การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนพลศึกษา เพื่อเสริมสร้างพฤติกรร
ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนพลศึกษา เพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมสุขภาพ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ชื่อผู้วิจัย นางณพิชญา เลขยันต์ ตำแหน่ง ครู วิยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาล ๑ (ซอย ๖) สังกัดกองการศึกษาเทศบาลตำบลโคกตูม อำเภอเมือง
จังหวัดลพบุรี
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา ( Research & Development ) มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนพลศึกษา เพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมสุขภาพ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 2) เพื่อการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนพลศึกษา เพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมสุขภาพ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนพลศึกษา เพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมสุขภาพ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และ 4) เพื่อประเมินผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนพลศึกษา เพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมสุขภาพ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แหล่งข้อมูล/กลุ่มเป้าหมายตามวัตถุประสงค์การวิจัยขั้นตอนที่ 1 ได้แก่ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แผนการศึกษาแห่งชาติ และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา สาระที่ 3 การเคลื่อนไหว การออกกำลังกาย การเล่นเกม กีฬาไทยและกีฬาสากล ทฤษฎีการเรียนรู้ด้วยการสร้างความรู้ ( Constructivist Learning Theory ) ทฤษฎีการสร้างความรู้ (Constructivism) ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มที่เน้นการเรียนรู้และการเชื่อมโยงความคิด (Apperception หรือ Herbartianism) ทฤษฎีการเชื่อมโยงของธอร์นไดค์ (Thorndike’s Classical Connectionnism) ทฤษฎีการเรียนรู้ด้วยกระบวนการค้นพบ (Discovery Learning) และทฤษฎีพหุปัญญา และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องความต้องการในการจัดการเรียนรู้พลศึกษาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2561 ภาคเรียนที่ 2 จำนวน 30 คน ประเด็นการสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการครูหัวน้างานวิชาการโรงเรียนและครูหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา และประเด็นการสนทนาอย่างไม่เป็นทางการของครูผู้สอนสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษาจำนวน 3 คน แหล่งข้อมูล/กลุ่มเป้าหมายตามวัตถุประสงค์การวิจัยขั้นตอนที่ 2 ได้แก่ ข้อมูลพื้นฐานที่ได้จากขั้นตอนที่ 1 และผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน ตรวจสอบความเหมาะสม/สอดคล้อง นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 30 คน ที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง แหล่งข้อมูล/กลุ่มตัวอย่างตามวัตถุประสงค์การวิจัยขั้นตอนที่ 3 และ 4 ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนเทศบาล ๑ (ซอย ๖) จำนวน 31 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive selection) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) คู่มือการใช้รูปแบบการเรียนการสอน 2) แผนการจัดการเรียนรู้ 3) แบบประเมินพฤติกกรมสุขภาพ ทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ แบบทดสอบวัดความรู้ความเข้าใจ ,แบบประเมินพฤติกรรมด้านสุขภาพ , แบบประเมินพฤติกรรมด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ (คุณธรรม), แบบประเมินพฤติกรรมสุขภาพด้านเจตคติทางการเรียนพลศึกษา, แบบประเมินพฤติกรรมสุขภาพด้านทักษะการเคลื่อนไหวและแบบประเมินพฤติกรรมสุขภาพด้านสมรรถภาพทางกาย 4) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนพลศึกษา และ 5) แบบสอบถามความพึงพอใจต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอนของนักเรียน การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปและการคิดวิเคราะห์เนื้อหา ( content analysis ) สถิติที่ใช้ได้แก่ การหาค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าที ( t-test dependent )
ผลการวิจัย
1. ข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนพลศึกษา เพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมสุขภาพ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พบว่า จุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษาและจุดมุ่งหมายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา มีเป้าหมายการของการศึกษาที่สอดคล้องกันเพื่อพัฒนาคุณภาพคนให้มีคุณธรรมและมีความรอบรู้ มีความพร้อมทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และศีลธรรม ซึ่งสาระที่ 3 การเคลื่อนไหว การออกกำลังกาย การเล่นเกม กีฬาไทย และกีฬาสากล เป็นสาระที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคนในองค์รวมเป็นการเตรียมเด็กและเยาวชนให้มีพื้นฐานจิตใจที่ดีงาม มีจิตสาธารณะ อันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และจากความคิดเห็นของนักเรียนก็มีความต้องการให้ครูจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายผสมผสานกันทุกส่วนด้วยกระบวนการกลุ่มเนื่องจากการสมผสานกันทุกส่วนของร่างกายเป็นสิ่งที่นักเรียนสามารถนำไปใช้ในการเล่นกีฬาและชีวิตประจำวันได้ ส่วนหัวหน้างานวิชาการโรงเรียนและครูหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษารวมทั้งครูผู้สอนมีความคิดเห็นที่สอดคล้องกันว่าครูผู้สอนควรปรับปรุงการเรียนการสอนพลศึกษาให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับศักยภาพของผู้เรียนและมุ่งเสริมสร้างพฤติกรรมสุขภาพให้กับผู้เรียนให้ครอบคลุมทั้ง 5 ด้าน ข้อมูลพื้นฐานในการวิจัยเพียงพอคอบคลุมและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการวิจัย เป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 1
2. ผลการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนพลศึกษา เพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมสุขภาพ
สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พบว่า รูปแบบการเรียนการสอนพลศึกษา (MCPC Model ) ที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วยกระบวนการเรียนรู้ 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การจูงใจเตรียมความพร้อม (Motivation: M ) ขั้นตอนที่ 2 การสร้างความรู้ (Construction: C ) ขั้นตอนที่ 3 การฝึกปฏิบัติ (Practice: P) ประกอบด้วยการฝึกปฏิบัติโดยการชี้แนะ (Guided Practice) และการฝึกทักษะปฏิบัติอย่างอิสระ (Independent Practice) และขั้นตอนที่ 4 การสรุป (Closing phase) มีความเหมาะสม/สอดคล้องตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ อยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.87 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.19 และจากการหาประสิทธิภาพโดยนำไปทดลองใช้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 ที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 30 คน พบว่า มีประสิทธิภาพ ( E1/E2 ) โดยภาพรวมเท่ากับ 85.05/89.25 เป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 2
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนพลศึกษา เพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมสุขภาพ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พบว่า จากการนำรูปแบบการเรียนการสอนพลศึกษา (MCPC Model ) ไปทดลองใช้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive selection) หลังการจัดการเรียนรู้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนพลศึกษาสูงกว่าก่อนเรียนมีคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 26.00 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 2.85 และมีผลการประเมินพฤติกรรมสุขภาพทั้ง 5 ด้าน ดังนี้ 1) ด้านความรู้มีคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 9.97 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.83 2) ด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ (คุณธรรมทางการพลศึกษา) มีคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 18.29 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 5.20 3) ด้านเจตคติทางการเรียนพลศึกษามีคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 18.68 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 4.72 4) ด้านทักษะการเคลื่อนไหว มีคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 13.13 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 1.20 และ 5) ด้านสมรรถภาพทางกาย มีคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 21.65 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 1.870 เป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 3
4. ผลการประเมินการใช้รูปแบบการเรียนการสอนพลศึกษา เพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมสุขภาพ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พบว่า หลังการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้พลศึกษา (MCPC Model ) นักเรียนมีพฤติกรรมสุขภาพทั้ง 5 ด้าน ดังนี้ 1) ด้านความรู้มีค่าการทดสอบที ( t-test dependent ) เท่ากับ 29.68 2) ด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ (คุณธรรมพลศึกษา) มีค่าการทดสอบที ( t-test dependent ) เท่ากับ 37.84 3) ด้านเจตคติทางการเรียนพลศึกษา มีค่าการทดสอบที ( t-test dependent ) เท่ากับ 24.88 4) ด้านทักษะการเคลื่อนไหว มีค่าการทดสอบที ( t-test dependent ) เท่ากับ 27.39 และ 5) ด้านสมรรถภาพทางกาย มีค่าการทดสอบที ( t-test dependent ) เท่ากับ 47.50 เป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 4 และด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนพลศึกษาสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีค่าการทดสอบที ( t-test dependent ) เท่ากับ 42.40 เป็นไปตาสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 5
5. ผลการประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการเรียนการสอนพลศึกษา เพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมสุขภาพ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พบว่าหลังการใช้รูปแบบการเรียนการสอนนักเรียนมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการเรียนการสอนอยู่ในระดับสูงมาก เป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 6