การพัฒนารูปแบบบริหารจัดการขยะเพื่อส่งเสริมความพอเพียงของนักเรียน
ชื่อผู้วิจัย ว่าที่ร้อยตรีวิทวัส นาจพินิจ
ปีการศึกษา 2563-2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนารูปแบบบริหารจัดการขยะเพื่อส่งเสริมความพอเพียงของนักเรียนโรงเรียนวัดบ้านดาบ โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะของการวิจัย ดังนี้ 1) เพื่อสร้างรูปแบบบริหารจัดการขยะเพื่อส่งเสริมความพอเพียงของนักเรียนโรงเรียนวัดบ้านดาบ 2) เพื่อประเมินผลการใช้รูปแบบบริหารจัดการขยะเพื่อส่งเสริมความพอเพียงของนักเรียนโรงเรียนวัดบ้านดาบ โดยมีวัตถุประสงค์ย่อย ดังนี้ 2.1) เพื่อประเมินความพอเพียงของนักเรียนจากการใช้รูปแบบบริหารจัดการขยะเพื่อส่งเสริมความพอเพียงของนักเรียนโรงเรียนวัดบ้านดาบ 2.2) เพื่อเปรียบเทียบความพอเพียงของนักเรียนก่อนและหลังการใช้รูปแบบบริหารจัดการขยะเพื่อส่งเสริมความพอเพียงของนักเรียนโรงเรียนวัดบ้านดาบ 2.3) เพื่อประเมินความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบบริหารจัดการขยะเพื่อส่งเสริมความพอเพียงของนักเรียนโรงเรียนวัดบ้านดาบ การดำเนินการวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้ 1) การสร้างรูปแบบบริหารจัดการขยะเพื่อส่งเสริมความพอเพียงของนักเรียนโรงเรียนวัดบ้านดาบ ประกอบด้วย 1.1) ศึกษาสภาพ ปัญหาและความต้องการในการบริหารจัดการขยะ และการส่งเสริมความพอเพียงของนักเรียนโรงเรียนวัดบ้านดาบ โดยการวิเคราะห์เอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง แบบสอบถามคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และการสนทนากลุ่มบุคลากรผู้เกี่ยวข้องในโรงเรียนวัดบ้านดาบ 1.2) ร่างรูปแบบบริหารจัดการขยะเพื่อส่งเสริมความพอเพียงของนักเรียนโรงเรียนวัดบ้านดาบ โดยสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อยกร่างรูปแบบ และตรวจสอบความตรงของรูปแบบ 1.3) ทดลองใช้รูปแบบบริหารจัดการขยะเพื่อส่งเสริมความพอเพียงของนักเรียนโรงเรียนวัดบ้านดาบ โดยจัดประชุมสรุปผลการทดลองใช้รูปแบบ และเก็บข้อมูลโดยแบบสอบถามจากแหล่งข้อมูล และ 2) การประเมินผลการใช้รูปแบบบริหารจัดการขยะเพื่อส่งเสริมความพอเพียงของนักเรียนโรงเรียนวัดบ้านดาบ โดยใช้แบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 2 ฉบับ เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครอง และนักเรียนโรงเรียนวัดบ้านดาบ รวมจำนวน 232 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย (mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation) และการทดสอบที (t–test)
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบบริหารจัดการขยะเพื่อส่งเสริมความพอเพียงของนักเรียนโรงเรียนวัดบ้านดาบ มีองค์ประกอบ 4 องค์ประกอบ คือ 1) หลักการและแนวคิด ได้แก่ ความเป็นมาและความสำคัญ หลักการและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง 2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบ 3) โครงสร้างของรูปแบบ ได้แก่ รูปแบบบริหารจัดการขยะฯ กิจกรรมการจัดการขยะ และ 4) การประเมินผลรูปแบบ ได้แก่ ความพอเพียงของนักเรียน และความพึงพอใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรูปแบบมีขั้นการจัดกิจกรรมการจัดการขยะ 6 ขั้น คือ 1) ขั้นสร้างทีมงาน 2) ขั้นกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก 3) ขั้นชี้แนะแนวทาง 4) ขั้นพัฒนาต่อยอด 5) ขั้นประยุกต์ใช้สู่ความพอเพียง และ 6) ขั้นเป็นแบบอย่าง โดยบูรณาการสู่การจัดการขยะตามหลัก 3Rs และการคัดแยกขยะ 4 ประเภท ผลการตรวจสอบความตรงของรูปแบบโดยผู้เชี่ยวชาญพบว่า รูปแบบมีความสอดคล้องและมีความเหมาะสม อยู่ในระดับมากที่สุด และคู่มือรูปแบบมีความเหมาะสม อยู่ในระดับมากที่สุด
2. ผลการประเมินความพอเพียงของนักเรียนจากการใช้รูปแบบบริหารจัดการขยะเพื่อส่งเสริมความพอเพียงของนักเรียนโรงเรียนวัดบ้านดาบ ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน ได้แก่ 1) ด้านความพอประมาณ โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นักเรียนมีการลดการใช้ ใช้ซ้ำและนำขยะกลับมาใช้ใหม่ นักเรียนใช้สิ่งของเครื่องใช้หรือทรัพยากรอย่างคุ้มค่าก่อนทิ้งเป็นขยะ และนักเรียนใช้สิ่งของที่เหมาะสมกับวัยและฐานะความเป็นอยู่ ตามลำดับ 2) ด้านความมีเหตุผล โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นักเรียนคัดแยกขยะตามประเภทก่อนทิ้ง นักเรียนทิ้งขยะลงถังไม่ทิ้งเรี่ยราด และนักเรียนปฏิบัติตนตามกฎระเบียบและข้อตกลงในสังคม เช่น การทิ้งขยะ การรักษาความสะอาด ตามลำดับ และ 3) ด้านมีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นักเรียนคัดแยกขยะและนำมาเป็นขยะรีไซเคิลไปขายเพื่อสร้างรายได้ นักเรียนปฏิบัติตนหลีกเลี่ยงห่างไกลจากโรคภัยอันตรายต่างๆ และนักเรียนอนุรักษ์รักษาและไม่ทำลายทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามลำดับ
3. ผลการเปรียบเทียบความพอเพียงของนักเรียนก่อนและหลังการใช้รูปแบบบริหารจัดการขยะเพื่อส่งเสริมความพอเพียงของนักเรียนโรงเรียนวัดบ้านดาบ ในภาพรวมทุกด้าน หลังการใช้สูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านความพอประมาณ ด้านความมีเหตุผล และด้านมีภูมิคุ้มกันที่ดี หลังการใช้สูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. ผลการประเมินความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบบริหารจัดการขยะเพื่อส่งเสริมความพอเพียงของนักเรียนโรงเรียนวัดบ้านดาบ ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การจัดกิจกรรมตามรูปแบบบริหารจัดการขยะในโรงเรียนสามารถส่งเสริมความพอเพียงให้แก่นักเรียนได้ นักเรียนมีภูมิคุ้มกันที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลง และนักเรียนมีเหตุผล ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการส่งเสริมความพอเพียงของนักเรียน ตามลำดับ