เผยแพร่ผลงานวิจัยในชั้นเรียน_วิชาคณิตศาสตร์(อัตราส่วนตรีโกณมิติ)
ผลของการใช้กระบวนการเรียนรู้แบบรวมพลัง 5 ขั้นตอนร่วมกับเกมการเรียนรู้ด้วยการพัฒนาบทเรียนร่วมกันผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้คณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเมืองพัทยา 11 (มัธยมสาธิตพัทยา)
******************
นางสาวสร้อยสุดา ศรีงาม
โรงเรียนเมืองพัทยา 11 (มัธยมสาธิตพัทยา)
******************
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง อัตราส่วนตรีโกณมิติก่อนและหลังการใช้การจัดการเรียนรู้แบบรวมพลัง 5 ขั้นตอนร่วมกับเกมการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเมืองพัทยา 11 ด้วยการพัฒนาบทเรียนร่วมกันผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ กลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเมืองพัทยา 11 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 จำนวน 20 คน ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ประกอบด้วย ครูผู้สอน เพื่อนคู่คิด หัวหน้างานวิชาการ และรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ร่วมปฏิบัติการชี้แนะและสอนงานแบบพี่เลี้ยงผ่านการพัฒนาบทเรียนร่วมกันกับผู้วิจัย ทั้ง 5 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นที่ 1 ขั้นวิเคราะห์เนื้อหา ขั้นที่ 2 จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ ขั้นที่ 3 นำแผนการจัดการเรียนรู้ไปใช้ในห้องเรียน ขั้นที่ 4 สะท้อนความคิด ขั้นที่ 5 ปรับปรุงแผนการจัดการเรียนรู้ เครื่องมือทดลอง คือ แผนการจัดการเรียนรู้แบบรวมพลัง 5 ขั้นตอนร่วมกับเกมการเรียนรู้ เรื่อง อัตราส่วนตรีโกณมิติ จำนวน 2 แผน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าเฉลี่ย ค่าเฉลี่ยร้อยละและพัฒนาการร้อยละของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้คณิตศาสตร์วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา
สรุปผลการวิจัยพบดังนี้
หลังการใช้การจัดการเรียนรู้แบบรวมพลัง 5 ขั้นตอนร่วมกับเกมการเรียนรู้ด้วยการพัฒนาบทเรียนร่วมกันผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้คณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 20 คน เรื่อง อัตราส่วนตรีโกณมิติ ก่อนการทำวิจัยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 13.15 คิดเป็นร้อยละ 38.40 หลังการทำวิจัยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 32.07 คิดเป็นร้อยละ 93.66 และมีคะแนนพัฒนาการโดยรวมคิดเป็นร้อยละ 91.20 อยู่ในระดับ ดีมาก
จากการสะท้อนคิดพบว่า นักเรียนมีความสุขในการเรียนรู้ด้วยการเรียนรู้พร้อมกับการเล่นเกม แลกเปลี่ยนกันเรียนรู้ โดยเฉพาะเด็กมีความสุขกับการเรียนกับการทำกิจกรรม รู้ที่มาที่ไปของเนื้อหาได้ชัดเจน มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนคณิตศาสตร์มากขึ้น อีกทั้งยังเกิดวัฒนธรรมของการเรียนที่เป็นกันเองได้ความรู้พร้อมได้ความสนุกสนานเป็นการพัฒนาตนเองและนักเรียนไปพร้อมๆ กัน