การพัฒนารูปแบบการสอนดนตรีแบบร่วมมือ
ผู้วิจัย นายธวัชชัย วิริยะกุล
สังกัด โรงเรียนเทศบาลบ้านสุขสำราญ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
ปีที่ศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการสอนดนตรีแบบร่วมมือ เพื่อส่งเสริมทักษะปฏิบัติ ในชุมนุมโยธวาทิต สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สำรวจปัญหาและความต้องการในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมทักษะปฏิบัติ ในชุมนุมโยธวาทิต สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น 2) พัฒนารูปแบบการสอนดนตรีแบบร่วมมือ เพื่อส่งเสริมทักษะปฏิบัติ ในชุมนุมโยธวาทิต สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น 3) ทดลองใช้รูปแบบการสอนดนตรีแบบร่วมมือ เพื่อส่งเสริมทักษะปฏิบัติ ในชุมนุมโยธวาทิต สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น และ 4) ประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการสอนดนตรีแบบร่วมมือ เพื่อส่งเสริมทักษะปฏิบัติ ในชุมนุมโยธวาทิต สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ที่เรียนชุมนุมโยธวาทิต ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 โรงเรียนเทศบาลบ้านสุขสำราญ สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 40 คน ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย โดยใช้แบบวิเคราะห์เอกสาร แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม และแบบประเมินทักษะปฏิบัติ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา (จำนวน/ร้อยละ) วิเคราะห์เนื้อหา ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผลการสำรวจปัญหาและความต้องการในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมทักษะปฏิบัติ ในชุมนุมโยธวาทิต สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น พบว่า ปัญหาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ คือ ขาดกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ชุมนุมโยธวาทิตที่เป็นรูปธรรมและแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ นักเรียนมีความต้องการให้จัดกิจกรรมแบบรายกลุ่ม เพื่อส่งเสริมทักษะปฏิบัติ
2. ผลการพัฒนารูปแบบการสอนดนตรีแบบร่วมมือ เพื่อส่งเสริมทักษะปฏิบัติ ในชุมนุมโยธวาทิต สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น มี 4 องค์ประกอบ คือ หลักการของรูปแบบการสอน จุดประสงค์ของรูปแบบการสอน กระบวนการของรูปแบบการสอน และการประเมินรูปแบบการสอน โดยมีขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ GELP Model 4 ขั้นตอน คือ ขั้นจัดผู้เรียนเข้ากลุ่ม (G: Group) ขั้นเข้ากลุ่มย่อยเรียนรู้และฝึกปฏิบัติในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ (E: Expert Group) ขั้นเข้า กลุ่มใหญ่ (L: Large Group) และขั้นการนำเสนอผลงาน (P: Presentation) ซึ่งในขั้นเข้ากลุ่มย่อยเรียนรู้และฝึกปฏิบัติในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ได้มุ่งเน้นทักษะปฏิบัติ 5 ขั้นตอนย่อย คือ ขั้นการรับรู้ ขั้นสาธิตและให้ผู้เรียนปฏิบัติทักษะย่อย ขั้นให้เทคนิควิธีการ ขั้นการให้ลงมือปฏิบัติจนกลายเป็นกลไกที่สามารถปฏิบัติได้เอง และขั้นการกระทำอย่างชำนาญ
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการสอนดนตรีแบบร่วมมือ เพื่อส่งเสริมทักษะปฏิบัติ ในชุมนุมโยธวาทิต สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น พบว่า
3.1 ผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ ตามขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ GELP Model เพื่อส่งเสริมทักษะปฏิบัติ ในชุมนุมโยธวาทิต สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น มีประสิทธิภาพเท่ากับ 87.42/89.73 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ 80/80
3.2 นักเรียนที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ ตามขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ GELP Model เพื่อส่งเสริมทักษะปฏิบัติ ในชุมนุมโยธวาทิต สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น พบว่า มีทักษะปฏิบัติ โดยรวมอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย= 4.37, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.16)
3. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการสอนดนตรีแบบร่วมมือ เพื่อส่งเสริมทักษะปฏิบัติ ในชุมนุมโยธวาทิต สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น พบว่า มีความพึงพอใจ โดยรวม อยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย= 4.39, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.56)