให้ภาพรวมด้านวิชาการของโรงเรียนในรายวิชาการงานอาชีพที่ดีขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากนวัตกรรมสามารถพัฒนาทักษะอาชีพและการเรียนรู้ของนักเรียน และสามารถนำไปพัฒนาทักษะด้านอื่นๆให้กับนักเรียนได้ เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม
2. ด้านบุคลากร การดำเนินกิจกรรมตามนวัตกรรมนี้ มีส่วนกระตุ้นให้ครูในสถานศึกษาสนใจในการใช้แนวการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน ภายใต้ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการจัดกิจกรรมลักษณะ active learning และสนใจนำนวัตกรรมนี้ไปปรับใช้ในชั้นเรียนของตนเอง
ผลงานส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อวงการวิชาชีพ
นวัตกรรม “การจัดกิจกรรม D.I.Y BY IDEA ตามแนวการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน” ได้มีการเผยแพร่และมีการนำไปใช้ทั้งในและนอกหน่วยงาน
1. การเผยแพร่และนำไปใช้ในหน่วยงาน อาทิ ใช้ในโรงเรียนวัดล้านตอง โดยเริ่มใช้การพัฒนาทักษะอาชีพและการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จากนั้นได้ปรับปรุงและพัฒนาใช้ในระดับชั้นอื่นๆ อีกทั้งได้ประยุกต์สถานการณ์เรียนรู้ในแบบที่ต่างกันออกไป
2. การเผยแพร่และนำไปใช้นอกหน่วยงาน กล่าวคือ การนำเสนอผลการดำเนินงาน วิธีการนำไปใช้ และการปรับประยุกต์ให้เหมาะกับบริบทของแต่ละโรงเรียน โดยเผยแพร่ในงานประชุมวิชาการ เอกสารวิชาการต่างๆ ตลอดจนส่งเข้ารับ การประกวดนวัตกรรมทางการศึกษา ประเภทครูผู้สอน กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ” จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 ประจำปี 2563
ข้อคิดเห็นเพื่อการพัฒนาการศึกษาในอนาคต รวมทั้งข้อเสนอแนะ
นวัตกรรม “การจัดกิจกรรม D.I.Y BY IDEA ตามแนวการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน” สามารถปรับประยุกต์ได้ในหลายบริบทโดยใช้ฐานขั้นตอนเดิม และยังคงหลักซึ่งเป็นแก่นของนวัตกรรมนี้ไว้ นั่นคือให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยความสุขและสนุกอย่างมีความหมาย ผ่านบริบทสิ่งแวดล้อมรอบตัว เนื่องจากการจัดการเรียนรู้โดยใช้นวัตกรรมนี้พบว่าสิ่งที่ผู้จัดกิจกรรมต้องให้ความสำคัญยิ่งคือ
1. แบบประเมินกิจกรรมควรคำนึงถึงความแตกต่างที่หลากหลายของผู้เรียน
2. ควรให้ความสำคัญในงานของนักเรียนทุกชิ้น และควรให้นักเรียนมีโอกาสได้นำเสนองานของตนเองเพื่อให้นักเรียนมีความภาคภูมิใจ