การพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อแก้ปัญหาการอ่าน
โรงเรียนบ้านลาด(ราษฎร์บำรุง) ตามแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดฝึกทักษะการอ่านออกเสียง
ผู้รายงาน นางพรพิมล สีนวน
ปีที่ศึกษา ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
รายงานผลการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อแก้ปัญหาการอ่านออกเสียงของนักเรียนโรงเรียนบ้านลาด (ราษฎร์บำรุง) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 3 โดยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาดังนี้คือ 1) เพื่อศึกษาพัฒนาการการอ่านออกเสียงของนักเรียนโรงเรียนบ้านลาด (ราษฎร์บำรุง) 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้ชุดฝึกทักษะการอ่านออกของนักเรียนโรงเรียนบ้านลาด (ราษฎร์บำรุง) กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2-5 โรงเรียนบ้านลาด (ราษฎร์บำรุง) ปีการศึกษา 2563 จำนวนนักเรียน 10 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Selection) เป็นนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาที่มีทักษะการอ่านออกเสียงภาษาไทยต่ำกว่าเกณฑ์ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ 1) แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดฝึกทักษะการอ่านออกเสียง จำนวน 27 แผน และ 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การอ่านออกเสียง จำนวน 30 ข้อ ระยะเวลาในการศึกษา ระหว่างวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 ถึง 21 ตุลาคม 2563 ในชั่วโมงชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) รวม 54 ชั่วโมง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษาพบว่า ผลการพัฒนาการอ่านออกเสียงของนักเรียนโรงเรียนบ้านลาด(ราษฎร์บำรุง) พบว่า นักเรียนมีพัฒนาการการอ่านออกเสียงดีขึ้น นักเรียนสามารถอ่านออกเสียงได้ ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ร้อยละ 80 ผลการเปรียบเทียบคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนตามแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดฝึกทักษะการอ่านออก พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน โดยมีคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนเท่ากับ 17.70 คะแนน และคะแนนเฉลี่ยหลังเรียน เท่ากับ 27.60 คะแนน และคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนของทุกคนสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ร้อยละ 80 ทุกคน สรุปได้ว่า ผลการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ ทางวิชาชีพเพื่อแก้ปัญหาการอ่านออกเสียงของนักเรียนโรงเรียนบ้านลาด (ราษฎร์บำรุง) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 3 หลังจากจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดฝึกทักษะการอ่านออกเสียงแล้ว นักเรียนมีพัฒนาการการอ่านออกเสียงภาษาไทยดีขึ้นผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด