การประเมินโครงการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
โรงเรียนบ้านหนองไก่ปิ้ง
ผู้วิจัย นายพรหมมาตร์ อิฐกอ
ปีที่ประเมิน 2564
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การวิจัยเรื่อง การประเมินโครงการการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านหนองไก่ปิ้ง ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินโครงการการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวคิดการประเมินรูปแบบ CIPP Model ของ Stufflebeam ในการประเมิน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านบริบท (Context) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ด้านกระบวนการ (Process) และด้านผลผลิต (Product) เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ โดยเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากร คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ใช้ประชากรเป็นกลุ่มตัวอย่าง นักเรียนใช้การเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบสอบถามซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นและค่าอำนาจจำแนกตามเกณฑ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ(%) ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
การประเมินโครงการการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า 1) ผลการประเมินโครงการด้านบริบทในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายองค์ประกอบ พบว่า ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์โครงการมีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือ ความต้องการและจำเป็นของโครงการ ส่วนนโยบายของโครงการ มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด 2) ผลการประเมินโครงการด้านปัจจัยนำเข้าในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายองค์ประกอบ พบว่า บุคลากรมีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือ การบริหารจัดการ และความพร้อมของวัสดุอุปกรณ์ อาคาร สถานที่ในการดำเนินงาน ตามลำดับ ส่วนงบประมาณมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด 3) ผลการประเมินโครงการด้านกระบวนการในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายองค์ประกอบ พบว่า การวางแผนการดำเนินงานมีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือ การดำเนินการ และการนำผลการประเมินมาปรับปรุงพัฒนา ตามลำดับ ส่วนการติดตามและประเมินผลมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด 4) ผลการประเมินโครงการ ด้านผลผลิตในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก โดยนักเรียนมีคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือนักเรียนสามารถอธิบายการเรียนรู้จากการปฏิบัติได้ ส่วนนักเรียนสามารถผลิตน้ำยาล้างจานได้ มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด