รายงานการประเมินโครงการพัฒนาการอ่านออก เขียนได้ของนักเรียน
ชื่อผู้วิจัย นางสาวปฐมาวดี มูลวัน
ปีที่ศึกษา 2565
คำสำคัญ การประเมินโครงการ/การอ่านออก/เขียนได้/นักเรียนชั้นประถมศึกษา
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) ประเมินสภาวะแวดล้อมของโครงการพัฒนาการอ่านออก เขียนได้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาโรงเรียนบ้านหนองบัว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 2) ประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการพัฒนาการอ่านออก เขียนได้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาโรงเรียนบ้านหนองบัว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 3) ประเมินกระบวนการในการดำเนินโครงการพัฒนาการอ่านออก เขียนได้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาโรงเรียนบ้านหนองบัว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 และ 4) ประเมินผลผลิตของโครงการพัฒนาการอ่านออก เขียนได้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาโรงเรียนบ้านหนองบัว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 โดยผู้ประเมินโครงการได้นำรูปแบบการประเมินแบบ CIPP Model ของสตัฟเฟิลบีม มาใช้ในการศึกษา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอนวิชาภาษาไทยระดับชั้นประถมศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนชั้นประถมศึกษา ผู้ปกครองนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ปีการศึกษา 2564 จำนวน 317 คน ที่ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามมีลักษณะเป็นมาตรประมาณค่า 5 ระดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า
1. การประเมินสภาวะแวดล้อม พบว่า มีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก โดยเห็นว่าโครงการพัฒนาการอ่านออก เขียนได้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาโรงเรียนบ้านหนองบัว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 กำหนดหลักการและเหตุผลสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 และมีการวิเคราะห์สภาพปัญหาและความจำเป็นในการจัดทำโครงการ
2. การประเมินปัจจัยนำเข้า พบว่า มีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด โดยเห็นว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานโครงการโครงการพัฒนาการอ่านออก เขียนได้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาโรงเรียนบ้านหนองบัว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 มีไว้อย่างชัดเจน และการตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินโครงการของผู้บริหารโรงเรียน ครู และความเหมาะสมของจำนวนบุคลากรที่ใช้ในการดำเนินโครงการ
3. การประเมินกระบวนการ พบว่า มีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด โดยเห็นว่าครูมีการใช้สื่อ และนวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนและโรงเรียนมีการประชุมวางแผนการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนซึ่งอยู่ในระดับมากที่สุด
4. การประเมินผลผลิต พบว่า มีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งรายการที่มีผลการประเมินที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ คำแนะนำจากคณะนิเทศสามารถทำให้ครูปรับการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ การดำเนินโครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อยู่ในระดับมากที่สุด