รายงานการประเมินโครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อ
ผู้วิจัย : นางวัชจิรา ชูสิน ศึกษานิเทศก์ วิทยฐานะ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ
ปีที่ทำการวิจัย : 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินโครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อ โรงเรียนเทศบาล ๑ (ถนนนครนอก) สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลนครสงขลา ปีการศึกษา 2563 โดยใช้รูปแบบการประเมิน CIPPIEST Model 4 ด้านคือ ด้านบริบท เกี่ยวกับความชัดเจน ความสอดคล้องของโครงการ ด้านปัจจัยเกี่ยวกับการบริหารจัดการ ด้านปัจจัยเอื้อต่อการดำเนินโครงการ ด้านกระบวนการเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมของโครงการ และด้านผลผลิตเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผลกระทบ ประสิทธิผล ความยั่งยืนและการถ่ายโยงความรู้ กลุ่มผู้ให้ข้อมูลเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จำนวน 163 คน ได้แก่ ครู จำนวน 48 คน ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 2 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 15 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 50 คน และนักเรียน จำนวน 50 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 2 ฉบับ สำหรับ ครู คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ปกครองนักเรียนและนักเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า 1) ผลการประเมินด้านบริบทเกี่ยวกับความชัดเจนของโครงการโดยภาพรวม มีความเหมาะสมในระดับมาก ในด้านโครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษมีวัตถุประสงค์ที่ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพทางด้านภาษาอังกฤษ วัตถุประสงค์ของโครงการมีความสอดคล้องกับความต้องการของนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน และโครงการมีความสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 2) ด้านปัจจัยนำเข้าเกี่ยวกับการบริหารจัดการ ด้านปัจจัยที่เอื้อต่อการดำเนินโครงการ ผลการประเมินผ่านเกณฑ์มีความเหมาะสมในระดับมาก ในด้านโรงเรียนมีครูผู้สอนชาวต่างชาติเจ้าของภาษาจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรเพียงพอ มีบุคลากรที่ร่วมดำเนินการโครงการ มีความรู้ความสามารถ เหมาะสม และเพียงพอ และงบประมาณดำเนินโครงการได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต้นสังกัด เหมาะสมเพียงพอ และ โรงเรียนมีสื่อการเรียนการสอนและเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเหมาะสมกับโครงการ 3) ผลการประเมินด้านกระบวนการเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ ผลการประเมินผ่านเกณฑ์อยู่ในระดับมาก ในด้านการจัดการเรียนการสอนตามโครงการเน้นการปฏิบัติเพื่อพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ มีการใช้ผลการเรียนเพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง และมีการประเมินผลการดำเนินงาน ก่อน ระหว่าง และหลังดำเนินโครงการอย่างเป็นระบบ 4) ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อ ผลการประเมินผ่านเกณฑ์ มีความเหมาะสมในระดับมาก ในด้านนักเรียนมีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษด้านการพูด โรงเรียนสามารถเป็นต้นแบบและขยายผลในการจัดการเรียนการสอนหลักสูตร MEP และโครงการมีความต่อเนื่องและเป็นระบบ และนักเรียนมีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษด้านการฟัง 5) ผลการประเมิน ด้านผลกระทบ ผลการประเมินผ่านเกณฑ์มีความเหมาะสมในระดับมาก ในด้านนักเรียนในโครงการที่สำเร็จการศึกษาได้รับการยอมรับจากโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา(กรณีศึกษาต่อ) และ ผู้ปกครอง ชุมชน ให้การยอมรับ และมีความพึงพอใจในการจัดกิจกรรมตามหลักสูตร 6) ผลการประเมินด้านประสิทธิผล ผลการประเมินผ่านเกณฑ์มีความเหมาะสมในระดับมาก ในด้านนักเรียนมีทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษในการพูด โรงเรียนมีหลักสูตรภาษาอังกฤษสำหรับจัดการเรียนการสอนในรายวิชาพื้นฐานและรายวิชาเพิ่มเติมสำหรับนักเรียนที่มีประสิทธิภาพ นักเรียนได้รับการส่งเสริมให้กล้าแสดงออกและมีความสามารถพิเศษด้านภาษาอังกฤษเหมาะสมตามระดับชั้นเรียน นักเรียนมีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษด้านการอ่าน นักเรียนมีทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษด้านการเขียน และนักเรียนมีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษด้านการฟัง 7) ผลการประเมินด้านความยั่งยืน ผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ในด้านนักเรียนมีความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ สามารถใช้ต่อยอดในขั้นต่อไปและระดับที่สูงขึ้น โรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนโครงการ MEP ครบทุกระดับชั้นประถมศึกษา โครงการมีความต่อเนื่องเป็นระบบ และผู้ปกครองและชุมชนมีความเชื่อมั่นต่อหลักสูตรของโครงการ MEP ในระยะยาว 8) ผลการประเมินด้านการถ่ายโยงความรู้ ผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ในด้านนักเรียนสามารถประยุกต์องค์ความรู้ที่ได้รับไปใช้ได้ในชีวิตประจำวันและในอนาคต และโรงเรียนสามารถเป็นต้นแบบและขยายผลในการจัดการเรียนการสอนหลักสูตร MEP การประเมินผลความพึงพอใจของโครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 มีความพึงพอใจต่อโครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อ โดยรวม พบว่าอยู่ในระดับมาก ในด้านความเหมาะสมของสื่อวัสดุ อุปกรณ์ในการเรียนหลักสูตร MEP ความเหมาะสมของห้องเรียน MEP และ สามารถโต้ตอบโดยใช้ภาษาอังกฤษกับครูชาวต่างชาติ