การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อน อ่านต่อได้ที่: ht
สังกัดเทศบาลเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี
ผู้วิจัย นางสาวอรุณี เจริญจิตรกรรม
ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา สังกัดเทศบาลเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เป็นลักษณะของการวิจัยและพัฒนา มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สร้างและพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา และ 2) ประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบการบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา กลุ่มตัวอย่างในการทดลองได้แก่ โรงเรียนเทศบาล ๕ (พหลโยธินรามินทรภักดี) ประกอบด้วยผู้บริหาร 2 คน ครูผู้สอน 78 คน และผู้ปกครองนักเรียน 400 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบ เครื่องมือในการตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบ และเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าสถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
1. การสร้างและพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา สังกัดเทศบาลเมืองราชบุรี มีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ด้าน คือ 1) องค์ประกอบด้านโครงสร้าง ได้แก่ หลักการ และวัตถุประสงค์ 2) องค์ประกอบด้านกระบวนการ คือกระบวนการ RSLTNE มีขั้นตอนดำเนินการ 6 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 การเตรียมความพร้อม (R) ขั้นที่ 2 การวางแผนกลยุทธ์ (S) ขั้นที่ 3 การจัดระบบการเรียนรู้ (L) ขั้นที่ 4 การนำแผนงานไปปฏิบัติ (T) ขั้นที่ 5 การสร้างเครือข่ายและขยายผล (N) และขั้นที่ 6 การประเมินผล (E) และ 3) องค์ประกอบด้านปัจจัยสนับสนุน โดยรูปแบบมีประสิทธิภาพด้านความสมเหตุสมผลเชิงทฤษฎี ด้านความเป็นไปได้ และด้านความสอดคล้องของรูปแบบ ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
2. ประสิทธิภาพของรูปแบบการบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา สังกัดเทศบาลเมืองราชบุรี มีผลสรุปว่า ความสามารถในการออกแบบแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและความสามารถในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของครู ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก คุณลักษณะการอยู่อย่างพอเพียงของนักเรียน ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก และความพึงพอใจของผู้บริหาร และครูที่มีต่อรูปแบบการบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก