การประเมินโครงการโรงเรียนปลอดขยะ ของโรงเรียนเทศบาล 1 (ซอย 6)
ชื่อผู้วิจัย คณะผู้รับผิดชอบโรงเรียนปลอดขยะ
ปีการศึกษา 2563
คำสำคัญ การประเมินโครงการ, โรงเรียนปลอดขยะ, รูปแบบการประเมิน CIPPI
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อประเมินโครงการโรงเรียนปลอดขยะของโรงเรียนเทศบาล 1 (ซอย 6) 1) ด้านบริบท 2) ด้านปัจจัยนำเข้า 3) ด้านกระบวนการ 4) ด้านผลผลิต และ 5) ด้านผลกระทบ โดยใช้รูปแบบการประเมิน CIPPI ผู้ให้ข้อมูลในการประเมินบริบท ประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียน จำนวน 1 คน และครูผู้รับผิดชอบโครงการ จำนวน 6 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 25 คน ผู้ให้ข้อมูลด้านผลผลิต ความรู้ในการจัดการขยะ การปฏิบัติในการจัดการขยะ และด้านผลกระทบ จิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 โรงเรียนเทศบาล 1 (ซอย 6) จำนวน 183 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบแบ่งชั้น ผู้ให้ข้อมูลความพึงพอใจในการดำเนินโครงการ คือ ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 12 คน จากเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 1 (ซอย 6) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถาม ด้านบริบท มีค่าความเชื่อมั่น .90 ด้านปัจจัยนำเข้า มีค่าความเชื่อมั่น .85 ด้านกระบวนการ มีค่าความเชื่อมั่น .91 ด้านผลผลิต มีค่าความเชื่อมั่น .88 ด้านผลกระทบ มีค่าความเชื่อมั่น .89 แบบทดสอบความรู้ มีค่าความเชื่อมั่น .90 แบบประเมินการปฏิบัติ มีค่าความเชื่อมั่น .90 และแบบประเมินตนเอง มีค่าความเชื่อมั่น .87 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าทีแบบอิสระ
ผลการวิจัย พบว่า
1. ด้านบริบท มีความเหมาะสมสอดคล้องอยู่ระดับมากที่สุด วัตถุประสงค์ของการจัดทำโครงการมีความสอดคล้องกับปัญหาด้านขยะของโรงเรียน โครงการโรงเรียนปลอดขยะมีความสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ และมีความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมายของโรงเรียน
2. ด้านปัจจัยนำเข้า บุคลากร วัสดุ อุปกรณ์ งบประมาณ มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
3. ด้านกระบวนการ การดำเนินโครงการโรงเรียนปลอดขยะ ประกอบด้วย 1) ประกาศนโยบาย การสนับสนุน และแผนการดำเนินงาน 2) บูรณาการการเรียนรู้การจัดการขยะมูลฝอย 3) การจัดการขยะ 3Rs 4) เครือข่ายการเรียนรู้การจัดการขยะ 5) ประกวดสิ่งประดิษฐ์จากขยะ 6) การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทุกกิจกรรมมีคุณภาพการดำเนินงานอยู่ในระดับมาก
4. ด้านผลผลิต นักเรียนมีความรู้ในการจัดการขยะ สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ร้อยละ 60
5. ด้านผลกระทบ จิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมของนักเรียน อยู่ในระดับมาก ความพึงพอใจในการดำเนินโครงการของผู้ปกครอง อยู่ในระดับมากที่สุด