นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
นางชุติมา กันทวีชัย ครูชำนาญการพิเศษ สพป.ชม.4
ชื่อผลงาน นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV สู่การจัดการห้องเรียน Active Learning
1. ความเป็นมาและความสำคัญของนวัตกรรม
เป้าหมายสำคัญของการจัดการศึกษา คือ การสร้างคนดี มีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถ เพื่อที่จะพัฒนาตนเอง ครอบครัวและประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ในด้านการจัดการเรียนรู้ ที่คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล การจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการทางสมอง และการจัดการเรียนรู้ที่เน้นคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งในการจัดการเรียนรู้ ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้สอนต้องจัดกระบวนการที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีบรรลุตามเป้าหมายของหลักสูตร เช่น กระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการ กระบวนการสร้างองค์ความรู้ กระบวนการคิด กระบวนการทางสังคม กระบวนการเผชิญสถานการณ์และแก้ปัญหา กระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง กระบวนการปฏิบัติ (Active Learning) กระบวนการจัดการกระบวนการวิจัย กระบวนการเรียนรู้ การเรียนรู้ของตนเอง และกระบวนการพัฒนาลักษณะนิสัย เป็นต้น
การพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีทางไกล (Distance Learning) เป็นการจัดการศึกษา ที่ใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอนในทุกห้องเรียน แก้ปัญหาการขาดแคลนครูในโรงเรียนขนาดเล็ก ครูสามารถจัดการเรียนรู้ในทุกสาระได้อย่างมีประสิทธิภาพ นักเรียนและครูได้เข้าถึง สื่อเทคโนโลยี ที่ทันสมัย นักเรียนและครูมีเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ในการ จัดการศึกษา การนำเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล (Distance Learning) มายกระดับคุณภาพการศึกษา เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ การจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (Distance Learning Television ; DLTV) และการจัดการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Distance Learning via Information Technology ; DLIT) มาดำเนินงานโดยเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา โดยมีการจัดสภาพการสนับสนุนการจัด การเรียนการสอน ของครูอย่างครบถ้วน ทั้งกระบวนการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้น กระบวนการสร้างความรู้ จากการลงมือปฏิบัติ เนื้อหา ตลอดจนสื่อและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการจัดเรียน การสอนอันจะเป็นการลดความเหลื่อมล้าทางการศึกษา ลดช่องว่างและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับ ประชาชนไทย ทุกคน อันเป็นการดำเนินการตามรอยเบื้องพระยุคลบาทและสนองพระราชดำริในการที่จะพัฒนาการศึกษาไทยให้เจริญก้าวหน้า
สอดคล้องกับหลักการของ กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียน โดยโรงเรียนบ้านสันทรายได้จัดกิจกรรม และจัดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีการพูดคุยแสดงความคิดเห็น และการลงมือปฏิบัติ ซึ่งกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning นั้น จะเน้นให้ผู้เรียน เรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเอง จากการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เรียน โดยมีครูจะเป็นผู้ชี้แนะและให้คำแนะนำ ผ่านกิจกรรมในชั้นเรียนต่าง ๆ
จากปีการศึกษาที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2559-2560 โรงเรียนบ้านสันทราย มีครูที่เกษียณอายุราชการ จำนวน 4 ท่าน และไม่ได้รับอัตราเกษียณคืน ซึ่งส่งผลกระทบในการบริหารจัดการโรงเรียน และส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอน ประกอบกับจำนวนนักเรียนที่เข้ารับบริการในโรงเรียนมีจำนวนไม่เกิน 120 คนในแต่ละปี ทำให้ให้ครูไม่ครบชั้นเรียน ซึ่งตรงกับแนวนโยบายรัฐบาล ซึ่งเห็นว่าการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบัน มีปัญหาที่สำคัญ คือปัญหาการขาดแคลนครู ครูสอนไม่ตรงกับวิชาเอก โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็ก(นักเรียนน้อยกว่า 120 คน) มีข้อจำกัดในการจัดการเรียนรู้ นอกเหนือจากมีครูไม่ครบชั้นแล้วยังพบว่าบางส่วนครูสอนโดยไม่ใช้สื่อ หรือนวัตกรรม อันเนื่องมาจากวัสดุ อุปกรณ์มีไม่เพียงพอ ส่งผลให้นักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กขาดโอกาสและความเท่าเทียมกับนักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้อนุมัติให้มีการขยายผลการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในโรงเรียนขนาดเล็ก พร้อมทั้งให้มีการดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วด้วยการนำสื่อการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมมาใช้ในการแก้ปัญหาและเสริมสร้างมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนของครู การบริหารจัดการศึกษาของผู้บริหาร และคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนภายใต้แนวคิดการดำเนินงาน ดังนี้
1. สร้างฐานการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนและการเรียนรู้ให้เป็นคนดี คนเก่งและมีความสุข โดยมีจุดเน้นที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียน คือ เปลี่ยนบทบาทของผู้เรียน จากผู้คอยรับความรู้อย่างเดียวมาเป็นผู้เรียนที่มีความกระตือรือร้น แสวงหาความรู้และฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้ความคิด และทักษะด้านต่างๆ ตามศักยภาพ ความถนัด และความเข้าใจของผู้เรียนโดยใช้สื่อทางไกลผ่านดาวเทียม ควบคู่ไปกับกระบวนการจัดการเรียนการสอน Active learning
2. สร้างฐานการพัฒนาครูสู่มาตรฐานการเรียนการสอนในฐานะผู้จัดการเรียนรู้สู่ครูมืออาชีพ โดยมีจุดเน้นที่ต้องการให้เกิดกับครูผู้สอน คือ การเปลี่ยนบทบาทของครูไปสู่ผู้อำนวยความสะดวกและส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ เป็นแบบอย่างที่ดีในการเรียนรู้ ร่วมคิด ร่วมเรียนรู้ ร่วมแก้ปัญหา กระตุ้น ชี้แนะ จัดให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หลังเรียนรู้ผ่านสื่อการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อให้ผู้เรียน สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง
3. สร้างฐานการพัฒนาการบริหารและการจัดการศึกษาของผู้บริหารเชิงระบบ โดยมีจุดเน้น ที่ต้องการให้เกิดกับโรงเรียน คือมุ่งที่จะเสริมสร้างและพัฒนาระบบการบริหารจัดการศึกษาให้บังเกิดประสิทธิผลด้านการบริหารงานวิชาการ โดยการสร้างสรรค์คุณภาพการศึกษาที่เน้นการมีส่วนร่วมและ การสอดแทรกกระบวนการเชิงระบบคุณภาพ (PDCA) ไปสู่การดำเนินงานคุณภาพ ภายในสถานศึกษาที่เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารและการจัดการเรียนการสอนสู่มาตรฐานการศึกษา
จากความสำคัญข้างต้น ข้าพเจ้าและคณะครูในโรงเรียนจึงได้นำกระบวนการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการ Active Learning มาบูรณาการร่วมกับการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV ซึ่งส่งผลผู้เรียนได้รับการพัฒนาทั้งด้านผลสัมฤทธิ์ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตลอดจนทักษะการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน
2. กระบวนการในการพัฒนานวัตกรรม
2.1 จุดประสงค์และเป้าหมาย ของการดำเนินงาน
2.1.1 เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการทดสอบระดับชาติ O-NET ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และ NT ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศ
2.1.2 เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ผ่านเกณฑ์การประเมิน ร้อยละ 80
2.1.3 เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีทักษะการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน ผ่านเกณฑ์การประเมิน ร้อยละ 80
2.1.4 เพื่อให้ครูให้สามารถจัดการเรียนรู้ด้วยสื่อทางไกลผ่านดาวเทียมอย่างมีประสิทธิภาพ ร้อยละ 80
2.2 กระบวนการผลิตผลงาน หรือขั้นตอนการดำเนินงาน
ข้าพเจ้าและคณะครู ได้ใช้หลักในการบริหารจัดการแบบ PDCA มาใช้ใน การบริหารงานวิชาการในโรงเรียน ร่วมกับการดำเนินการจัดการเรียนรู้ด้วยสื่อทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV และบูรณาการร่วมกับกระบวนการเรียนการสอน Active Learning
กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning
ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียน ข้าพเจ้าและคณะครูได้จัดกิจกรรม และจัดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีการพูดคุยแสดงความคิดเห็น และการลงมือปฏิบัติ ซึ่งกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning นั้น จะเน้นให้ผู้เรียน เรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเอง จากการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เรียน โดยมีครูจะเป็นผู้ชี้แนะและให้คำแนะนำ ผ่านกิจกรรมในชั้นเรียนต่าง ๆ เช่น
1. การเรียนรู้ผ่านการทำงาน (Work-based Learning) เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมผู้เรียนให้เกิดพัฒนาการทุกด้าน ฝึกปฏิบัติจริง ฝึกฝนทักษะทางสังคม ทักษะชีวิต ทักษะวิชาชีพการพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูง กำหนดวัตถุประสงค์ การกำหนดเนื้อหากิจกรรม และวิธีการประเมิน
2. การเรียนรู้ผ่านโครงงาน (Project-based Learning) ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงในลักษณะของการศึกษา สำรวจ ค้นคว้า ทดลอง ประดิษฐ์คิดค้น
3. การเรียนรู้ผ่านกิจกรรม (Activity-based Learning) ยึดหลักการให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง “Child Centered” การเรียนโดยการปฏิบัติจริง Learning by Doing และปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และแก้ปัญหาได้
ซึ่งข้าพเจ้าได้บูรณาการการใช้กระบวนการทำงาน PDCA ซึ่งมีขั้นตอนในการดำเนินงานดังนี้ ดังนี้
1. ขั้นวางแผน (Plan)
1.1 รับทราบนโยบายและกำหนดเป็นเป้าหมายการพัฒนาของโรงเรียน
โรงเรียนบ้านสันทราย รับนโยบายการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมอย่างเต็มรูปแบบ ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 –ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 นำมากำหนดเป็นนโยบาย/เป้าหมาย การพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพเชิงระบบ ด้วยการจัดการความรู้สู่การจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมและบูรณาการร่วมกับกระบวนการเรียนการสอน Active Learning
1.2 การแสวงหาความรู้เกี่ยวกับการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ด้วยการศึกษาคู่มือพระราชทานการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เอกสารแนวทางการการกำกับ ติดตามโครงการขยายผลการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และความรู้อื่นๆที่มีอยู่ตามแหล่งต่างๆ เช่นเว็บไซต์ มูลนิธิทางไกลผ่านดาวเทียม ฯลฯ ควบคู่กับการศึกษาการนำกระบวนการเรียนการสอน Active Learning เพื่อนำมาบูรณาร่วมกับการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV
1.3 ทบทวนหลักสูตร มีการดำเนินการทบทวนหลักสูตรและปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษา ให้มีความสอดคล้องกับแนวทางการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
1.4 ปรับโครงสร้างหลักสูตร เวลาเรียน - จำนวนชั่วโมง : ปี ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยโรงเรียนบูรณาการจากตารางสอนที่ปรากฏอยู่ในคู่มือครูสอนทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อทบทวน ปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตร เวลาเรียนในหลักสูตร เพื่อสะดวกต่อการบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษา
- บูรณาการในหน่วยการเรียนรู้ของกลุ่มสาระ โดยโรงเรียนพิจารณาจากหน่วยการเรียนรู้ที่ปรากฏ ในคู่มือสอนทางไกลผ่านดาวเทียม
- บูรณาการในมาตรฐานการเรียนรู้ของหน่วยการเรียนรู้ทางไกลผ่านดาวเทียม ประกอบด้วย มาตรฐานการเรียนรู้ข้อใดบ้างเพื่อเตรียมสู่การวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้
- จัดทำแผนการเรียนรู้รายชั่วโมงให้มีความสอดคล้องกับแนวทางการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม โดยปรับให้มีความยืดหยุ่นและสะดวกต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน จัดเตรียมสื่อวัสดุอุปกรณ์ ใบงาน ใบความรู้ และการวัดผลประเมินผลการเรียนรู้
- ชื่อหน่วยการเรียนรู้
- หัวข้อเรื่องที่ชัดเจน มาตรฐานการเรียนรู้ที่สอดคล้อง
- ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
- การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้สื่อการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม
ขั้นเตรียมการจัดการเรียนรู้
- เตรียมนักเรียน
- แจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้/ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
- แนะนำวิธีการเรียนรู้
- แบ่งกลุ่มนักเรียนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้
ขั้นการจัดการเรียนรู้โดยใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
- การนำเข้าสู่บทเรียน
- เตรียมความพร้อมก่อนชมรายการ
- การเรียนรู้จากการชมรายการโทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียม
ขั้นการกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้
- ซักถามสาระสำคัญหรือความรู้ที่ได้จากการเรียน
- นำสิ่งที่ไม่เข้าใจหรือประเด็นที่สงสัยที่ได้จากการเรียนมาอภิปราย
- มอบหมายงานให้นักเรียนปฏิบัติเป็นรายกลุ่ม/รายบุคคล
ขั้นสรุปและประเมินผลการเรียนรู้
-สรุปสาระสำคัญหรือความรู้ที่ได้รับจากการเรียนในแต่ละครั้ง โดยครูและนักเรียนร่วมกัน
- ตรวจสอบ/วัดผลการเรียนรู้ของนักเรียนตามตัวชี้วัด เพื่อจัดสอนซ่อมเสริมให้นักเรียน
- จัดให้นักเรียนศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม
1.6 ดูแลระบบและอำนวยความสะดวกการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมให้กับครูผู้สอน
2. ขั้นดำเนินงาน (Do)
1. ครูดำเนินการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยใช้คู่มือครูพระราชทาน ตามตารางการจัดการเรียนรู้
2. ดำเนินการสอนเสริมเติมเต็มในวิชาต่างๆ หลังบทเรียน
3. สอบถาม ซักถาม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูกับนักเรียน นักเรียนกับนักเรียน และหาข้อสรุป
องค์ความรู้ตามตัวชี้วัดในแต่ละวิชา
4. ปฏิบัติงานตามใบงาน ใบความรู้ควบคู่กับคู่มือครูพระราชทาน
5. ครูผู้สอนนำกระบวนการเทคนิคการสอนเข้ามาใช้ควบคู่เช่น การนำกระบวนการเรียนการสอน Active Learning มาใช้ในกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียน กระบวนเทคนิคการสอนเพื่อหรือวิธีการเรียนรู้โดยเทคนิคการเรียนแบบร่วมมือ (Cooperative Learning) วิธีการเรียนรู้โดยเทคนิคการเรียนแบบบูรณาการ เป็นต้น
3. ขั้นตรวจสอบ ประเมินผล (Check)
การดำเนินการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลโดยคณะกรรมการนิเทศภายในโรงเรียน ซึ่งนำโดย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสันทรายและคณะกรรมการนิเทศภายใน ดำเนินการติดตาม ตรวจสอบการปฏิบัติงานของครู การบันทึกผลหลังสอนของครูที่สะท้อนผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น นำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาให้เกิดประสิทธิผลตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่หลักสูตรกำหนดไว้ โดยผู้บริหารสถานศึกษาบันทึกผลการนิเทศเพื่อสรุปผลการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมเป็นอย่างไร มีปัญหา อุปสรรค อย่างไรบ้าง นักเรียนได้รับการพัฒนาเป็นอย่างไร เพื่อนำข้อมูลมาส่งเสริมและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของครูต่อไป
4. ขั้นปรับปรุงแก้ไขและพัฒนา (Action)
ข้าพเจ้าและคณะครู ได้ดำเนินการจัดประชุมทบทวนหลังการปฏิบัติงาน AAR (Action After Review) เพื่อวิเคราะห์ผลการดำเนินงานการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เป็นการสะท้อนสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นต่อไป ข้าพเจ้าได้จัดทำ รายงานประเมินผลการจัดการเรียนรู้ของครูที่สอนโดยใช้สื่อการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม รวมถึงผลที่เกิดขึ้นในด้านต่างๆ เช่น การปฏิรูปการสอนของครู การปฏิรูปการเรียนรู้ของนักเรียน การปฏิรูปการบริหารจัดการ มีผลการดำเนินงานบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ มีข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไข พัฒนาอย่างไร
3. ผลการดำเนินงาน
ผลการดำเนินการ/ผลสัมฤทธิ์/ประโยชน์ที่ได้รับ
ข้าพเจ้า และคณะครู ได้จัดการเรียนรู้ด้วยระบบการศึกษาทางไกลDLTV ควบคู่ไปกับกระบวนการเรียนการสอน Active learning ในทุกระดับชั้นตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แม้นโยบายการจัดการเรียนการสอนด้วยกระบวนการเรียนการสอน Active learning จะเน้นการดำเนินงานในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แต่ทางโรงเรียนได้เล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ได้จากการจัดการเรียนรู้ DLTV ควบคู่ไปกับกระบวนการเรียนการสอน Active learning จึงจัดกิจกรรมดังกล่าวในทุกระดับชั้น ซึ่งจากผลการดำเนินงานส่งผลให้นักเรียนและโรงเรียนประสบผลสำเร็จ ดังนี้
- นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับชาติขั้นพื้นฐาน( NT, O-NET) ทุกกลุ่มสาระวิชาเพิ่มขึ้นในปีการศึกษาในปีการศึกษา 2561 ทั้ง NT , ONET เมื่อเทียบกับปีการศึกษา 2560
คุณค่าของนวัตกรรม
ผลที่เกิดขึ้นต่อนักเรียน
1) นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีการศึกษาที่ผ่านมา
2) นักเรียนเป็นคนเก่ง คนดี และอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
ผลที่เกิดขึ้นต่อครูและผู้บริหารโรงเรียน
1) ครูและผู้บริหารมีคุณภาพเต็มตามศักยภาพ
2) ครูและผู้บริหารได้รับความไว้วางใจจากผู้ปกครองและชุมชนในการพัฒนาผู้เรียน
3) ครูและผู้บริหารสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผลที่เกิดขึ้นต่อสถานศึกษา
1) เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีคุณภาพ สามารถเป็นต้นแบบในการศึกษาดูงานจากในโรงเรียนในเขตพื้นที่และนอกเขตพื้นที่
2) โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ให้นักเรียนตามหลักสูตรสถานศึกษา
ผลที่เกิดต่อชุมชน
1) ผู้ปกครองชุมชนให้ความไว้วางใจต่อการจัดการศึกษาของโรงเรียน ทำให้จำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น
2) ผู้ปกครองชุมชนให้ความช่วยเหลือโรงเรียนในการพัฒนาการจัดการศึกษาของโรงเรียน
บทเรียนที่ได้รับ (Lesson Learned)
การพัฒนาการเรียนการสอนในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีข้อจำกัดหลายๆด้าน ทั้งด้านบุคลากร สถานที่ งบประมาณ การใช้เทคโนโลยีการศึกษาและการสื่อสารในยุคปัจจุบัน จึงเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องบุคล่ากรทุกฝ่ายต้องตระหนักและสร้างความพร้อมให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมนั้น กลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่นำมาใช้ในการพัฒนาการจัดการศึกษาในยุคโลกาภิวัฒน์ รวมถึงการแก้ปัญหาการจัดการศึกษาในทุกๆ มิติได้ อย่างไรก็ตามประสิทธิผลและประสิทธิภาพของการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมย่อมขึ้นอยู่กับการสร้างระบบบริหารจัดการที่ดีมีขั้นตอน โดยการปรับใช้ประยุกต์ใช้สื่อเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละแห่งเป็นสำคัญ โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ อีกทั้งยังต้องหากระบวนการจัดการเรียนรู้อื่นๆเพื่อนำมาบูรณาการในการจัดการศึกษา ซึ่งจากการที่โรงเรียนบ้านสันทราย ได้จัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV ร่วมกับการบูรณาการกระบวนการเรียนการสอน Active learning ส่งผลผู้เรียนได้รับการพัฒนาพร้อมกันในทุกๆด้านทั้งร่างกาย จิตใจและสติปัญญา