การใช้วัฏจักร 7 ขั้นต่อการคิดคิดวิเคราะห์
ในการคิดวิเคราะห์และเจตคติต่อวิชาภาษาไทย ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ผู้วิจัย นางสาวณฐพรรณ เจนปัญญากุล
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อ (1) เปรียบเทียบความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ที่เรียนโดยใช้วิธีการจัดการเรียนรู้ด้วยวัฏจักร การเรียนรู้ 7 ขั้น ก่อนและหลังการทดลอง และ (2) เปรียบเทียบเจตคติต่อวิชาภาษาไทยของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ ที่เรียนโดยใช้วิธีการจัดการเรียนรู้ด้วยวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น ก่อนและหลังการทดลอง
กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนสตรีวัดอัปสร-สวรรค์ จังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 43 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น เรื่องประโยคในภาษาไทย จำนวน 7 แผน 20 ชั่วโมง แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ แบบวัดเจตคติต่อวิชาภาษาไทยของนักเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบน และการทดสอบค่า t
ผลการวิจัยปรากฏว่า (1) ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หลังการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ .05 และ (2) เจตคติต่อวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หลังการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ .05