การพัฒนารูปแบบการสอนที่เน้นทักษะการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
บริบทของท้องถิ่นอำเภอพิบูลมังสาหาร สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ผู้วิจัย นายเสนาะ คำเสียง
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ
สถานศึกษา โรงเรียนพิบูลมังสาหาร สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี กรมส่งเสริมการ
ปกครองท้องถิ่น
ปีที่จัดทำ 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับปัญหาและความต้องการจำเป็นในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 2) พัฒนารูปแบบการที่เน้นทักษะการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร โดยใช้บริบทของท้องถิ่นอำเภอพิบูลมังสาหาร สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 3) ทดลองใช้รูปแบบการสอนที่เน้นทักษะการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร โดยใช้บริบทของท้องถิ่นอำเภอพิบูลมังสาหาร สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 4) ประเมินผล/ปรับปรุงรูปแบบการสอน ที่เน้นทักษะการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร โดยใช้บริบทของท้องถิ่นอำเภอพิบูลมังสาหาร สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยการวิจัยครั้งนี้ได้ทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่างได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 โรงเรียนพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 40 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) รูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้แบบเน้นงานปฏิบัติ 2) แผนการจัดการเรียนรู้รูปแบบการสอนที่เน้นทักษะการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร 3) แบบสอบถามข้อมูลพื้นฐานเพื่อการจัดการเรียนรู้ 4) แบบสัมภาษณ์ครูผู้สอนเพื่อรวบรวมแนวคิดในการจัดกิจกรรมรูปแบบการสอน 5) แบบทดสอบวัดความสามารถทางการพูดและเกณฑ์ประเมินการพูด และ 6) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการสอนที่เน้นทักษะการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ ค่า t-test แบบ Dependent Samples และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1) ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน มีผู้ตอบแบบสอบถามเป็นนักเรียนหญิงมากกว่านักเรียนชาย นักเรียนได้ผลการเรียน 2.5 มากที่สุดเมื่อเรียนจบอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และได้ผลการเรียน 3.5 น้อยที่สุด โดยทั่วไปนักเรียนต้องการที่จะพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษด้านการพูดมากที่สุด ในขณะที่ต้องการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษด้านการเขียนน้อยที่สุด นักเรียนชอบรูปแบบในการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารมากที่สุด สำหรับวิธีสอนแบบอภิปรายมีค่าร้อยละน้อยที่สุด นักเรียนต้องการเรียนจากตัวอย่างข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยมากที่สุด มีความชอบโครงสร้างไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ และการเขียนสรุปบทเพลงน้อยที่สุด นักเรียนต้องการเรียนด้วยสื่อชุดฝึกเสริมทักษะมากที่สุด และต้องการเรียนด้วยหนังสือเล่มเล็กน้อยที่สุด นักเรียนรู้สึกชอบและภาคภูมิใจในกิจกรรมการทำงานกลุ่มมากที่สุด ในขณะที่ชอบการร่วมแสดงบทบาทสมมติน้อยที่สุด จากการสัมภาษณ์ครูผู้มีประสบการณ์ในด้านการจัดการเรียนการสอนภาษา อังกฤษ สรุปความได้สอดคล้องกันว่า นักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มีปัญหาการเรียนวิชาภาษาอังกฤษในทักษะการเขียนค่อนข้างสูง โดยนักเรียนบางคนขาดความรู้ความเข้าใจในวิชาภาษอังกฤษมาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ทำให้เกิดความท้อแท้และเบื่อหน่ายในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษเรื่อยมา รวมถึงตัวนักเรียนขาดความขยันหมั่นเพียรในการท่องศัพท์ การจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพโดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแต่ละคนสามารถทำงานกลุ่มร่วมกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ส่งเสริมผู้เรียนให้สามารถฝึกเขียนได้อย่างสะดวกสบายซึ่งเป็นการจัดการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
2) ผลการพัฒนารูปแบบการสอนที่เน้นทักษะการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร โดยใช้บริบทของท้องถิ่นอำเภอพิบูลมังสาหาร สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ได้รูปแบบกิจกรรมที่พัฒนาขึ้นมาโดยรูปแบบมีองค์ประกอบคือ หลักการ วัตถุประสงค์ เนื้อหา กระบวนการกิจกรรม สิ่งที่เสริมการเรียนรู้ได้แก่ ระบบสังคม หลักการตอบสนอง และสิ่งสนับสนุน สำหรับกระบวนการจัดกิจกรรมรูปแบบการสอนที่เน้นทักษะการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร โดยใช้บริบทของท้องถิ่นอำเภอพิบูลมังสาหาร สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีขั้นตอนดังนี้ 1) ขั้นสังเกตและรวบรวมข้อมูล (Gathering) 2) ขั้นวิเคราะห์และสรุปความรู้ (Processing) 3) ขั้นปฏิบัติและสรุปความรู้หลังปฏิบัติ (Applying : A1) 4) ขั้นสื่อสารและนำเสนอ (Applying : A2) 5) ขั้นประเมินผลและแสดงผลงาน (Authentic Assessment Stage) ผลการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ 5 ท่าน มีความคิดเห็นต่อรูปแบบการสอนโดยรวมอยู่ในระดับเหมาะสมมากที่สุด ( = 4.54, S.D.= 0.56) และผลการพัฒนารูปแบบการสอนมีประสิทธิภาพ E1/E2 = 80.32/81.83
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการสอนที่เน้นทักษะการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร โดยใช้บริบทของท้องถิ่นอำเภอพิบูลมังสาหาร สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 พบว่านักเรียนมีความสนใจและกระตือรือร้นในการเรียน ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติกิจกรรมเป็นอย่างดี นำเสนอผลงานเป็นที่น่าพอใจ และความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ผลการประเมิน/ปรับปรุงรูปแบบการสอนที่เน้นทักษะการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร โดยใช้บริบทของท้องถิ่นอำเภอพิบูลมังสาหาร สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 พบว่า ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบการสอนที่เน้นทักษะการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร โดยใช้บริบทของท้องถิ่นอำเภอพิบูลมังสาหาร สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และจากการปรับปรุงรูปแบบการสอนตามข้อคิดเห็นของนักเรียน เพื่อนครู และข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญทำให้รูปแบบการสอนที่เน้นทักษะการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร โดยใช้บริบทของท้องถิ่นอำเภอพิบูลมังสาหาร สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีความสมบูรณ์และนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น