ผลการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบจำลองเป็นฐาน
สร้างแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง เซลล์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่
4/3 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบจำลองเป็นฐาน
ผู้ดำเนินการวิจัย เจนจิรา วิยาสิงห์
หน่วยงาน โรงเรียนหนองเรือวิทยา
ปี พ.ศ. พ.ศ 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการสร้างแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง เซลล์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่จัดการเรียนรู้โดยใช้แบบจำลองเป็นฐาน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ นักลุ่มเป้าหมายในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/3 ที่กำลังศึกษาใน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนsหนองเรือวิทยา จังหวัดขอนแก่น จำนวน 42 คน ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมี 2 ชนิดได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง เซลล์ โดยการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบจำลองเป็นฐาน (Model-based learning: MBL) จำนวน 6 แผน รวมเวลา 18 ชั่วโมงซึ่งเป็นแผนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นตามแนวคิดของ Schwarz et al. (2009) และ แบบวัดความสามารถในการสร้างแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง เซลล์ ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น จำนวน 4 ข้อ
สถิติที่ใช้ในงานวิจัยคือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติ Wilcoxon signed-rank test
ผลการวิจัยพบว่า
นักเรียนส่วนใหญ่มีความสามารถในการสร้างแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ก่อนเรียนอยู่ในระดับต่ำ และหลังจากเรียนรู้ด้วยการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบจำลองเป็นฐาน นักเรียนส่วนใหญ่พัฒนาความสามารถในการสร้างแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์อยู่ในระดับปานกลาง และผลการวิเคราะห์การเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยอันดับความสามารถในการสร้างแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ก่อนและหลังเรียนของนักเรียนพบว่า นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยอันดับความสามารถในการสร้างแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05