รายงานการประเมินโครงการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยนักเรียน
“ หนูน้อยสุขภาพดี ชีวีเป็นสุข ” ของโรงเรียนบ้านฉลีกหนองมะแซว
ผู้วิจัย นายยุทธนา สัมฤทธิ์ผ่อง
สถาศึกษา โรงเรียนบ้านฉลีกหนองมะแซว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 3
ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยนักเรียน “ หนูน้อยสุขภาพดี ชีวีเป็นสุข ”
ของโรงเรียนบ้านฉลีกหนองมะแซว มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อประเมินโครงการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยนักเรียน “หนูน้อยสุขภาพดี ชีวีเป็นสุข” ของโรงเรียนบ้านฉลีกหนองมะแซว ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลลัพธ์ 2) เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของสุขภาพและอนามัยของนักเรียน ระหว่างก่อนและหลังดำเนินโครงการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยนักเรียน “ หนูน้อยสุขภาพดี ชีวีเป็นสุข ” ของโรงเรียนบ้านฉลีกหนองมะแซว และ 3) เพื่อหาแนวทางการพัฒนาโครงการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยนักเรียน “ หนูน้อยสุขภาพดี ชีวีเป็นสุข ” ของโรงเรียนบ้านฉลีกหนองมะแซว โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบ 360 องศา ตามแนวคิดของแอนโตนิโอนี (Antonioni. 1996: 37) ในด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลลัพธ์ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) ได้แก่ ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียน นักเรียน และผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 325 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม จำนวน 5 ฉบับ และแบบสัมภาษณ์ จำนวน 3 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย (x-bar ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการประเมินพบว่า
1. การประเมินโครงการตามองค์ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลลัพธ์ ได้ผลการประเมินดังนี้ ด้านปัจจัยนำเข้าตามความคิดเห็นของครูผู้สอน พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก ( x-bar= 4.20, S.D. =.70) และความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก ( x-bar= 4.27, S.D. =.73) ด้านกระบวนการตามความคิดเห็นของครูผู้สอน พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก ( x-bar= 3.97, S.D. =.78) และความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก (x-bar = 3.98, S.D. =.79) ด้านผลลัพธ์เกี่ยวกับประสิทธิภาพการดำเนินงาน ตามความคิดเห็นของ ครูผู้สอน พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก ( x-bar= 3.87, S.D. =.74) และความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก ( x-bar= 3.89, S.D. =.77) ด้านผลลัพธ์เกี่ยวกับความพึงพอใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางการศึกษา ตามความพึงพอใจของ ครูผู้สอน พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก ( x-bar= 3.98, S.D. =.77) ความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก ( x-bar= 4.13, S.D. =.72) ความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียน พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก ( x-bar= 3.96, S.D. =.82) ด้านผลลัพธ์เกี่ยวกับความพึงพอใจของนักเรียน พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก ( x-bar= 3.69, S.D. =.78) และด้านผลลัพธ์เกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมของโครงการ พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก ( x-bar= 3.70, S.D. =.78)
2. เปรียบเทียบความแตกต่างของสุขภาพและอนามัยของนักเรียน ระหว่างก่อนและหลัง
ดำเนินโครงการ ได้ผลดังนี้ 1) ด้านสุขภาพช่องปากของนักเรียน พบว่า ปีการศึกษา 2563 มีจำนวนนักเรียนที่มีปัญหาด้านสุขภาพช่องปาก จำนวน 81 คน ปีการศึกษา 2564 มีจำนวนนักเรียนที่มีปัญหาด้านสุขภาพช่องปากจำนวน 47 คน เมื่อเปรียบเทียบกับปีการศึกษา 2563 พบว่า มีจำนวนนักเรียนที่มีปัญหาด้านสุขภาพช่องปากลดลง จำนวน 34 คน คิดเป็นร้อยละ 41.98 2) นักเรียนที่เป็นโรคไข้เลือดออก พบว่า ปีการศึกษา 2563 มีนักเรียนที่เป็นโรคไข้เลือดออก จำนวน 4 คน คิดเป็นร้อยละ 1.12 ปีการศึกษา 2564 ไม่พบนักเรียนที่เป็นโรคไข้เลือดออก 3) ด้านน้ำหนักและส่วนสูงของนักเรียน พบว่า ในปีการศึกษา 2563 มีนักเรียนที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ จำนวน 16 คน คิดเป็นร้อยละ 4.44 มีนักเรียนที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ จำนวน 12 คน คิดเป็นร้อยละ 3.33 และมีจำนวนนักเรียนที่มีส่วนสูงต่ำกว่าเกฑณ์ จำนวน 15 คน คิดเป็นร้อยละ 4.17 รวมจำนวนนักเรียนที่มีปัญหาด้านน้ำหนักและส่วนสูง จำนวน 43 คน ปีการศึกษา 2564 มีจำนวน มีนักเรียนที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ จำนวน 10 คน คิดเป็นร้อยละ 2.81 มีนักเรียนที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ จำนวน 8 คน คิดเป็นร้อยละ 2.25 และมีจำนวนนักเรียนที่มีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ จำนวน 11 คน คิดเป็นร้อยละ 3.09 รวมจำนวนนักเรียนที่มีปัญหาด้านน้ำหนักและส่วนสูง จำนวน 29 คน เมื่อเปรียบเทียบกับปีการศึกษา 2563 พบว่า จำนวนนักเรียนที่มีปัญหาด้านน้ำหนักและส่วนสูงลดลง จำนวน 14 คน คิดเป็นร้อยละ 32.56
3. แนวทางการพัฒนาโครงการ นำผลจากการสัมภาษณ์มาวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา ดังนี้ ครูผู้สอนได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาว่า โรงเรียนควรส่งเสริมให้มีโครงการต่อไป โดยจัดให้เป็นโครงการต่อเนื่อง และควรประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลในทุกกิจกรรมของโครงการ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาว่า ผู้บริหารและคณะครูควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการจัดอาหารกลางวันให้กับนักเรียน ควรจัดให้ครบ 5 หมู่ ตามโปรแกรม Thai School Lunch และควรมีการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ความสำเร็จของโครงการให้หน่วยงานอื่นได้รับทราบ ผู้ปกครองนักเรียนได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาว่า อยากให้โรงเรียนดำเนินการโครงการต่อเนื่องทุกปีการศึกษา และให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น ผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาว่า ให้ทางโรงเรียนประสานความร่วมมือกับทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ในทุกกิจกรรมที่ทางโรงเรียนได้ดำเนินการ และให้ความสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยนักเรียนในทุกช่วงวัย และนักเรียนได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาว่า ให้ทางโรงเรียนมีกิจกรรมที่หลากหลายเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและอนามัย และดำเนินการต่อเนื่องในทุกปี เป็นต้น