เผยแพร่ผลงาน
ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการนิเทศการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการพัฒนาบทเรียนร่วมกันผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ โดยประยุกต์ใช้หลักการบริหารตามทฤษฎี
เชิงระบบในการเสริมสร้างความสามารถการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครู โรงเรียนเมืองพัทยา 5 (บ้านเนินพัทธยาเหนือ) สังกัดเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี
ผู้วิจัย นางนฤมล อินทพงษ์
ผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเมืองพัทยา 5 (บ้านเนินพัทธยาเหนือ) สังกัดเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี
ปีวิจัย ปีการศึกษา 2562 (พ.ศ. 2562 – 2563)
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการจำเป็นในการนิเทศการจัดการเรียนรู้ 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการนิเทศการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการพัฒนาบทเรียนร่วมกันผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ โดยประยุกต์ใช้หลักการบริหารตามทฤษฎีเชิงระบบ 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการนิเทศการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการพัฒนาบทเรียนร่วมกันผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ โดยประยุกต์ใช้หลักการบริหารตามทฤษฎีเชิงระบบ และ 4) เพื่อประเมินผลการใช้รูปแบบการนิเทศการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการพัฒนาบทเรียนร่วมกันผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ โดยประยุกต์ใช้หลักการบริหารตามทฤษฎี
เชิงระบบในการเสริมสร้างความสามารถการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครู โรงเรียนเมืองพัทยา 5 (บ้านเนินพัทธยาเหนือ) สังกัดเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี การวิจัยแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 การ ศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการจำเป็นในการนิเทศการจัดการเรียนรู้ ของโรงเรียนเมืองพัทยา 5 (บ้านเนินพัทธยาเหนือ) ประชากร คือ ครู โรงเรียนเมืองพัทยา 5 (บ้านเนินพัทธยาเหนือ) จำนวน 65 คน โดยการตอบแบบสอบถาม และกลุ่มผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ผู้บริหารและครู โรงเรียนเมืองพัทยา 5 (บ้านเนินพัทธยาเหนือ) จำนวน 11 คน โดยการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามและแบบบันทึกการสนทนากลุ่ม ระยะที่ 2 การออกแบบและพัฒนารูปแบบการนิเทศการจัดการเรียนรู้ฯ กลุ่มผู้ให้ข้อมูล คือ ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการนิเทศการจัดการเรียนรู้ฯ หรือรูปแบบ STEPLEARNE ระยะที่ 3 การนำรูปแบบการนิเทศการจัดการเรียนรู้ฯ หรือรูปแบบ STEPLEARNE ไปใช้ ประชากร คือ ครู ที่ไม่ใช่กลุ่มผู้นิเทศ โรงเรียนเมืองพัทยา 5 (บ้านเนินพัทธยาเหนือ) จำนวน 53 คน เครืองมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบประเมินความสามารถในการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครู และ ระยะที่ 4 การประเมินผลการใช้รูปแบบการนิเทศการจัดการเรียนรู้ฯ หรือรูปแบบ STEPLEARNE กลุ่มตัวอย่าง คือ ครูและผู้เรียน โรงเรียนเมืองพัทยา 5 (บ้านเนินพัทธยาเหนือ) จำนวน 320 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบประเมินความพึงพอใจในการใช้รูปแบบการนิเทศการจัดการเรียนรู้ฯ หรือรูปแบบ STEPLEARNE สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
สรุปผลการวิจัย
1. ข้อมูลสภาพปัจจุบันในการนิเทศการจัดการเรียนรู้ ของโรงเรียนเมืองพัทยา 5 (บ้านเนินพัทธยาเหนือ) พบประเด็นด้านการวางแผนและออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ ด้านการจัดการเรียนรู้ และด้านการสะท้อนการจัดการเรียนรู้ ข้อมูลความต้องการจำเป็น (Need Assessment) อยู่ในระดับมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1) การส่งเสริมให้ผู้รับการนิเทศออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกให้ผู้เรียนสรุปองค์ความรู้ และนำเสนอความรู้ด้วยรูปแบบต่าง ๆ 2) การวิเคราะห์ตัวชี้วัดหรือผลการเรียนรู้ สาระการเรียนรู้แกนกลาง ร่วมกันระหว่างผู้รับการนิเทศและผู้นิเทศ และ 3) การสอบถามความพึงพอใจของผู้รับการนิเทศในการดำเนินงานนิเทศการจัดการเรียนรู้
2. การพัฒนารูปแบบการนิเทศการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการพัฒนาบทเรียนร่วมกันผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ โดยประยุกต์ใช้หลักการบริหารตามทฤษฎีเชิงระบบ หรือรูปแบบ STEPLEARNE ประกอบด้วย ด้านปัจจัย (Input) ได้แก่ 1) การคัดเลือกผู้นิเทศ (Selecting : S) 2) การสร้างความเชื่อมั่นและความไว้ใจ (Trust : T) 3) การให้ความรู้เพื่อความเข้าใจ (Educating : E) ด้านกระบวนการ (Process) เป็นการดำเนินการตามกระบวนการของ Process in LEARN หรือ PLEARN และด้านผลผลิตและผลลัพธ์ (Output & Outcome) เป็นการประเมินผล (Evaluating : E) ซึ่งมีความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการนำไปใช้ในการนิเทศการจัดการเรียนรู้ อยู่ในระดับมากที่สุด
3. การทดลองใช้รูปแบบการนิเทศการจัดการเรียนรู้ฯ หรือรูปแบบ STEPLEARNE ในการเสริมสร้างความสามารถการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครู โรงเรียนเมืองพัทยา 5 (บ้านเนินพัทธยาเหนือ) สังกัดเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี พบว่า ความสามารถในการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครู โรงเรียนเมืองพัทยา 5 (บ้านเนินพัทธยาเหนือ) อยู่ในระดับดีมาก ความสามารถในการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูในแต่ละขั้นมีการพัฒนาขึ้นตามลำดับ จากการนิเทศการจัดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง 3 ครั้ง
4. การประเมินผลรูปแบบการนิเทศการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการพัฒนาบทเรียนร่วมกันผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือรูปแบบ STEPLEARNE โดยประยุกต์ใช้หลักการบริหารตามทฤษฎีเชิงระบบ ในการเสริมสร้างความสามารถการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครู โรงเรียนเมืองพัทยา 5 (บ้านเนินพัทธยาเหนือ) สังกัดเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี พบว่า ภาพรวมครูและผู้เรียนมีความพึงพอใจในการใช้รูปแบบฯ อยู่ในระดับมากที่สุด