บทคัดย่อ โครงการส่งเสริมและพัฒนางานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
ผู้ประเมิน ชัยฤทธิ์ สงฉิม
ปีการศึกษา 2564
รายงานการประเมินโครงการส่งเสริมและพัฒนางานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนลาดยาววิทยาคม ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลโครงการส่งเสริมและพัฒนางานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนลาดยาววิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครสวรรค์ โดยการประเมินโครงการตามรูปแบบจำลองซิปป์ (CIPP Model) ตามแนวคิดของสตัฟเฟิลบีม ประเมิน 4 ด้าน คือ 1) ด้านบริบทหรือสภาพแวดล้อม (Context Evaluation) 2) ด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input Evaluation) 3) ด้านกระบวนการ (Process Evaluation) และ 4) ด้านผลผลิต (Product Evaluation) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ ผู้บริหาร ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียนและนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 โรงเรียนลาดยาววิทยาคม ปีการศึกษา 2564 จำนวนรวมทั้งสิ้น 741 คน กำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างโดยใช้สูตรของทาโร่ ยามาเน่ (Taro Yamane, 1973) และใช้วิธีการเทียบxxxส่วน (Proportion) และสุ่มแบบเจาะจง (Purposive sampling) เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ แบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จำนวน 3 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Arithmetic Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
ผลการประเมินโครงการส่งเสริมและพัฒนางานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนลาดยาววิทยาคม โดยภาพรวม คือ ด้านบริบทหรือสภาพแวดล้อม ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต พบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ รายละเอียดแต่ละด้านดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบทหรือสภาพแวดล้อม (Context Evaluation) ของโครงการส่งเสริมและพัฒนางานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนลาดยาววิทยาคม ประเมินโดยคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พบว่า ผลการประเมิน ในภาพรวมมีความสอดคล้อง อยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้
2. ผลการการประเมินด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input Evaluation) ของโครงการส่งเสริมและพัฒนางานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนลาดยาววิทยาคม ประเมินโดยคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พบว่า ผลการประเมินในภาพรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้
3. ผลการการประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation) ของโครงการส่งเสริมและพัฒนางานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนลาดยาววิทยาคม ประเมินโดยคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พบว่า ผลการประเมินในภาพรวม มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation) ของโครงการส่งเสริมและพัฒนางานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนลาดยาววิทยาคม ประเมินโดยคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครองนักเรียนและนักเรียน พบว่า ผลการประเมินในภาพรวม มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้