ผลการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบสตีมศึกษาด้วยรูปแบบออนไลน์
ชื่อผู้วิจัย: นางสาวสาคร วุฒิศักดิ์ชัยกุล
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ชำนาญการ โรงเรียนวัดกุฎีเตี้ย
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครนายก
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของนักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนวัดกุฎีเตี้ยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบสตีมศึกษาด้วยรูปแบบออนไลน์ ประชากรที่ใช้ในการวิจัยคือ นักเรียนชาย-หญิง อายุระหว่าง 5-6 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนวัดกุฎีเตี้ย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครนายก โดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง
รูปแบบของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ของปีการศึกษา 2564 ซึ่งอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 จึงจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในรูปแบบการเรียนรู้แบบออนไลน์เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ถึงแม้จะมีข้อจำกัด ระยะเวลาในการจัดประสบการณ์จำนวน 10 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 วัน วันละ 40 นาที เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ ประกอบด้วย แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบสตีมศึกษา จำนวน 10 แผน แบบทดสอบความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัยและแบบสังเกตพฤติกรรมความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 3 ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนวัดกุฎีเตี้ยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบสตีมศึกษา 5 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 การระบุปัญหา ขั้นที่ 2 รวบรวมข้อมูลและแนวคิดที่เกี่ยวข้อง ขั้นที่ 3 ออกแบบ วางแผน และพัฒนา ขั้นที่ 4 ทดลองและประเมินผล และขั้นที่ 5 การนำเสนอผลงาน มีความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์หลังการจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์