การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถด้านการอ่าน
วรรณคดีไทยสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ชื่อผู้วิจัย นางสาวดาริกา มงคลใหม่
ปีที่วิจัย 2563
บทคัดย่อ
การวิจัย เรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมทักษะด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์วรรณคดีไทยสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ผู้วิจัยกำหนดจุดประสงค์การวิจัยคือ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันของการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยตามความคิดเห็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมทักษะด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์วรรณคดีไทยสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 3) เพื่อศึกษาผลการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมทักษะด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์วรรณคดีไทยสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมทักษะด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์วรรณคดีไทย กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยคือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 30 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง มีเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยตามขั้นตอนการวิจัย ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 ได้แก่ 1) แบบสำรวจสภาพปัจจุบันของการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทยระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ขั้นตอนที่ 2 ได้แก่ 1) ร่างรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์วรรณคดีไทยสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 2) แบบประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์วรรณคดีไทยสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ขั้นตอนที่ 3 ได้แก่ 1) รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์วรรณคดีไทยสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 2) แผนการจัดการเรียนรู้จำนวน 7 แผนการจัดการเรียนรู้ 3) แบบทดสอบวัดทักษะด้านการอ่านวรรณคดี จำนวน 1 ชุด มี 30 ข้อ และ ขั้นตอนที่ 4 คือแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบ การจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์วรรณคดีไทย จำนวน 1 ชุด มี 14 ข้อคำถาม สถิติที่ใช้คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1) ผลการศึกษาสภาพปัจจุบันของการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยตามความคิดเห็นของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเขาฉกรรจ์วิทยาคม โดยรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับน้อย นักเรียนได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมคืออยากให้ครูผู้สอนจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการกลุ่มและให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการปฏิบัติกิจกรรม ครูควรกำหนดชิ้นงานให้นักเรียนได้ปฏิบัติในชั้นเรียนมีการประเมินผลชิ้นงานร่วมกัน จากการศึกษาสภาพปัจจุบันของการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 พบว่า การจัดการเรียนรู้ภาษาไทยครูจะต้องมีการจัดเตรียมสื่อที่ใช้ใน การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้พร้อมและเพียงพอกับผู้เรียน มีการใช้สื่อการเรียนการสอนที่หลากหลาย ครูต้องมีทักษะการตั้งคำถาม หรือใช้วิธีการสอนหลายรูปแบบ โดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมมากที่สุด ผลการศึกษาสภาพปัญหาเพื่อนำมาเป็นประเด็นในการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาไทยพบว่านักเรียนมีความเห็นว่าการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในปัจจุบันครูให้จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้น้อย นักเรียนไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำกิจกรรม ปัญหาด้านการอ่านยังเป็นประเด็นที่มีความสำคัญที่นักเรียนคิดว่าเป็นสิ่งที่ช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้
2) ผลการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมทักษะด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์วรรณคดี
ไทยสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ได้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ซึ่งประกอบด้วยมี 6 องค์ประกอบ คือ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) ขั้นตอนคือ (1) การเตรียมความพร้อม (Preparation : P) (2) การจัดกิจกรรมฝึกทักษะการอ่านประกอบด้วยการฝึกปฏิบัติ (Practise : P) มี 4 กิจกรรม ดังนี้ (2.1) ทบทวนความรู้เดิม (Review) (2.2) สร้างความเข้าใจ (Construct) (2.3) รับข้อมูล (Input) (2.4) สรุปความรู้จากการอ่าน (Conclude) และ 3) การวัดและประเมินผล (Evaluation : E) 4) ระบบสังคม 5) หลักการตอบสนอง และ 6) ระบบสนับสนุน สำหรับงานวิจัยนี้ เรียกรูปแบบการจัดการเรียนรู้ โดยย่อว่า PPE Model มีผลการตรวจสอบความเหมาะสม ในองค์ประกอบของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามวิธีการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า รูปแบบ การจัดการเรียนรู้มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก (x= 4.16,S.D = 0.08)
3) ผลการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมทักษะด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์วรรณคดีไทยสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ดังนี้ 3.1) ผลการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมทักษะด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์วรรณคดีไทยสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 82.38/80.89 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 3. 2) ผลการศึกษาทักษะด้านการอ่านวรรณคดีไทยก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 2 ก่อนเรียนมีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 15.23 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 1.63 หลังเรียนมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 24.27 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 1.20 ผลการทดสอบวัดทักษะด้านการอ่านวรณคดีไทยหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
4) ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมทักษะด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์วรรณคดีไทย โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (x = 4.53 ,S.D. = 0.03)