การประเมินโครงการธนาคารขยะของโรงเรียนเทศบาลบ้านเขานิเวศน์
ผู้ประเมิน นางสาวเกื้อกชภรณ์ ขวัญทอง ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา
วิทยฐานะ รองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ โรงเรียนเทศบาลบ้านเขานิเวศน์
สังกัดเทศบาลเมืองระนอง
ปีที่ประเมิน 2564
บทคัดย่อ
การประเมินครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินบริบทของโครงการธนาคารขยะเกี่ยวกับ
ความสอดคล้องระหว่างวัตถุประสงค์ของโครงการ นโยบายของสังกัดเทศบาลเมืองระนอง นโยบาย
โรงเรียน และความจำเป็นของโรงเรียน 2) ประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการเกี่ยวกับความเหมาะสม/
เพียงพอของกิจกรรมย่อยเกี่ยวกับบุคลากร วิทยากร งบประมาณ การบริหารจัดการ ระยะเวลา สถานที่ วัสดุอุปกรณ์ ความรู้ ความสามารถของคณะทำงาน การสนับสนุนของฝ่ายบริหารโรงเรียน ผู้ปกครอง และบุคลากรในชุมชน 3) ประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการดำเนินงานตามโครงการธนาคารขยะเกี่ยวกับความร่วมมือของคณะทำงานและผู้เกี่ยวข้อง ปฏิทินการปฏิบัติงาน บทบาทหน้าที่ ขั้นตอน จุดเด่น จุดด้อย การนิเทศติดตามผลและสิ่งที่ต้องแก้ไขในการดำเนินงาน 4) ประเมินผลผลิตของโครงการธนาคารขยะ และ 5) ประเมินผลกระทบของโครงการธนาคารขยะที่มีต่อบ้าน วัด โรงเรียนซึ่งได้แก่ ประโยชน์และผลดีของการดำเนินการตามโครงการธนาคารขยะที่มีต่อบ้าน วัด โรงเรียน
6) ประเมินความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครองที่มีต่อโครงการธนาคารขยะ กลุ่มตัวอย่าง คือ ครูที่รับผิดชอบแต่ละกิจกรรม ครูประจำชั้น นักเรียนโรงเรียนเทศบาลบ้านเขานิเวศน์ ผู้ปกครองนักเรียน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน รวม 1,732 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม และแบบประเมินความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินพบว่า
1. ผลการประเมินบริบทของโครงการธนาคารขยะของโรงเรียนเทศบาลบ้านเขานิเวศน์ตามความคิดเห็นของผู้บริหาร ครูผู้รับผิดชอบโครงการ ครูผู้รับผิดชอบกิจกรรมย่อยในโครงการ และครูประจำชั้น พบว่า วัตถุประสงค์ของโครงการกับนโยบายของสังกัดเทศบาลเมืองระนอง นโยบายของโรงเรียน ความต้องการและความจำเป็นของโรงเรียน มีความสอดคล้องอยู่ในระดับมาก
2. ผลการประเมินปัจจัยนำเข้าด้านความเหมาะสมและพอเพียงเกี่ยวกับบุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ สถานที่ และการบริหารจัดการตามความคิดเห็นของผู้บริหาร ครูผู้รับผิดชอบโครงการ ครูผู้รับผิดชอบกิจกรรมย่อยในโครงการ และครูประจำชั้น ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก
3. ผลการประเมินประสิทธิภาพกระบวนการดำเนินงานตามโครงการธนาคารขยะตามความคิดเห็นบุคลากรภายในโรงเรียน ได้แก่ ผู้บริหาร ครูผู้รับผิดชอบโครงการ ครูผู้รับผิดชอบกิจกรรมย่อยในโครงการ และครูประจำชั้น ในด้านการจัดการเรียนรู้ ด้านบรรยากาศ ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก
4. ผลการประเมินผลผลิตของโครงการ พบว่า ผลผลิตของโครงการ พฤติกรรมการคัดแยกสร้างมูลค่าขยะ ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก
5. ผลการประเมินผลกระทบของโครงการ ผลกระทบต่อผู้ปกครอง ชุมชม (บ้าน) ผลกระทบต่อวัด และผลกระทบต่อโรงเรียน ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก
6. ผลการประเมินความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อโครงการธนาคารขยะของโรงเรียนเทศบาลบ้านเขานิเวศน์ พบว่า คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียน มีความพึงพอใจต่อโครงการธนาคารขยะของโรงเรียนเทศบาลบ้านเขานิเวศน์ อยู่ในระดับมาก