การประเมินโครงการโรงเรียนปลอดขยะ โรงเรียนเทศบาลวัดไผ่ล้อม
จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยใช้รูปแบบการประเมินโครงการแบบ CIPPIEST Model
ปีการศึกษา 2563
ชื่อผู้ประเมิน นายธีระวัฒน์ อ้นทองทิม ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษา
วิทยฐานะ ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษโรงเรียนเทศบาลวัดไผ่ล้อม อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
บทคัดย่อ
การประเมินในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการดำเนินงานโครงการโรงเรียนปลอดขยะ โรงเรียนเทศบาลวัดไผ่ล้อม จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยใช้รูปแบบการประเมินโครงการแบบ CIPPIEST Model ตามความคิดเห็นของผู้รับผิดชอบโครงการ ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในด้านบริบท (Context)
ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ด้านกระบวนการ (Process) ด้านผลผลิต (Product) ด้านผลกระทบ (Impact) ด้านประสิทธิผล (Effectiveness) ด้านความยั่งยืน (Sustainability) และด้านการถ่ายทอดส่งต่อ (Transportability) แหล่งข้อมูลในการประเมิน ประกอบด้วย ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของโครงการ มีจำนวนทั้งสิ้น 226 คน จำแนกเป็น ผู้รับผิดชอบโครงการ จำนวน 1 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน ครู จำนวน 10 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 104 คน และนักเรียน จำนวน 104 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ 1) แบบสัมภาษณ์ ผู้รับผิดชอบโครงการ เป็นแบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง 2) แบบสอบถาม จำนวน 5 ฉบับ มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ 3) แบบทดสอบความรู้ในการจัดการขยะของนักเรียน มีลักษณะเป็นแบบเลือกตอบใช่ ไม่ใช่ ไม่ทราบ 4) แบบประเมินการปฏิบัติในการจัดการขยะของนักเรียน มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ และ 5) แบบประเมินจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมของนักเรียน มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติการแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไป ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สำหรับการ วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับระดับความคิดเห็นและระดับการปฏิบัติ และการวิเคราะห์เนื้อหา สำหรับการวิเคราะห์ ข้อเสนอแนะ และแบบสัมภาษณ์
ผลการประเมิน พบว่า 1) ผลการประเมินด้านบริบทโดยภาพรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการ มีความชัดเจน เหมาะสมต่อการส่งเสริมการจัดการขยะได้อย่างมีคุณภาพ 2) ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าโดยภาพรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด โรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ห้องเรียนและสภาพบริเวณโดยรอบ ได้รับการพัฒนา ปรับปรุงเพื่อให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ 3) ผลการประเมินด้านกระบวนการโดยภาพรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด มีการประชุมจัดทำแผนงานและแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบและการกำหนดภารกิจของผู้รับผิดชอบแต่ละกิจกรรมอย่างชัดเจน ทำให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความราบรื่น 4) ผลการประเมินด้านผลผลิต พบว่า ความรู้ในการจัดการขยะของนักเรียนมีผลออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจ และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ดังนี้ 4.1) นักเรียนกลุ่มเป้าหมายมีคะแนนผลทดสอบเฉลี่ย เรื่อง ความรู้ในการจัดการขยะ สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 4.2) นักเรียนกลุ่มเป้าหมาย มีระดับการปฏิบัติด้านการจัดการขยะ ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด 4.3) นักเรียนกลุ่มเป้าหมายมีระดับจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก 4.4) ผู้ปกครองนักเรียนมีระดับความพึงพอใจที่มีต่อโครงการโรงเรียนปลอดขยะ ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด 5) ผลการประเมินด้านผลกระทบโดยภาพรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด โรงเรียนได้รับรางวัลโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) ในระดับดี จากกรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันเกิดจากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการ ส่งผลให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมั่นในการจัดการศึกษา 6) ผลการประเมินด้านประสิทธิผลโดยภาพรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ผลการดำเนินงานโครงการสามารถตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างครอบคลุม และครูมีประสิทธิภาพในการจัดกิจกรรมมากขึ้น 7) ผลการประเมินด้านความยั่งยืนโดยภาพรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด โครงการควรมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งครูผู้สอน ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมให้ความร่วมมือ สนับสนุนการดำเนินโครงการต่อไป และ 8) ผลการประเมินด้านการถ่ายทอดส่งต่อโดยภาพรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด โครงการสามารถเป็นแบบอย่างขยายผลให้กับโรงเรียนอื่นได้