การพัฒนารูปแบบการบริหารตามแนวคิดของไคเซ็น (Kaizen)
ของนักเรียนโรงเรียนวัดสระแก้ว
ผู้วิจัย วนิดา บุญมั่น
ปีที่วิจัย 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและแนวทางการบริหารตามแนวคิดของไคเซ็น (Kaizen) เพื่อส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนวัดสระแก้ว 2) เพื่อสร้างรูปแบบการบริหารตามแนวคิดของไคเซ็น (Kaizen) เพื่อส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนวัดสระแก้ว 3) เพื่อทดลอง ใช้รูปแบบการบริหารตามแนวคิดของไคเซ็น (Kaizen) เพื่อส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียน วัดสระแก้ว และ 4) เพื่อประเมินรูปแบบการบริหารตามแนวคิดของไคเซ็น (Kaizen) เพื่อส่งเสริมคุณลักษณะ อันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนวัดสระแก้ว กำหนดวิธีดำเนินการวิจัย 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาแนวทางการบริหารตามแนวคิดของไคเซ็น (Kaizen) ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนาและหาคุณภาพของรูปแบบ ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบกับกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้บริหาร จำนวน 1 คน ครูผู้สอน จำนวน 10 คน คณะกรรมการสถานศึกษา ขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ของโรงเรียนวัดสระแก้ว ปีการศึกษา 2562 จำนวน 97 คนและผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 97 คน รวมจำนวน 212 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) และขั้นตอนที่ 4 การประเมินรูปแบบการบริหารตามแนวคิดของไคเซ็น (Kaizen) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม แบบบันทึกการสนทนากลุ่ม รูปแบบการบริหารตามแนวคิดของไคเซ็น (Kaizen) และ แบบประเมินรูปแบบการบริหารตามแนวคิดของไคเซ็น (Kaizen) เพื่อส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนวัดสระแก้ว การวิเคราะห์ข้อมูลวิเคราะห์โดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานจากการสอบถามความคิดเห็นของผู้บริหาร ครูผู้สอน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า โรงเรียนวัดสระแก้ว มีระดับการปฏิบัติงานด้านการบริหารจัดการ อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็น รายด้าน พบว่า ด้านที่มีการปฏิบัติงานอยู่ในระดับมากที่สุด คือ โรงเรียนมีการพัฒนาวิชาการตามคุณภาพผู้เรียนตามหลักสูตรสถานศึกษาทุกกลุ่มเป้าหมาย รองลงมา คือ โรงเรียนจัดระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการและการจัดการเรียนรู้ โรงเรียนกำหนดเป้าหมาย วิสัยทัศน์ และพันธกิจที่ชัดเจน และโรงเรียนมีระบบบริหารจัดการคุณภาพของสถานศึกษาตามระบบ PDCA ตามลำดับ
2. ผลการสร้างรูปแบบการบริหาร พบว่า รูปแบบการบริหารตามแนวคิดของไคเซ็น (Kaizen) เพื่อส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนวัดสระแก้ว มีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ หลักการของรูปแบบ วัตถุประสงค์ของรูปแบบ แนวทางการดำเนินงาน กระบวนการดำเนินงาน ระบบสังคม และเงื่อนไขการนำรูปแบบ ไปใช้ จากการประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า รูปแบบมีความสอดคล้องและความเหมาะสม ในระดับมากที่สุด
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบ พบว่า รูปแบบการบริหารตามแนวคิดของไคเซ็น (Kaizen) เพื่อส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน ทำให้นักเรียนโรงเรียนวัดสระแก้ว ในปีการศึกษา 2562 มีผลการประเมินด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ร้อยละ 99.74 ในระดับยอดเยี่ยม สูงกว่าเป้าหมายที่สถานศึกษากำหนดทุกประเด็น เมื่อจำแนกประเด็นการพิจารณา สรุปได้ว่า นักเรียนมีความภูมิใจในท้องถิ่นและความเป็นไทย นักเรียนยอมรับที่จะอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างและหลากหลาย นักเรียนมีสุขภาวะทางร่างกาย และจิตสังคม มีผลการประเมินระดับยอดเยี่ยม ร้อยละ 100
4. ผลการประเมินรูปแบบ พบว่า 4.1) ผลการยืนยันความเหมาะสมของรูปแบบการบริหารตามแนวคิดของไคเซ็น (Kaizen) เพื่อส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนวัดสระแก้ว โดยผู้เชี่ยวชาญ ปรากฏว่า รูปแบบ การบริหารมีความถูกต้อง ความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และการนำไปใช้ประโยชน์ได้ คิดเป็นร้อยละ 100 และ 4.2) ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ปกครองนักเรียน มีความพึงพอใจต่อรูปแบบการบริหารตามแนวคิดของไคเซ็น (Kaizen) เพื่อส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนวัดสระแก้ว ในระดับพึงพอใจมากที่สุด
คำสำคัญ : การบริหารสถานศึกษา, รูปแบบการบริหารตามแนวคิดของไคเซ็น (Kaizen),
คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน