รายงานการประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน
ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน
โรงเรียนวัดดอน ปีการศึกษา 2564
ชื่อผู้รายงาน นายทนงศักดิ์ พอดี
ปีที่รายงาน 2564
รายงานการประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนวัดดอน ปีการศึกษา 2564 ในการประเมินครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินโครงการด้านสภาพแวดล้อม ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต โดยประยุกต์รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) กลุ่มตัวอย่างผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ นักเรียน ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครอง จำนวน 76 คน เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย แบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ และแบบบันทึกผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน การวิเคราะห์ข้อมูล โดยการหาค่า ร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย ( ) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ผลการประเมินสรุปได้ ดังนี้
1. ผลการประเมินด้านสภาพแวดล้อมของโครงการ พบว่า โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.64, S.D. = 0.46) ผ่านเกณฑ์การประเมิน
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ พบว่า โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ( = 4.42, S.D. = 0.56) ผ่านเกณฑ์การประเมิน
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการของโครงการ พบว่า โดยภาพรวมมีความเหมาะสม อยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.51, S.D. = 0.53) ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4. ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการ พบว่า
4.1 ผลการประเมินพฤติกรรมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนวัดดอน ปีการศึกษา 2564 พบว่า โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ( = 4.41, S.D. = 0.73) ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.2 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดดอน ปีการศึกษา 2564 มีคะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ในภาพรวม ร้อยละ 79.03 ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.3 ผลการประเมินระดับความพึงพอใจของนักเรียน ที่มีต่อโครงการส่งเสริมนิสัย รักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนวัดดอน ปีการศึกษา 2564 โดยภาพรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ( = 4.25, S.D. = 0.71) ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.4 ผลการประเมินระดับความพึงพอใจของครูและผู้ปกครองนักเรียน ที่มีต่อโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนวัดดอน ปีการศึกษา 2564 โดยภาพรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.61, S.D. = 0.52) ผ่านเกณฑ์การประเมิน
5. การประมวลข้อเสนอแนะที่มีต่อโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนวัดดอน ปีการศึกษา 2564 พบว่า ด้านสภาพแวดล้อม ควรจัดบรรยากาศให้เอื้อต่อการอ่าน ด้านปัจจัยเบื้องต้น ควรเพิ่มหนังสือนิทานที่มีภาพสวย ๆ ไว้ในห้องสมุดให้มากขึ้น เพื่อจูงใจให้นักเรียนสนใจการอ่าน ด้านกระบวนการ ควรเพิ่มการรายงานผลการจัดกิจกรรมให้ผู้เกี่ยวข้องทราบผ่านช่องทางออนไลน์ และด้านผลผลิต ควรส่งเสริมให้นักเรียนเข้าประกวด แข่งขัน ในด้านการอ่าน ที่จัดโดยหน่วยงานต่าง ๆ
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้
1. จากผลการประเมินโครงการด้านสภาพแวดล้อม ที่พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมิน ดังนั้น โรงเรียนต้องให้ความสำคัญกับการประชุมชี้แจงให้บุคลากรทุกคนในสถานศึกษา และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกันกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการ ผู้ที่มีส่วนร่วมจะมีความรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการหรือองค์การ ความรู้สึกเป็นเจ้าของจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนองค์การและหน่วยงานได้ดีที่สุด
2. จากผลการประเมินโครงการด้านปัจจัยเบื้องต้น ที่พบว่า อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน ดังนั้น โรงเรียนควรมีการระดมทรัพยากรทางการศึกษาจากชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา หากงบประมาณเพียงพอจะส่งผลให้การบริหารจัดการโครงการมีความคล่องตัว สามารถจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ เอกสาร ที่ใช้ในการดำเนินโครงการและปรับปรุงสภาพแวดล้อม อาคารสถานที่ให้มีความเหมาะสมเพียงพอ อีกทั้งโรงเรียนควรส่งเสริมให้ครูและบุคลากรได้รับการอบรมพัฒนาเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ ความรู้ความสามารถและเจตคติที่ดีต่อการดำเนินการขับเคลื่อนโครงการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์
3. จากผลการประเมินโครงการด้านกระบวนการ ที่พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมิน ดังนั้น โรงเรียนควรศึกษาสภาพปัญหาความต้องการการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านอย่างหลากหลาย สนองความต้องการของนักเรียน โดยจัดการประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและร่วมกันวางแผนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ กำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบเหมาะสม ตรงตามความรู้ความสามารถของบุคลากร และควรดำเนินโครงการเป็นไปตามปฏิทินที่กำหนด นำกระบวนการบริหารแบบมีส่วนร่วม และกระบวนการเชิงระบบ ใช้วงจรคุณภาพ (PDCA) มาเป็นกลยุทธ์ในการดำเนินโครงการ ประสานงานกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินโครงการ ตลอดจนกำกับติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน และร่วมกันกำหนดแนวทางในการปรับปรุงพัฒนาโครงการให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
4. จากผลการประเมินด้านผลผลิต ที่พบว่า พฤติกรรมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ดังนั้น โรงเรียนควรประชาสัมพันธ์รายละเอียดการดำเนินโครงการให้นักเรียนและผู้ปกครองทราบอย่างทั่วถึง เพื่อให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่าน กิจกรรมมีรายละเอียดการปฏิบัติที่เหมาะสมกับวัย สร้างความน่าสนใจ และสร้างบรรยากาศบริเวณโรงเรียนและห้องสมุดให้เอื้อต่อการอ่าน สำรวจความต้องการหนังสือที่นักเรียนต้องการอ่าน และจัดซื้อหนังสือตามความต้องการในปริมาณที่เพียงพอกับการอ่าน ทำให้นักเรียนมีความสนใจอยากเข้าร่วมกิจกรรม
5. จากผลการประเมินด้านผลผลิต ที่พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 70 ขึ้นไป เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ดังนั้น โรงเรียนควรให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพนักเรียนด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยการส่งเสริม สนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้มีความหลากหลาย ทำให้นักเรียน มีความสนใจในการทำกิจกรรม มีการพัฒนาห้องสมุด IT และหนังสือให้ทันสมัย สอดคล้องกับความสนใจและวัยของนักเรียน การอ่านนอกจากทำให้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่าน และรักการเรียนรู้แล้ว การอ่านยังส่งผลต่อการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วย
6. จากผลการประเมินด้านผลผลิต ที่พบว่า ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ดังนั้น โรงเรียนจึงควรจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้มีกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียน และมีการจัดกิจกรรมกระตุ้นความอยากรู้ในสิ่งที่จะอ่าน โดยมีครูเป็นตัวอย่างในการอ่าน เปิดโอกาสให้ได้อ่านในสิ่งที่สามารถพูดคุยกับกลุ่มเพื่อนในเรื่องเดียวกันได้ มีเป้าหมายในการอ่านร่วมกัน และมีกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้นำสาระที่ได้จากการอ่านไปสร้างให้เกิดประโยชน์ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง และมีทัศนคติที่ดีต่อการอ่าน
7. จากผลการประเมินด้านผลผลิต ที่พบว่า ความพึงพอใจของครู และผู้ปกครองนักเรียน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ดังนั้น โรงเรียนควรจัดการประชุมร่วมกัน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายในการดำเนินงาน และร่วมรับผิดชอบผลของการปฏิบัติเพื่อให้การดำเนินงานโครงการสำเร็จตามเป้าหมาย และโรงเรียนต้องรายงานผลให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ทราบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความร่วมมือและเจตคติที่ดีต่อโครงการ
ข้อเสนอแนะในการประเมินครั้งต่อไป
1. ควรศึกษารูปแบบการประเมินอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากรูปแบบซิปป์โมเดล (CIPP Model) เพื่อเปรียบเทียบผลการประเมิน
2. ควรศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษาที่มีต่อการดำเนินงานโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน