การพัฒนารูปแบบการบริหารการจัดการเรียนรู้สู่คุณภาพผู้เรียน
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารการจัดการเรียนรู้สู่คุณภาพผู้เรียน โรงเรียนไทรงามพิทยาคม วิธีดำเนินการวิจัยมี 3 ขั้น คือ 1) ศึกษาองค์ประกอบและแนวทางการบริหารจัดการเรียนรู้สู่คุณภาพผู้เรียนโรงเรียนไทรงามพิทยาคม โดยการสังเคราะห์เอกสาร การสัมภาษณ์ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนที่ปฏิบัติงานในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 42 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประเมินค่า 5 ระดับ
2) การสร้างรูปแบบการบริหารจัดการเรียนรู้สู่คุณภาพผู้เรียนโรงเรียนไทรงามพิทยาคม โดยใช้ผลวิเคราะห์ข้อมูลจากการวิจัยในขั้นตอนที่ 1 มากำหนดกรอบแนวคิดในการสัมภาษณ์จากประชากร ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 9 คน
โดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้เป็น แบบสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง นำผลการสัมภาษณ์มาประชุมสนทนา กลุ่มประชากร ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษาจากภายนอกและครูผู้ปฏิบัติงานในปีการศึกษา 2563 จำนวน 42 คน 3) การประเมินผลจากการใช้รูปแบบการบริหารการจัดการเรียนรู้สู่คุณภาพผู้เรียน โรงเรียนไทรงามพิทยาคม ด้วยการสนทนากลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 คน และโดยการวิเคราะห์ผลการประเมินคุณภาพภายในสถานศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน มาตรฐานที่ 1 คุณภาพผู้เรียน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์
ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ผลที่ปรากฎต่อผู้เรียนเชิงประจักษ์กลุ่มประชากร ได้แก่
ผู้เรียนปีการศึกษา 2563 จำนวน 663 คน และประเมินความพึงพอใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่
ครู ผู้เรียนและผู้ปกครอง ปีการศึกษา 2563 จำนวนทั้งสิ้น 155 คน โดยการเทียบจากตารางของเครซี่และมอร์แกน สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลคือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย (X ̅) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาองค์ประกอบและแนวทางการบริหารการจัดการเรียนรู้สู่คุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนไทรงามพิทยาคม พบว่า ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) วัตถุประสงค์ของรูปแบบ 2) ปัจจัยการบริหาร 3) กระบวนการบริหาร และ 4) ผลลัพธ์ และแนวทางการบริหารจัดการเรียนรู้ของแต่ละองค์ประกอบ
2. รูปแบบการบริหารจัดการเรียนรู้สู่คุณภาพผู้เรียน โรงเรียนไทรงามพิทยาคม ประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 4 องค์ประกอบ ได้แก่ องค์ประกอบที่ 1 วัตถุประสงค์ของรูปแบบ องค์ประกอบที่ 2 ปัจจัยการบริหาร ประกอบด้วย 1) คณะกรรมการบริหาร 2) คุณลักษณะผู้บริหารและครูผู้สอน องค์ประกอบที่ 3 กระบวนการบริหาร ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การวางแผน ขั้นตอนที่ 2 การจัดองค์กร ขั้นตอนที่ 3 การดำเนินงาน ขั้นตอนที่ 4 การกำกับติดตาม ขั้นตอนที่ 5 การปรับปรุงพัฒนา และองค์ประกอบที่ 4 ผลลัพธ์ ประกอบด้วย 1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน 2) คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน 3) ความพึงพอใจของครู ผลการตรวจสอบรูปแบบการบริหารจัดการเรียนรู้สู่คุณภาพผู้เรียน โรงเรียนไทรงามพิทยาคม ผู้ทรงคุณวุฒิมีความเห็นว่า มีความเหมาะสม ความเป็นไปได้และความเป็นประโยชน์อยู่ในระดับมาก
3. ผลการศึกษารูปแบบการบริหารการจัดการเรียนรู้สู่คุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนไทรงามพิทยาคม พบว่า ครูผู้สอนมีความเห็นว่าสามารถปฏิบัติตามรูปแบบการบริหารการจัดการเรียนรู้สู่คุณภาพผู้เรียน โรงเรียนไทรงามพิทยาคมได้ อยู่ในระดับมาก
4. ผลการประเมินรูปแบบการบริหารการจัดการเรียนสู่คุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนไทรงามพิทยาคม พบว่า ผลการเปรียบเทียบร้อยละของคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนโรงเรียนไทรงามพิทยาคม ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ในปีการศึกษา 2563 เพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2562 ร้อยละ 4.97
ผลการเปรียบเทียบร้อยละของผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนโรงเรียนไทรงามพิทยาคม พบว่า ผลการเปรียบเทียบร้อยละของผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนทุกข้อในปีการศึกษา 2563 เพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2562 เพิ่มอยู่ในระดับ ดี-ดีเยี่ยม ร้อยละ 90 ขึ้นไป ส่วนการประเมินความพึงพอใจของครู ผู้เรียนและผู้ปกครองที่มีต่อการนำรูปแบบการบริหารจัดการเรียนรู้สู่คุณภาพผู้เรียน โรงเรียนไทรงามพิทยาคมไปใช้ อยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินทุกข้อ
คําสำคัญ: การพัฒนารูปแบบ; การบริหารการจัดการเรียนรู้; คุณภาพผู้เรียน