การเสริมสร้างคุณลักษณะความเป็นคนดีโดยใช้WATMAI MODEL
ผู้วิจัย นางสาวนันทวรรณ ชูมนตรี
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านวัดใหม่
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 1
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2563 – 2564
บทคัดย่อ
การเสริมสร้างคุณลักษณะความเป็นคนดีของนักเรียน โดยใช้ WATMAI MODEL โรงเรียนบ้านวัดใหม่ ปีการศึกษา 2563 – 2564 มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาระดับการเสริมสร้างคุณลักษณะความเป็นคนดีของนักเรียน โดยใช้ WATMAI MODEL โรงเรียนบ้านวัดใหม่ ปีการศึกษา 2563 – 2564 2) เพื่อศึกษาคุณลักษณะความเป็นคนดีของนักเรียน โรงเรียนบ้านวัดใหม่ โดยใช้ WATMAI MODEL หลังการพัฒนาปีการศึกษา 2563 – 2564 ด้านความซื่อสัตย์ ด้านความมีวินัย ด้านความพอเพียง ด้านความรับผิดชอบ ด้านความมีจิตอาสา 3) เพื่อศึกษาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรสถานศึกษา โรงเรียนบ้านวัดใหม่ หลังการพัฒนาปีการศึกษา 2563 – 2564 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและหน่วยงาน/องค์กรภาคีเครือข่าย ที่มีต่อการเสริมสร้างคุณลักษณะความเป็นคนดีของนักเรียน โดยใช้ WATMAI MODEL โรงเรียนบ้านวัดใหม่ หลังการพัฒนาปีการศึกษา 2563 – 2564 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 61 คน และปีการศึกษา 2564 จำนวน 55 คน ครู ปีการศึกษา 2563 และปีการศึกษา 2564 จำนวน 9 คน ผู้ปกครอง ปีการศึกษา 2563 จำนวน 60 คน และปีการศึกษา 2564 จำนวน 55 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานปีการศึกษา 2563 และปีการศึกษา 2564 จำนวน 7 คน และหน่วยงาน/องค์กรภาคีเครือข่ายโรงเรียนบ้านวัดใหม่ ปีการศึกษา 2563 และปีการศึกษา 2564 จำนวน 18 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ ข้อมูลมี 2 ลักษณะ ได้แก่แบบสอบถามที่มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 3 ฉบับ และแบบสังเกตพฤติกรรมนักเรียน จำนวน 1 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 4 ฉบับ ทุกฉบับมีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือ ได้ค่าความเชื่อมั่นแต่ละฉบับอยู่ระหว่าง .926 - .958 ผู้วิจัยดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และค่าร้อยละ (Percentage)
ผลการวิจัยพบว่า
1. สรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูลระดับการเสริมสร้างคุณลักษณะความเป็นคนดีของนักเรียน โดยใช้ WATMAI MODEL โรงเรียนบ้านวัดใหม่ ปีการศึกษา 2563 – 2564 ตามความคิดเห็นของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และหน่วยงาน/องค์กรภาคีเครือข่าย หลังการพัฒนา พบว่า
ปีการศึกษา 2563 คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด อยู่ในระดับมาก (x-bar = 3.78 , S.D. = .67) รองลงมา คือ หน่วยงาน/องค์กรภาคีเครือข่าย มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (x-bar = 3.75 , S.D. = .71) ส่วนนักเรียน มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ในระดับมากเช่นกัน (x-bar = 3.61 , S.D. = .57)
ปีการศึกษา 2564 นักเรียน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด อยู่ในระดับมาก (x-bar = 4.34 , S.D. = .58) รอง ลงมาคือ ครู มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (x-bar = 4.25 , S.D.= .63) ส่วนหน่วยงาน/องค์กรภาคีเครือข่าย มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ในระดับมากเช่นกัน (x-bar = 4.17 , S.D.= .71) สอดคล้องกับสมมติฐาน
2. สรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมนักเรียนที่สะท้อนถึงคุณลักษณะความเป็นคนดีของนักเรียน ตามตัวบ่งชี้ที่โรงเรียนกำหนด โดยใช้ WATMAI MODEL หลังการพัฒนา ปีการศึกษา 2563- 2564 ตามความคิดเห็นของครู และผู้ปกครอง พบว่า
การศึกษา 2563 โดยภาพรวมทั้งสองกลุ่มที่ประเมิน อยู่ในระดับดีมาก โดยผู้ปกครองมีค่าเฉลี่ยสูงสุด อยู่ในระดับดีมาก ( x-bar= 3.86 , S.D. = .84) รองลงมาคือ ครู มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับดีมากเช่นกัน (x-bar = 3.66 , S.D. = .65)
ปีการศึกษา 2564 โดยภาพรวมทั้งสองกลุ่มที่ประเมิน อยู่ในระดับดีมาก โดยผู้ปกครองมีค่าเฉลี่ยสูงสุด อยู่ในระดับดีมาก ( x-bar = 4.32 , S.D. = .62) รองลงมาคือ ครู มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับดีมากเช่นกัน (x-bar = 4.27 , S.D. = .63) สอดคล้องกับสมมติฐาน
3. สรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมนักเรียนที่สะท้อนถึงคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรสถานศึกษา โรงเรียนบ้านวัดใหม่ โดยใช้ WATMAI MODEL หลังการพัฒนา ปีการศึกษา 2563 – 2564 นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1- 6 ตามแบบสังเกตพฤติกรรมของครูประจำชั้น พบว่า โดยภาพรวม ปีการศึกษา 2563 คุณลักษณะอันพึงประสงค์มีคุณภาพระดับดีมากขึ้นไป ร้อยละ 89.79 ส่วนปีการศึกษา 2564 คุณลักษณะอันพึงประสงค์มีคุณภาพระดับดีมากขึ้นไป ร้อยละ 93.63 สอดคล้องกับสมมติฐาน
4. สรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูลความพึงพอใจของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และและหน่วยงาน/องค์กรภาคีเครือข่าย ที่มีต่อการเสริมสร้างคุณลักษณะความเป็นคนดีของนักเรียน โดยใช้ WATMAI MODEL โรงเรียนบ้านวัดใหม่ หลังการพัฒนา ปีการศึกษา 2563 – 2564 พบว่า
ปีการศึกษา 2563 โดยภาพรวมทุกกลุ่มที่ประเมิน มีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาแต่ละกลุ่มที่ประเมิน พบว่า คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจสูงสุด อยู่ในระดับมาก ( x-bar= 4.36 , S.D. = .39) รองลงมาคือ หน่วยงาน/องค์กรภาคีเครือข่าย มีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ( x-bar= 4.27 , S.D. = .68) ส่วนนักเรียน มีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจต่ำสุด อยู่ในระดับมากเช่นกัน (x-bar = 3.61 , S.D. = .58)
ปีการศึกษา 2564 โดยภาพรวมทุกกลุ่มที่ประเมิน มีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก – มากที่สุด และเมื่อพิจารณาแต่ละกลุ่มที่ประเมิน พบว่า คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจสูงสุด อยู่ในระดับมากที่สุด ( x-bar= 4.62 , S.D. = .40) รองลงมา คือ หน่วยงาน/องค์กรภาคีเครือข่าย มีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด ( x-bar= 4.53, S.D. = .60) ส่วนนักเรียน มีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจต่ำสุด อยู่ในระดับมาก ( x-bar= 4.35 , S.D. = .58) สอดคล้องกับสมมติฐาน
ข้อเสนอแนะ
จากการวิจัยการเสริมสร้างคุณลักษณะความเป็นคนดีของนักเรียน โดยใช้ WATMAI MODEL โรงเรียนบ้านวัดใหม่ ปีการศึกษา 2563 – 2564 ครั้งนี้ทำให้ได้ค้นพบจุดเด่น ของการมีแบบอย่างที่ดีซึ่งเป็นประโยชน์และแนวทางในการเสริมสร้างคุณลักษณะความเป็นคนดีของนักเรียนต่อไป
1. ข้อเสนอแนะเพื่อการนำผลการวิจัยไปใช้
1.1 ด้าน W : Willing (เต็มใจรับฟังโดยทั่ว) ผู้บริหารควรรับฟังปัญหา ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากทุกฝ่ายโดยไม่มีอคติจะทำให้ได้ข้อเท็จจริง และเป็นข้อมูลที่นำมาวางแผนในการเสริมสร้างคุณลักษณะความเป็นคนดีของนักเรียนได้ตรงประเด็นและสอดคล้องกับความต้องการของทุกฝ่าย
1.2 ด้าน A : Awareness (ตื่นตัวสร้างการรับรู้) ผู้บริหาร ครูและบุคลกร ควรสร้างการรับรู้ ควรชี้แจงทำความเข้าใจและสร้างความตระหนักให้แก่ นักเรียน ครู ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา และหน่วยงาน/องค์กรภาคีเครือข่าย ให้รับทราบ เข้าใจ และตระหนักถึง ความสำคัญในการเสริมสร้างคุณลักษณะความเป็นคนดีของนักเรียน ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยจะต้องเข้าใจอย่างชัดเจนทั้งวิธีการและเนื้อหาสาระในการเสริมสร้างพฤติกรรมความเป็นคนดีของนักเรียน
1.3 ด้าน T : Team Work (สู่ความเข้มแข็งทีมงาน) โรงเรียนควรประสานความร่วมมือในการทำงาน กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้เข้ามาส่วนร่วมในการทำงาน และพร้อมรับฟังความคิดเห็นที่ก่อให้เกิดความแตกต่างอันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น มีบรรยากาศที่ดีในการทำงาน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันเพื่อให้งานประสบผลสำเร็จ สู่เป้าหมายเดียวกันคือความเป็นคนดีของนักเรียน
1.4 ด้าน M : Management (มีการบริหารจัดการที่ดี) โรงเรียนควรกำหนดแนวนโยบายที่ชัดเจน เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินงานในการเสริมสร้างคุณลักษณะความเป็นคนดีของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนสามารถประพฤติปฏิบัติตนเป็นสมาชิกที่ดีของโรงเรียนและของสังคมต่อไปในอนาคต
1.5 ด้าน A : Active Learning (เน้นวิธีลงมือกระทำ) โรงเรียนควรจัดกิจกรรมสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องและควรประเมินพฤติกรรม/คุณลักษณะความเป็นคนดีของนักเรียนตามตัวชี้วัดที่โรงเรียนกำหนดอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อดูการพัฒนาและแนวโน้มคุณลักษณะความเป็นคนดีให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
1.6 ด้าน I : Idol (จดจำแบบอย่างที่ดี) โรงเรียนควรมีกิจกรรมสร้างสรรค์ที่กระตุ้นให้นักเรียนเกิดความอยากที่จะเลียนแบบหรือปฏิบัติตามบุคลที่เป็นแบบอย่าง ทั้งจากเพื่อน ครู ครอบครัว และครูควรให้กำลังใจในการปฏิบัติตนของนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ
1.7 หลังการพัฒนา โรงเรียนควรมีการตรวจสอบพฤติกรรมที่สะท้อนคุณลักษณะความเป็นคนดีอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง เพื่อดูแนวโน้มความยั่งยืนความเป็นคนดีของนักเรียนพร้อมทั้งทบทวนกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนที่มีการเปลี่ยนแปลงไป
2. ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป
2.1 ควรศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการเป็นคนดีของนักเรียนอย่างยั่งยืน
2.2 ควรศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคุณลักษณะความเป็นคนดีกับความเป็นคนเก่งของนักเรียนเพื่อให้นักเรียนเป็นคนดีและเก่งอย่างยั่งยืน