การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนบ้านบางแรด
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3
ลักษณะผลงาน : การประเมินโครงการเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่
ผู้ประเมิน : นายศุภวิชญ์ ล่องแพ
ปีการศึกษา : 2564
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการครั้งนี้ใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ(1) ประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน (2)ประเมินความพึงพอใจของครู นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อการดำเนินงานโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านบางแรด ประชากรในการรายงานครั้งนี้ คือ นักเรียนระดับชั้นอนุบาล ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านบางแรด ปีการศึกษา 2564 จำนวน 33 คน ครูโรงเรียนบ้านบางแรด จำนวน 3 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 28 คนประชากรในการตอบแบบสอบถามคือ นักเรียนชั้นอนุบาล ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 33 คน ครูโรงเรียนบ้านบางแรด จำนวน 3 คน และผู้ปกครองนักเรียนระดับชั้นอนุบาล ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2564 จำนวน 28 คน (3)เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ ระเบียนสะสม แบบคัดกรองนักเรียนรายบุคคล แบบสรุปการคัดกรองนักเรียนรายบุคคล แบบบันทึกการเยี่ยมบ้าน แบบบันทึกการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน แบบบันทึกการประชุมคณะครูโรงเรียนบ้านบางแรด แบบบันทึกการประชุมผู้ปกครองนักเรียน แบบบันทึกการให้คำปรึกษา แบบบันทึกการติดตามดูแลนักเรียน แบบบันทึกการส่งต่อภายใน แบบรายงานแจ้งผลการดูแลช่วยเหลือนักเรียน แบบบันทึกการส่งต่อภายนอก เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ แบบสอบถามความพึงพอใจของครูต่อการดำเนินงานโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนต่อการดำเนินงานโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียนต่อการดำเนินงาน
โครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ และการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ หาค่าร้อยละ (Percentage) คำนวณหาค่าเฉลี่ย (Arithmetic Mean : µ) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation : )
ผลการดำเนินงาน
1. การดำเนินกิจกรรมจัดทำระเบียนสะสมพบว่านักเรียนจำนวน 33 คน ได้รับการจัดทำระเบียนสะสม จำนวน 33 คน คิดเป็นร้อยละ 100.00
2. การดำเนินกิจกรรมการคัดกรองนักเรียน จำนวนนักเรียนทั้งหมด 33 คน จัดอยู่ในกลุ่มปกติ จำนวน 23 คน เฉลี่ยร้อยละ 69.70 กลุ่มเสี่ยง จำนวน 4 คน เฉลี่ยร้อยละ 12.12 กลุ่มมีปัญหาจำนวน 6 คน เฉลี่ยร้อยละ 18.18
3. การดูแลนักเรียน การส่งเสริมและพัฒนานักเรียนระดับประถมศึกษา พบว่า ระดับคุณภาพมาตรฐานระดับดีเยี่ยม การป้องกันแก้ไขและช่วยเหลือนักเรียนสำหรับกลุ่มเสี่ยง กลุ่มมีปัญหา พบว่า นักเรียนที่มีปัญหาทุกด้านได้รับการป้องกัน แก้ไขและช่วยเหลือทุกด้านทุกคน คิดเป็นร้อยละ 100.00
4. การส่งต่อนักเรียนที่มีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ การส่งต่อภายใน พบว่า ได้ดำเนินการ ส่งต่อจำนวน 6 คน คิดเป็นร้อยละ 18.18 การส่งต่อภายนอก พบว่า ไม่มีส่งต่อภายนอก
5. การดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ พบว่า มีการดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้นักเรียน นักเรียนชั้นอนุบาล ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 33 คน คิดเป็นร้อยละ 100.00
6. การดำเนินงานการมีส่วนร่วมของบุคคลผู้เกี่ยวข้อง พบว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกคน ทุกองค์กรให้ความร่วมมือในการดำเนินงาน คิดเป็นร้อยละ 100.00
7. ความพึงพอใจของครูที่มีต่อการดำเนินงานโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน พบว่า ครูมีความคิดเห็นโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
8. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการดำเนินงานโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน พบว่า นักเรียนมีความคิดเห็นโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
9. ความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อการดำเนินงานโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน พบว่าผู้ปกครองนักเรียนมีความคิดเห็นโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะในการนำผลการดำเนินงานไปใช้
1) โรงเรียนควรมีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามโครงการงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการปรับปรุง และพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
2) ควรติดต่อประสานงานกับหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ในชุมชนอย่างต่อเนื่อง และเชิญบุคลากรในชุมชน เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข พระสงฆ์ เป็นต้น มาเป็นวิทยากรใน การให้ความรู้แก่นักเรียนให้มากขึ้น
3) ควรมีตัวแทนนักเรียนทุกห้องเรียนเป็นคณะกรรมการทำงาน การสร้างเครือข่ายเพื่อนช่วยเพื่อน พี่ช่วยน้อง และควรอบรมให้ความรู้นักเรียนก่อนปฏิบัติจริง
4) ให้นักเรียนทราบความสำคัญว่านักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนมีบทบาท การดำเนินงานร่วมกันกับครูในการป้องกันและแก้ไขปัญหา
5) โรงเรียนควรจัดประชุมผู้ปกครองนักเรียน เพื่อทำความเข้าใจและขอความร่วมมือในการพัฒนานักเรียนเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ไม่ต้องการให้นักเรียนเกิดความแปลกแยกและ การร่วมกันพัฒนานักเรียนที่ถูกต้องและเหมาะสม
6) โรงเรียนควรสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการวิเคราะห์ปัญหาของนักเรียนและส่งต่อไปยังหน่วยงานหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เกี่ยวข้อง
2. ข้อเสนอแนะในการดำเนินงานครั้งต่อไป
1) ควรมีการศึกษาสภาพความสำเร็จการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียน
2) ควรมีการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินงานโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
3) ควรศึกษาวิจัยการดำเนินงานโครงการระบบดูแลช่วยเหลือที่มีผลลัพธ์ต่อนักเรียนโดยตรงในด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การแก้ไขปัญหากลุ่มเสี่ยง กลุ่มมีปัญหา