รายงานการประเมินโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนสุลักขณะ
ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนสุลักขณะ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 1
ชื่อผู้รายงาน นางสาวพลอยนภัส ปุรณะวณิชย์
ปีการศึกษา 2564
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนสุลักขณะ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 1 โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) ตามแนวคิดของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam. 1983) ประเมิน 4 ด้านคือ ด้านบริบท (Context) ด้านปัจจัย (Input) ด้านกระบวนการ (Process) และด้านผลผลิต (Product) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ ครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน และนักเรียนชั้น ป.4 – ป.6 เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินเป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินพบว่า
1. การประเมินด้านบริบท (Context) ผลการวิเคราะห์ข้อมูลความสอดคล้องของโครงการกับบริบท ในภาพรวมมีความสอดคล้องอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านที่มีความสอดคล้องมากที่สุดคือ ความต้องการของสังคม ส่วนด้านที่มีความสอดคล้องน้อยที่สุด ได้แก่ ความต้องการของโรงเรียน
2. การประเมินด้านปัจจัย (Input) ผลการวิเคราะห์ข้อมูลความเหมาะสม ในภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านที่มีความเหมาะสมมากที่สุดคือ ด้านวัสดุอุปกรณ์และสถานที่ ส่วนด้านที่มีความเหมาะสมน้อย ได้แก่ ด้านบุคลากร
3. การประเมินด้านกระบวนการ (Process) ผลการวิเคราะห์ข้อมูลระดับการปฏิบัติ ในภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านที่มีการปฏิบัติมากที่สุดคือ ด้านการวางแผน ส่วนด้านที่มีการปฏิบัติน้อยที่สุด ได้แก่ ด้านการตรวจสอบ
4. การประเมินด้านผลผลิต (Product) ผลผลิตตามวัตถุประสงค์ของโครงการในภาพรวม พบว่า มีผลสำเร็จอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ข้อที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุดคือ วัตถุประสงค์ข้อที่ 2 เพื่อให้นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานได้มีส่วนร่วมในการนำแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสร้างกิจกรรมหรือโครงการที่สามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอนในโรงเรียน ส่วนผลสำเร็จน้อยที่สุดคือ วัตถุประสงค์ข้อที่ 4 เพื่อให้นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ด้าน คือ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการทำงาน รักความเป็นไทย มีจิตสาธารณะ และผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรมโครงการฯ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด 6 กิจกรรม