การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามทฤษฎีสมองเป็นฐาน
แนวคิดการใช้ปัญหาเป็นฐาน ( PBL) เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย
ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1
ผู้วิจัย นางสาวกนกพร บัวแก้ว
ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ และ 4) เพื่อประเมินรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามทฤษฎีสมองเป็นฐานผสานแนวคิดการใช้ปัญหาเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 การวิจัยแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน คือ 1) การศึกษาข้อมูลเบื้องต้นและแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง 2) การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ 3) การทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ และ 4) การประเมินผลรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาลเมืองท่าข้าม ๔ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 23 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ และแบบทดสอบด้านความคิดสร้างสรรค์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบที
ผลการวิจัย พบว่า 1) เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์ โดยภาพรวมอยู่ในระดับต้องปรับปรุง เด็กขาดความเชื่อมั่นในตนเองและไม่กล้าแสดงออก 2) รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ มีความเหมาะสม อยู่ในระดับมากที่สุดทุกราย 3) ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์ตามทฤษฎีสมองเป็นฐานผสานแนวคิดการใช้ปัญหาเป็นฐานในการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย มีเกณฑ์ประสิทธิภาพที่ 74.81/74.44, 77.86/79.63 และ 83.88/86.11 ตามลำดับ และ 4) การประเมินผล ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 ที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดประสบการณ์ตามทฤษฎีสมองเป็นฐานผสานแนวคิดการใช้ปัญหาเป็นฐานในการเรียนรู้ หลังเรียนมีค่าสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05