การประเมินโครงการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมฯโรงเรียนวัดพุทธบูชา
ด้านความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ ความเสียสละ และความมีวินัย
ของนักเรียนโรงเรียนวัดพุทธบูชา ปีการศึกษา 2564
ชื่อผู้วิจัย นางสาวสุรีรัตน์ กองขันท์
รองผู้อำนวยการโรงเรียนวัดพุทธบูชา
ปีที่ประเมิน ปีการศึกษา 2564
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ ด้านความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ ความเสียสละ และความมีวินัย ของนักเรียนโรงเรียนวัดพุทธบูชา ปีการศึกษา 2564 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิตของโครงการ รวมทั้งทราบปัญหาเพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะ ปรับปรุง พัฒนาการดำเนินงานของโครงการ รวมทั้งทราบปัญหาเพื่อให้ได้ข้อเสนอ ปรับปรุง พัฒนาการดำเนินงานของโครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ ด้านความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ ความเสียสละ และความมีวินัย ของนักเรียนโรงเรียนวัดพุทธบูชา ปีการศึกษา 2564 โดยใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model) ประเมินด้านบริบท (Context Evaluation) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ด้านกระบวนการ (Process Evaluation) และด้านผลผลิต (Product Evaluation) ประชากรที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้จำนวน 4,231 คน ประกอบไปด้วยนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ในปีการศึกษา 2564 จำนวน 2,058 คน ผู้ปกครองจำนวน 2,058 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 15 คน และ ครูผู้สอนโรงเรียนวัดพุทธบูชา จำนวน 100 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินในครั้งนี้ จำนวน 842 คน ประกอบด้วย นักเรียนโรงเรียนวัดพุทธบูชา ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ในปีการศึกษา 2564 จำนวน 374 คน ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนวัดพุทธบูชา จำนวน 374 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนวัดพุทธบูชา จำนวน 14 คน และ ครูผู้สอนโรงเรียนวัดพุทธบูชา จำนวน 80 คน โดยกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างของประชากรจากตารางเครจซีและมอร์แกน (Krejcie and Morgan) เครื่องมือที่ใช้ประกอบไปด้วย แบบสอบถาม จำนวน 8 ฉบับ แบบสัมภาษณ์ จำนวน 2 ฉบับ และแบบวัดพฤติกรรม จำนวน 4 ฉบับ รวมจำนวน 14 ฉบับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ สถิติบรรยาย ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติอ้างอิงใช้ t-Test แบบไม่อิสระ สถิติที่ใช้ในการหาค่าความตรงของเครื่องมือใช้สูตร IOC ใช้แอลฟ่า หาค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามและแบบทดสอบโดยใช้สูตรของครอนบาร์ค
ผลการประเมินโดยสรุป มีดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบท พบว่า มีตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 2 ตัวชี้วัด ดังนี้
1.1 ระดับความต้องการจำเป็นของโครงการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมาก
1.2 ระดับความเป็นไปได้ของโครงการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมาก
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า มีตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 2 ตัวชี้วัด ดังนี้
2.1 ระดับความเหมาะสมของกิจกรรม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมาก
2.2 ระดับความเหมาะสมของการบริหารจัดการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน ในระดับมาก
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ พบว่า มีตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 2 ตัวชี้วัด ดังนี้
3.1 ร้อยละของกิจกรรมที่ดำเนินการ พบว่า กิจกรรมที่ดำเนินการ ผ่านเกณฑ์การประเมิน ในระดับมาก
3.2 ร้อยละของการติดตามโครงการ พบว่า การติดตามโครงการ ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากที่สุด
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต มีตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 8 ตัวชี้วัด ดังนี้
4.1 นักเรียนมีความซื่อสัตย์ พบว่า หลังจากเข้าร่วมโครงการแล้ว นักเรียนมีความซื่อสัตย์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 ในระดับมากที่สุด
4.2 นักเรียนมีความรับผิดชอบ พบว่า หลังจากเข้าร่วมโครงการแล้ว นักเรียนมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 ในระดับมากที่สุด
4.3 นักเรียนมีความเสียสละ พบว่า หลังจากเข้าร่วมโครงการแล้ว นักเรียนมีความเสียสละเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 ในระดับมากที่สุด
4.4 นักเรียนมีความมีวินัย พบว่า หลังจากเข้าร่วมโครงการแล้ว นักเรียนมีวินัยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 ในระดับมากที่สุด
4.5 ระดับความพึงพอใจของนักเรียน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมาก
4.6 ระดับความพึงพอใจของผู้ปกครอง พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมาก
4.7 ระดับความพึงพอใจของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่าผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมาก
4.8 ระดับความพึงพอใจของครู พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับปานกลาง
ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้
1. จากผลการประเมิน ประเด็นปัจจัยนำเข้าตามตัวชี้วัดระดับความเหมาะสมของการบริหารจัดการ ตัวชี้วัดในการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอต่อการดำเนินโครงการ และมีการนิเทศ กำกับติดตามการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับปานกลาง ผู้บริหารจึงควรจัดสรรงบประมาณ สื่อ เอกสาร วัสดุอุปกรณ์ ให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนในการจัดสรรและอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานโครงการอย่างเพียงพอและกระจายให้ทั่วถึง และควรวางแผนดำเนินการบริหารจัดการโครงการเพื่อให้เกิดกระบวนการอย่างต่อเนื่อง มีกำหนดการแผนการดำเนินงาน มีการติดตามผล วัดผลประเมินผล เพื่อพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
2. จากผลการประเมิน ประเด็นผลผลิตของโครงการตามตัวชี้วัดความพึงพอใจของครูผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับปานกลาง ดังนั้น ผู้บริหารควรวางแผนการดำเนินโครงการอย่างรัดกุม ทำความเข้าใจ ชี้แจง และประชาสัมพันธ์ในการดำเนินโครงการให้กับครูที่จะต้องดำเนินกิจกรรมในโครงการภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และควรให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้แก่ นักเรียน ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครู ผู้บริหารและชุมชน ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดกิจกรรมและดำเนินกิจกรรม