การพัฒนาความรู้และความสามารถในการเชื่อมโยงทางคณิตศาสตร์โดยการจัด
ผู้วิจัย อภิรดี พฤฒิพัฒนพงศ์ ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
ปีการศึกษาที่วิจัย 2562
บทคัดย่อ
การพัฒนาความรู้และความสามารถในการเชื่อมโยงทางคณิตศาสตร์ โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาล ๓ (วิมุกตายนวิทยา) เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบความรู้ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนระหว่างกลุ่มที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญากับกลุ่มที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ แบบปกติ 2) เปรียบเทียบความสามารถในการเชื่อมโยงทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนที่ได้รับการจัด กิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา ระหว่างก่อนการทดลองกับหลังการทดลอง 3) เปรียบเทียบความสามารถในการเชื่อมโยงทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนระหว่างกลุ่มที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญากับกลุ่มที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์แบบปกติ 4) ศึกษาพัฒนาการด้านความสามารถใน การเชื่อมโยงทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวทฤษฎี พหุปัญญา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนเทศบาล ๓ (วิมุกตายนวิทยา) เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก โดยจำแนกนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/1 เป็นกลุ่มทดลอง นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/3 เป็นกลุ่มควบคุม ได้มาจากการสุ่มอย่างง่าย ด้วยวิธีการเลือกแบบเจาะแจง ( Purposive sampling ) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ 1) แบบทดสอบวัดความรู้ทางคณิตศาสตร์ก่อนเรียน 2) แบบทดสอบวัดความรู้ทางคณิตศาสตร์ หลังเรียน 3) แบบทดสอบวัดความสามารถในการเชื่อมโยงทางคณิตศาสตร์ก่อนเรียน 4) แบบทดสอบวัดความสามารถในการเชื่อมโยงทางคณิตศาสตร์หลังเรียน
วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต (X̅) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S) ความแปรปรวน วิเคราะห์ค่าที (t-test) และวิเคราะห์ค่าเอฟ (F-test) ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ (Statistical Package for Social Science : SPSS)
ผลการวิเคราะห์
1. นักเรียนกลุ่มทดลองที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา มีความรู้ทางคณิตศาสตร์หลังการทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์แบบปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2. นักเรียนกลุ่มทดลองที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา มีความสามารถในการเชื่อมโยงทางคณิตศาสตร์หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. นักเรียนกลุ่มทดลองที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา มีความสามารถในการเชื่อมโยงทางคณิตศาสตร์หลังการทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์แบบปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. นักเรียนกลุ่มทดลองที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา มีพัฒนาการด้านความสามารถในการเชื่อมโยงทางคณิตศาสตร์ในทิศทางที่ดีขึ้น