การพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต ๑
ความเป็นมา/แนวคิด
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๕๔ ได้กำหนดประเด็น ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาไว้ว่า รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย รัฐต้องดำเนินการ ให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยการศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕ และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๒๔ ที่ได้บัญญัติแนวทางดำเนินการของสถานศึกษาไว้อย่างชัดเจน โดยระบุว่า ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและฝึกทักษะกระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนจากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็นทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่างๆ อย่างได้xxxส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรมค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนสามารถจัดบรรยากาศสภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อ การเรียนการสอน และแหล่งวิทยาการประเภทต่างๆ จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่มีการประสานความร่วมมือกับบิดามารดา ผู้ปกครองและบุคคลในชุมชนทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ (กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๕๓)
แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙) ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในสถานศึกษา ซึ่งได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยมีเป้าหมายและตัวชี้วัดด้านแหล่งเรียนรู้ สื่อตำราเรียน นวัตกรรม และสื่อการเรียนรู้มีคุณภาพที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ ไว้ ดังนี้ ๑) มีจำนวนแหล่งเรียนรู้ที่ได้รับการพัฒนาให้สามารถจัดการศึกษา จัดกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น ๒) มีแหล่งเรียนรู้ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุน จากภาคเอกชน สถานประกอบการ องค์กรศาสนา มูลนิธิ และสถาบันต่างๆ ในสังคมเพิ่มขึ้น ๓) ชุมชนที่มีการจัดการแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น ๔) มีระบบเครือข่ายเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการศึกษาที่ทันสมัย สนองตอบ ความต้องการของผู้ใช้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, ๒๕๖๐)
โรงเรียนซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐที่มีบทบาทที่สำคัญในการสร้างเสริมให้เกิดบุคคล ที่เต็มไปด้วยเหตุผล คือ หัวใจสำคัญของการเชื่อมโยงไปสู่การสร้างสังคมให้เป็นสังคมที่มีเหตุผล ซึ่งต้องทำให้เกิดขึ้นตั้งแต่ในระดับบุคคลไปจนถึงระดับครอบครัว และในระดับประเทศในที่สุด สังคมที่มีคนที่มีเหตุผลเท่านั้นจึงจะสามารถขับเคลื่อนสังคมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน (บรรจง อมรชีวิน, ๒๕๕๔) สถานศึกษาจะดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างสนับสนุน สภาพแวดล้อมของสถานศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อ การจัดการศึกษาที่ทำให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ สภาพแวดล้อมที่ดีจะเป็นแบบอย่าง ที่ดีในการพัฒนาสภาพแวดล้อมในชุมชน กลายเป็นสถานที่ที่มีค่าของชุมชน ส่งผลให้ทุกคน เกิดความภาคภูมิใจ เพิ่มความสนใจในการศึกษาและการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ของสถานศึกษามากขึ้น ดังนั้น สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรส่งเสริมให้ผู้สอนสามารถ จัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียนและอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ทั้งนี้ ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่างๆ
การจัดสภาพสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับวัยและระดับของผู้เรียนจะเป็นสิ่งสนับสนุนทำให้ผู้เรียนมีความรู้สึกที่อยากเรียนและเกิดประสิทธิภาพในการเรียนรู้เพิ่มขึ้น ความสำคัญ ของสภาพสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้มีหลายประการ ได้แก่ สภาพแวดล้อมการเรียนรู้สนับสนุน และอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอน สภาพการเรียนรู้ที่เหมาะสม เช่น ห้องเรียน มีความสะดวกสบายมีอุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอนครบถ้วน ทำให้ผู้เรียนมีความสุขในการเรียน ผู้สอนมีความสุขในการสอน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้การเรียนการสอนดำเนินไปด้วยความราบรื่น สะดวกรวดเร็วตามแผนที่วางไว้ ทำให้ผู้เรียนเกิดความประทับใจ เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความสนใจและเกิดแรงจูงใจในการเรียนเปลี่ยนเจตคติไปในทางที่ดี มีความพึงพอใจในการเรียนช่วยให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ปัจจัยสำคัญในกระบวนการเรียน การสอนก็คือความรู้สึกที่เกิดจากตัวผู้เรียน ความรู้สึกพึงพอใจ สนใจอยากเรียน อยากรู้ ซึ่งนำไปสู่ การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพในที่สุด หากสถานศึกษามีบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีจะทำให้ผู้เรียน ตลอดจนคนที่เกี่ยวข้องเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อสถานศึกษา แต่ถ้าสถานศึกษามีบรรยากาศ และสภาพแวดล้อมที่ดีก็จะทำให้ผู้เรียนอยากไปโรงเรียน ซึ่งสิ่งแวดล้อมนี้อาจช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนสนใจและเรียนรู้ได้มากขึ้น หรือทำให้ผู้เรียนเบื่อไม่อยากเรียนได้ (กุลยา ก่อสุวรรณ, ๒๕๕๓)
โรงเรียนที่มีคุณภาพจึงต้องมีแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการศึกษาค้นคว้าและเอื้อต่อ การจัดกิจกรรมของชุมชนและสังคม เป็นแหล่งให้บริการข้อมูลความรู้ที่หลากหลายตลอดเวลา และต่อเนื่อง ทันสมัย มีพื้นที่เหมาะสมและเพียงพอที่จะใช้สอยเพื่อพัฒนาผู้เรียน มีโครงสร้างเหมาะสมต่อการใช้ประโยชน์ มีอาคารเรียน อาคารประกอบ ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการเพียงพอ กับจำนวนนักเรียน มีพื้นที่ในการจัดกิจกรรมกีฬาและสำหรับพักผ่อนในโรงเรียนอย่างเพียงพอ รวมทั้งชุมชนเข้ามาใช้บริการและพักผ่อนได้ในยามว่าง เพราะการจัดสภาพแวดล้อมต่างๆ ในสถานศึกษา เป็นองค์ประกอบสำคัญในการกำหนดนโยบายที่จะนำไปสู่การปฏิบัติในสถานศึกษา ซึ่งส่งผลต่อ การเรียนรู้และการจัดการศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้น ถ้าผู้เรียนอยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อม การเรียนที่สมบูรณ์ทั้งทางด้านกายภาพ จิตภาพ และทางด้านสังคมภาพแล้ว จะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความพร้อมในการเรียนรู้
อย่างไรก็ตาม การจัดสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้มิได้หมายถึง อาคารสถานที่หรือห้องเรียนเท่านั้น แต่เป็นสภาพหรือสภาวะใดๆ ที่มีผลต่อการเรียนรู้ของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งจัดเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนบรรลุผลสัมฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว ได้แก่ สภาพแวดล้อมภายในห้องเรียนและภายนอกห้องเรียน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมของกลุ่ม สังคม ข่าวสาร ความรู้ ความคิด ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดและทัศนะ ความสัมพันธ์ของมนุษย์ ซึ่งมีอิทธิพลและส่งผลโดยตรงต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เพราะการเรียนการสอนในชั้นเรียนนั้นจะเป็นไปในรูปแบบของกลุ่ม มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนและผู้เรียนกับผู้เรียนด้วยกัน ดังนั้น การบริหารด้านอาคารสถานที่ สิ่งแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นภารกิจของผู้บริหารสถานศึกษา เป็นหลักการในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หรือสังคมในอนาคต นักวางแผน นักบริหาร ที่ดีมีอุดมการณ์ต้องค้นหาแหล่งสนับสนุนทางด้านการเงินและวัสดุอุปกรณ์ทางแหล่งต่างๆ มาช่วยสร้างบรรยากาศทางการศึกษาที่ส่งผลทั้งทางตรงและส่งผลทางความคิดสร้างสรรค์ในสังคมในอนาคต การจัดสภาพแวดล้อมของโรงเรียนให้ดี ได้แก่ การจัดให้มีห้องเรียน ห้องปฏิบัติการที่เอาไว้ฝึก การทำกิจกรรมการเรียนการสอน มีห้องสมุดไว้เป็นแหล่งเรียนรู้ มีพื้นที่สีเขียวและสิ่งอำนวย ความสะดวกที่พอเพียงและอยู่ในสภาพใช้การได้ดี มาตรการส่งเสริมสุขภาพอนามัย และความปลอดภัยของผู้เรียน ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการจัดให้กับผู้เรียนด้วย (สายฝน สุวรรณรินทร์, ๒๕๕๓)
โรงเรียนบ้านบางปู ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ตำบลบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต ๑ เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ มีบุคลากรทั้งหมด ๓๖ คน ข้าราชการครู ๑๙ คน พนักงานราชการ ๒ คน ครูสอนอิสลามศึกษา ๘ คน เจ้าหน้าที่ธุรการ ๑ คน ครูพี่เลี้ยงเด็กพิการ ๑ คน นักการภารโรง ๑ คน พนักงานรักษาความปลอดภัย ๒ คน และผู้บริหารสถานศึกษา ๒ คน จัดการศึกษา ๒ ระดับ คือ ระดับก่อนประถมศึกษา (ชั้นอนุบาล ๑ - ๓) และระดับประถมศึกษา (ชั้น ป. ๑ - ๖) ในปีการศึกษา ๒๕๖๔ มีนักเรียนจำนวน ๔๔๘ คน จากการวิเคราะห์ผลการจัดการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า การดำเนินงานด้านการพัฒนาสภาพแวดล้อม ในโรงเรียนเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนที่จะช่วยให้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพนั้น มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่สภาพแวดล้อมและพื้นที่ต่างๆ ทั่วบริเวณโรงเรียนยังไม่เอื้อต่อ การเรียนรู้ อีกทั้งมีปัญหาและอุปสรรคต่อการจัดการเรียนรู้หลายด้าน ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพ การจัดการเรียนการสอน ปัญหาหนึ่งที่พบ คือ การจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนไม่เหมาะสม และขาดแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ขาดการดูแลเอาใจใส่ ครูไม่ได้ใช้แหล่งเรียนรู้ภายนอกห้องเรียน มาเสริมกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน อาคารเรียน อาคารประกอบมีสภาพชำรุดทรุดโทรม สื่อวัสดุ อุปกรณ์การเรียนขาดการบำรุงรักษา การจัดสภาพแวดล้อมทั่วไปของโรงเรียนไม่ตอบสนองต่อ การจัดการเรียนรู้ รวมทั้งการจัดการเรียนการสอนที่ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน และชุมชน
จากเหตุผลและความสำคัญดังกล่าว สรุปได้ว่า การพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนโรงเรียนบ้านบางปูเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะสภาพแวดล้อมที่ดีจะทำให้ผู้เรียนมีความตั้งใจต่อการเรียน กระตือรือร้นในการมาเรียน การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครูเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้ปกครองและชุมชน จนเกิดการยอมรับ ในคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียน ดังนั้น ผู้รายงานมีความตระหนักที่จะพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการด้านวิชาการ ด้านบริหารงานบุคคล ด้านบริหารงบประมาณ และด้านการบริหารทั่วไป เพื่อให้โรงเรียนมีบรรยากาศที่ดี สะอาด สะดวก น่าอยู่ ร่มรื่น ปลอดภัย และเชื่อมโยงสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียน นโยบาย ของหน่วยงานต้นสังกัด ตลอดจนโรงเรียนและชุมชนได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ผู้ปกครองนักเรียนและชุมชนมีส่วนร่วมกับคณะครูในการให้การศึกษาแก่บุตรหลาน ผู้เรียนได้รับการปลูกฝังให้รักท้องถิ่นของตนเอง มองเห็นคุณค่าและพร้อมที่จะเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมในอนาคต เป็นพลัง ที่เกื้อหนุนสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง และส่งผลดีต่อการบริหารจัดการกิจการสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนนักเรียนมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน
วัตถุประสงค์
๑. เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนโรงเรียนบ้านบางปู สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต ๑
๒. เพื่อศึกษาระดับความพึงพอใจของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษา ขั้นพื้นฐานที่มีต่อการพัฒนาสภาพแวดล้อมโรงเรียนบ้านบางปู สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต ๑
วิธีดำเนินการ
การรายงานผลการดำเนินการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนโรงเรียนบ้านบางปู สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต ๑ ผู้รายงานในฐานะผู้บริหารโรงเรียนที่มีหน้าที่บริหารและจัดการ ได้ดำเนินการศึกษาตามหลักการและแนวทางการดำเนินงานตามสำนักวิชาการ และมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ใช้หลักการบริหาร ๔ M’s คือ Man (คน) Money (เงิน) Materials (วัสดุอุปกรณ์) และ Management (การจัดการ) และใช้หลักการบริหารจัดการสถานศึกษาตามวงจรคุณภาพเดมมิ่ง (Deming Cycle : PDCA) มาใช้ในการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนเพื่อให้การพัฒนาสภาพแวดล้อมมีคุณภาพ เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และในการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน จากหลักการ แนวคิด ทฤษฎีหลายๆ ทฤษฎีได้หลอมรวมในการบริหารงานการพัฒนาสภาพแวดล้อม ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ผู้รายงานได้นำมาวิเคราะห์และใช้หลักการบริหารจัดการสถานศึกษาตามวงจรคุณภาพเดมมิ่ง (Deming Cycle : PDCA) มาใช้ในการบริหารจัดการสภาพแวดล้อม ในโรงเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อให้การพัฒนาสภาพแวดล้อมมีคุณภาพ เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย การวางแผน (Plan) การดำเนินการตามแผน (Do) การตรวจสอบ (Check) และการปรับปรุง แก้ไข (Act) ซึ่งสรุปได้ ดังแผนภาพที่ ๑ ดังต่อไปนี้
แผนภาพที่ ๑ กรอบแนวคิดโดยใช้วงจรคุณภาพเดมมิ่ง PDCA ในการพัฒนาสภาพแวดล้อม ในโรงเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนโรงเรียนบ้านบางปู สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต ๑
ขั้นตอนที่ ๑ การวางแผน (P : Plan) โดยการเชิญผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินการมาประชุมร่วมกันเพื่อให้ทุกคนได้ทราบภารกิจ เข้าใจตรงกันในการดำเนินการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และความคิดเห็นซึ่งกัน และกันในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและพัฒนาสภาพแวดล้อมเพื่อให้การพัฒนาเป็นไป ในทิศทางเดียวกัน ผู้รายงานได้วางแผนการดำเนินการ ดังนี้
๑) ศึกษาแนวคิด ทฤษฎีและขั้นตอนต่างๆ ของการพัฒนาสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่เอื้อต่อ การเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อให้เกิดความชัดเจนและมีความเข้าใจตรงกันในหลักการและทิศทาง ของการดำเนินการ
๒) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนและชุมชน จากเอกสารข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียนและจากการสัมภาษณ์ครูในโรงเรียน
๓) ประชุมชี้แจงรายละเอียดของการดำเนินการพัฒนาสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนโรงเรียนบ้านบางปู
๔) กำหนดขอบข่ายการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนโรงเรียน บ้านบางปู กำหนดขอบข่ายการปรับปรุงพัฒนาสภาพแวดล้อมที่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามข้อจำกัดด้านเวลา และงบประมาณที่สามารถดำเนินการได้
๕) แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานการพัฒนาสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของโรงเรียนบ้านบางปู สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต ๑ และกำหนดผู้รับผิดชอบกิจกรรมตามขอบข่ายในการปรับปรุงพัฒนาสภาพแวดล้อม
๖) ประชุมกรอบการทำงาน และเสนอแนวทางหรือรูปแบบการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน วางแผน สรุปแนวทางการพัฒนาสภาพแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้ ที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน กำหนดแนวทางการกำกับ ติดตาม และประเมินผล
ผู้รายงาน คณะครู และบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานภายนอกมีส่วนร่วมในการบริจาคเงิน วัสดุอุปกรณ์ และกำลังแรงงานในการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน
ขั้นตอนที่ ๒ การดำเนินการตามแผน (D : Do) เป็นขั้นตอนที่ผู้ได้รับมอบหมายภารกิจปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย การปฏิบัติจะเน้นการทำงานเป็นทีมในการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อให้การทำงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเกิดความชัดเจนในการทำงาน โดยมีกระบวนการปฏิบัติงาน ดังนี้
๑) การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Work Shop) เพื่อนำประสบการณ์ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้า และการอบรมมาประยุกต์ใช้เพื่อหารูปแบบการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนบ้านบางปู
๒) มอบหมายภาระหน้าที่ให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องตามหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งและสร้าง ความเข้าใจร่วมกันในการดำเนินการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนโรงเรียนบ้านบางปู เพื่อให้การทำงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเกิดความชัดเจนในการปฏิบัติ
๓) ดำเนินการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนโรงเรียนบ้านบางปู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต ๑ โดยมีรายละเอียดกิจกรรม ดังนี้
๑. ห้องเรียนและอาคารเรียน
ผู้รายงานได้สำรวจสภาพของห้องเรียนและอาคารเรียน พบว่า ห้องเรียนและกระดานดำค่อนข้างสกปรก โต๊ะเก้าอี้จัดไม่เป็นระเบียบ อีกทั้ง โต๊ะ เก้าอี้นักเรียน ประตู หน้าต่างอยู่ในสภาพที่เก่าและชำรุด ห้องเรียนขาดแหล่งเรียนรู้ในห้องเรียน มีสื่อการเรียนรู้น้อยไม่เพียงพอ สิ่งอำนวย ความสะดวกชำรุด เช่น พัดลม โทรทัศน์ ระบบไฟฟ้าส่องแสงสว่างชำรุดมีแสงสว่างไม่เพียงพอ ความขาดแคลนเหล่านี้อาจส่งผลให้นักเรียนไม่มีสมาธิในการเรียนและครูผู้สอนจัดการเรียนการสอนได้ยากลำบากขึ้น ในด้านสภาพของอาคารเรียน มีสภาพค่อนข้างเก่าและชำรุดทรุดโทรม โดยเฉพาะเสาอาคารเรียนอยู่ในสภาพที่แตกร้าว ผนังอาคารเรียนมีรอยร้าวและสีหลุดลอกไม่สวยงาม ไม่เร้าความสนใจของผู้เรียน
ผู้รายงานจึงได้ปรึกษาหารือกับครูผู้สอนและมอบหมายให้ครูผู้สอนจัดสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียนให้มีสภาพที่สะอาด สวยงาม สะดวก สบาย และปลอดภัย โดยจัดทำความสะอาดห้องเรียนและกระดานดำ จัดโต๊ะ เก้าอี้นักเรียนให้เป็นระเบียบ สวยงาม เพิ่มมุมความรู้วิชาการต่างๆ มุมอ่านหนังสือ มุมพักผ่อนผ่อนคลาย มุมแสดงผลงานนักเรียน และแหล่งเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ จัดทำป้ายคำขวัญ ป้ายห้องและชื่อครูประจำชั้น ปรับปรุงซ่อมแซมประตู หน้าต่าง ซ่อมแซมและติดตั้งพัดลม เพิ่มแสงสว่างในห้องเรียน ทาสีภายในห้องเรียน จัดวางหนังสือ สื่อ และอุปกรณ์ต่างๆ ไว้บนชั้นวางและตู้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อให้นักเรียนมีแหล่งเรียนรู้ในห้องเรียนและมีมุมสำหรับอ่านหนังสือ ในส่วนของอาคารเรียนได้มีการทาสีอาคารใหม่ในบางส่วน ทั้งอาคารเรียนและอาคารประกอบ ซ่อมแซมผนังและเสาอาคารที่ชำรุด แตกร้าว ให้กลับมามีสภาพที่แข็งแรง มั่นคงและปลอดภัย มีภาพวาดฝาผนัง มีสื่อสำนวนไทย-อังกฤษให้นักเรียนได้ศึกษา เรียนรู้เพิ่มเติม นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังได้ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์และบอร์ดนิเทศหน้าห้องเรียนเพื่อแจ้งข่าวสารและนำเสนอความรู้ต่างๆ ให้กับนักเรียน นักเรียนสามารถติดตามข่าวสารและรับรู้ความรู้ต่างๆ ที่นอกเหนือจากห้องเรียนและตำราเรียน รวมทั้งโรงเรียนได้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของครูและนักเรียนในการออกแบบ และจัดบรรยากาศในชั้นเรียนอีกด้วย
จากการพัฒนาห้องเรียนและอาคารเรียนส่งผลให้ห้องเรียนสะอาด สวยงาม สะดวก สบาย และปลอดภัย มีแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย สามารถอำนวยความสะดวกแก่ครูผู้สอนในการจัดการเรียนการสอน อาคารเรียนมีสีสันที่สวยงาม ร่มรื่น สะอาด มีภาพวาดที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้หลากหลายเพื่อสนองความต้องการของเด็กนักเรียนในด้านต่างๆ เช่น ด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา
๒. ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์
ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ถือว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญยิ่งสำหรับนักเรียน แต่ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนบ้านบางปูยังมีคอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ในการจัดการเรียนการสอน เพราะคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่บางเครื่องเสียและใช้งานไม่ได้ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้าและไม่เสถียร สัญญาณล่มบ้างในบางครั้ง ส่งผลให้นักเรียนไม่สามารถค้นคว้า และสืบค้นหาข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ยังขาดสื่อต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับนักเรียน
ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญของห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์และการใช้เทคโนโลยี ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนก้าวทันต่อเทคโนโลยีและสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ เพราะนักเรียนสามารถเข้ามาใช้เพื่อศึกษาหาความรู้ได้อย่างไม่สิ้นสุดผ่านการเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ต ทางโรงเรียนจึงดำเนินการจัดหาคอมพิวเตอร์ ซ่อมแซมคอมพิวเตอร์ที่เสีย ให้สามารถใช้งานได้ เปลี่ยนผู้ให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต ติดตั้งระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ให้เพียงพอต่อการให้บริการแก่นักเรียนและบุคลากร ติดตั้งเครื่องรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตตามอาคารเรียนต่างๆ เพื่อให้มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ดีและเสถียร สามารถให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่ ของโรงเรียนสำหรับการค้นคว้าหาความรู้ได้อย่างไม่จำกัด ดูแลทำความสะอาด ตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์สำหรับการเรียนรู้และสืบค้นหาข้อมูลเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข นอกจากนี้ยังได้จัดบรรยากาศห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด สวยงาม น่าเรียน จัดทำระเบียบข้อกำหนดในการเข้าใช้งานห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ จัดทำและติดตั้งสื่อ และแหล่งเรียนรู้ติดบนฝาผนังเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน
ผลจากการปรับปรุงห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ทำให้นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและการสืบค้นหาข้อมูลตามแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์มีความพร้อมสำหรับการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียน ในทุกระดับชั้น นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้จากสื่อและแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ภายในห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ได้เป็นอย่างดี
๓. อาคารอเนกประสงค์
อาคารอเนกประสงค์โรงเรียนบ้านบางปูมีความสกปรก เป็นที่เก็บของจิปาถะทั่วไป อุปกรณ์เครื่องเสียงบางอย่างชำรุด ผนังตะแกรงเหล็กทะลุและชำรุด หากฝนตกด้านข้างอาคารมีปัญหาน้ำขัง ผนังอาคารมีรอยแตกร้าวและสีหลุดลอก ทำให้การใช้งานอาคารในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และกิจกรรมต่างๆ อาจเกิดความไม่สะดวก ไม่ปลอดภัย และอาจเป็นอันตรายต่อนักเรียน ครูและบุคลากร
ผู้รายงานได้ดำเนินการปัดกวาด ทำความสะอาด และจัดเก็บข้าวของให้เป็นxxxส่วนในห้องเก็บของ ติดตั้งผ้าเพื่อเป็นฉากประดับและตกแต่งในส่วนของเวทีด้านหน้า จัดหาและซ่อมแซมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และระบบเครื่องเสียง ซ่อมแซมตะแกรงเหล็กที่ทะลุและชำรุด จัดทำทางเท้าด้านข้างอาคาร ฝั่งติดกับถนนเพื่อลดปัญหาน้ำขัง จัดทำมุมพักผ่อน ผ่อนคลายด้านหลังอาคาร โดยยกพื้นขึ้นประมาณ ๒๒ เซนติเมตร จัดหาและติดตั้งสแลนกันแดด หญ้าเทียมปูพื้น และชุดม้าหิน เพื่อให้นักเรียนมีพื้นที่ ในการพักผ่อนและผ่อนคลายจากการเรียนรู้ในห้องเรียน ซ่อมแซมผนังและทาสีภายนอกอาคาร ตลอดจนทาสีขอบพื้นด้านนอกอาคารและเสาไฟฟ้าเพื่อเน้นให้เห็นชัดเจนและเป็นสัญลักษณ์เตือนอันตรายในการเดินและสัญจรไปมา
จากการปรับปรุง พัฒนาอาคารอเนกประสงค์ทำให้นักเรียนได้ใช้ประโยชน์และมีแหล่งเรียนรู้เพิ่มขึ้น ครูและบุคลากรสามารถใช้อาคารในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน รวมทั้งกิจกรรมสัมพันธ์ชุมชนได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ตลอดจนผู้ปกครอง ชุมชน หน่วยงานราชการในพื้นที่ และองค์กรภายนอกสามารถใช้อาคารได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และเพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสิ่งอำนวยความสะดวก
๔. อาคารละหมาด
สภาพอาคารละหมาดของโรงเรียนบ้านบางปู มีหยากไย่บนเพดาน หนังสือวางกระจัดกระจายทั้งในตู้และบนตู้หนังสือ อุปกรณ์เครื่องเสียงชำรุด พัดลมชำรุดเวลาละหมาดรวมกันทำให้ลมไม่ถ่ายเท บรรยากาศร้อนอบอ้าว ส่งผลให้ไม่มีสมาธิในการละหมาด ก๊อกน้ำที่อาบน้ำละหมาด บางก๊อกชำรุดทำให้นักเรียนต้องเสียเวลารอคิวอาบน้ำละหมาด ภายในอาคารละหมาดไม่มีสื่อ และแหล่งการเรียนรู้
จากสภาพที่กล่าวมาข้างต้น ผู้รายงานจึงได้มอบหมายให้ผู้รับผิดชอบดำเนินการปัดกวาด ทำความสะอาด จัดวางตู้และหนังสือเอาไว้ในตู้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ซ่อมแซมชุดอุปกรณ์ เครื่องเสียงและพัดลม จัดเปลี่ยนก๊อกน้ำในสถานที่อาบน้ำละหมาดให้ใช้การได้ทั้งหมด จัดทำระเบียบและมารยาทในการใช้งานอาคารละหมาด มอบหมายผู้รับผิดชอบในการดูแลรักษาความสะอาด ของอาคารละหมาด จัดทำและติดบทสวด (ดุอาอฺ) ต่างๆ ตามฝาผนัง และจัดทำแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับอิสลามศึกษาเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับอิสลามศึกษาที่นอกเหนือจากห้องเรียน นักเรียน ครู และบุคลากรสามารถใช้บริการอาคารละหมาดได้ตลอดเวลา
หลังจากดำเนินการปรับปรุงพัฒนาอาคารละหมาดทำให้มีสภาพที่ดีขึ้น มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด สวยงาม น่าอยู่ เป็นอาคารแห่งการเรียนรู้อิสลามสำหรับนักเรียนที่สนใจสามารถ เข้ามาใช้บริการได้ตลอดเวลา ตลอดจนสามารถศึกษาอิสลามเพิ่มเติมจากตำราและสื่อต่างๆ ที่จัดเตรียมไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ผลจากการพัฒนาทำให้นักเรียนทุกคนได้ละหมาด พร้อมเพรียงกันและมีสมาธิในการปฏิบัติศาสนกิจ รวมทั้งสัมผัสได้ถึงความสะดวกในการปฏิบัติศาสนกิจ
๕. สนามเด็กเล่น
สนามเด็กเล่นของโรงเรียนบ้านบางปูเดิมมีเครื่องเล่นอยู่ ๕-๖ อย่าง เครื่องเล่นเหล่านี้บางส่วนอยู่ในสภาพที่ชำรุด ไม่สามารถใช้งานได้อย่างปกติ และอาจเป็นอันตรายต่อนักเรียน การขาดแคลนเครื่องเล่นอาจทำให้นักเรียนไม่มีเครื่องเล่นที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจ ไม่มีที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจและสร้างความสนุกสนาน ร่าเริงให้เหมาะสมกับวัย
ผู้รายงานได้ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงซ่อมแซมเครื่องเล่นให้อยู่ในสภาพที่ดี พร้อมใช้งานและมีสีสันที่สวยงาม ดึงดูดความสนใจของเด็ก และจัดหาเครื่องเล่นสนามเพิ่มเติม โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากบริษัทบ้านปู ดำเนินการจัดสร้างสนามเด็กเล่นในพื้นที่ใหม่ จัดวางให้เป็นxxxส่วนให้มีความปลอดภัย และตามหลักการพัฒนาสมอง เหมาะสมกับนักเรียนทุกระดับชั้น ทั้งอนุบาลและประถม เพื่อเสริมพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจของนักเรียน อีกทั้งยังทำให้นักเรียนมีความสุข สนุกสนาน และเพลิดเพลิน
หลังจากดำเนินการพัฒนา สนามเด็กเล่นกลายเป็นที่พักผ่อนและที่เล่นของนักเรียน ช่วยให้นักเรียนสนุกสนานเพลิดเพลิน ครูสามารถจัดกิจกรรมกลางแจ้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ นักเรียนมีสถานที่สำหรับกิจกรรมนันทนาการและได้ออกกำลังกาย ส่งผลให้นักเรียนมีสุขภาพพลานามัย ที่สมบูรณ์ มีสุขภาพจิตที่ดี ร่าเริง แจ่มใสสมวัย
๖. ไม้ดอกไม้ประดับ
ไม้ดอกไม้ประดับขาดการดูแล เอาใจใส่ มีหญ้าและวัชพืชขึ้นปกคลุม ดินแห้งขาดน้ำและปุ๋ย มีแมลงและศัตรูพืชมาเกาะและกัดกินไม้ดอกไม้ประดับเป็นหย่อมๆ ทำให้ไม้ดอกไม้ประดับเสียหาย ไม่เจริญเติบโตและงอกงามเท่าที่ควร บางส่วนได้ล้มตา