การพัฒนากลยุทธ์การบริหารงานวิชาการเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา
โรงเรียนเทศบาล 7 (วัดประสิทธิชัย)
ผู้วิจัย นายทวีสิทธิ์ สมัครกิจ
ปีที่ทำวิจัย 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพแวดล้อมภายนอกและภายในของการบริหารงานวิชาการเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนเทศบาล 7 (วัดประสิทธิชัย) 2) เพื่อศึกษาสภาพและปัญหาการบริหารงานวิชาการเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนเทศบาล 7 (วัดประสิทธิชัย) 3) เพื่อพัฒนากลยุทธ์การบริหารงานวิชาการเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา โรงเรียนเทศบาล 7 (วัดประสิทธิชัย) เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาโดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มประชากรผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดเทศบาลนครตรัง คณะครูโรงเรียนเทศบาล 7 (วัดประสิทธิชัย) กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และกรรมการชมรมผู้ปกครองของโรงเรียน รวมทั้งสิ้น 48 คน เครื่องมือวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม แบบวิเคราะห์เอกสาร วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงแบนมาตรฐาน วิเคราะห์เนื้อหาและการแจกแจงความถี่ ผู้วิจัยร่างกลยุทธ์จากตาราง TOWS Matrix โดยใช้ SWOT Analysis มีการร่างกลยุทธ์โดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 รอบ รอบแรกเป็นการประชุมสนทนากลุ่ม ส่วนรอบที่สองเป็นการประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้
ผลการวิจัยพบว่า
1) สภาพแวดล้อมภายนอกและภายในของการบริหารงานวิชาการ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนเทศบาล 7 (วัดประสิทธิชัย) เป็นโอกาส คือบุคลากรได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบครูมีคุณภาพ ส่วนสภาพแวดล้อมภายนอกที่เป็นภาวะคุกคาม คือการลดอัตรากำลังคนทำให้ภาพรวมของโรงเรียนขาดแคลนครู สำหรับสภาพแวดล้อมภายในที่เป็นจุดแข็ง คือผู้บริหารมีภาวะผู้นำ มีวิสัยทัศน์ และมีความสามารถในการบริหารจัดการงานวิชาการและสภาพแวดล้อมภายในที่เป็นจุดอ่อนคือ ระบบการช่วยเหลือนักเรียนที่ไม่เข้มแข็ง
2) สภาพและปัญหาการบริหารงานวิชาการ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา โรงเรียนเทศบาล 7 (วัดประสิทธิชัย) พบว่า สภาพและปัญหาการบริหารงานวิชาการของโรงเรียน 17 ด้านอยู่ในระดับปานกลางถึงมากมีปัญหาคือ ขาดครู ขาดงบประมาณ ขาดวัสดุ ขาดการนิเทศ
3) กลยุทธ์การบริหารงานวิชาการเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา โรงเรียนเทศบาล 7 (วัดประสิทธิชัย) ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์ ได้แก่ (1) การปรับกระบวนการวางแผนงานวิชาการสู่คุณภาพผู้เรียน (2) การยกระดับคุณภาพหลักสูตรและการเรียนการสอน (3) เครือข่ายขับเคลื่อนคุณภาพผู้เรียนและคุณภาพการศึกษา (4) การปรับปรุงระบบกำกับ ติดตามและประเมินผล