การพัฒนารูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
ผู้วิจัย นายพายุ วรรัตน์
ปีที่จัดทำ 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) เพื่อการศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการในการพัฒนารูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน 2) พัฒนารูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน 3) ทดลองใช้รูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน 4)ประเมินผลรูปแบบการพัฒนาการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขมิ้นพิทยาสรรพ์ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ ได้แก่ ครู/ผู้บริหารโรงเรียนขมิ้นพิทยาสรรพ์ จำนวน 27 คน กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 14 คน กลุ่มตัวอย่างได้แก่ นักเรียน จำนวน 140 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 140 คน โดยมีวิธีดำเนินการวิจัย เป็น 4 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ระยะที่ 2 สร้างรูปแบบการบริหาร ระยะที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบการบริหาร และระยะที่ 4 ประเมินผลการใช้รูปแบบการบริหาร เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ แบบสอบถาม แบบประเมินและแบบสัมภาษณ์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้
1. สรุปผลการศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในภาพรวม 6 ด้าน พบว่า ทุกด้านมีการดำเนินการอยู่ในระดับมาก เรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อยได้ดังนี้ ด้านการมีภาวะผู้นำแบบเกื้อหนุน ด้านการบริหารตนเอง ด้านการบริหารทั้งระบบ ด้านความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ ด้านการบริหารแบบมีส่วนร่วมและด้านการกระจายอำนาจ
ส่วนสภาพความต้องการดำเนินการในภาพรวมทุกด้าน พบว่ามีความต้องการอยู่ในระดับมากที่สุด และทุกด้านมีความต้องการอยู่ในระดับมากที่สุด โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อยได้ดังนี้ ด้านการบริหารแบบมีส่วนร่วม ด้านความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ ด้านการกระจายอำนาจ ด้านการบริหารตนเอง ด้านการบริหารทั้งระบบและด้านการมีภาวะผู้นำแบบเกื้อหนุน ตามลำดับ
2. สรุปผลการสร้างและพัฒนารูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานเพื่อพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการศึกษาของโรงเรียนขมิ้นพิทยาสรรพ์ ประกอบด้วย 6 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ส่วนนำ ประกอบด้วย วัตถุประสงค์ แนวคิด และหลักการของรูปแบบ ส่วนที่ 2 องค์ประกอบของรูปแบบ ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ คือ สภาพแวดล้อมภายนอก ปัจจัยป้อนเข้า กระบวนการ
ผลผลิต/ผลลัพธ์และข้อมูลป้อนกลับ ส่วนที่ 3 แนวทางการนำรูปแบบไปใช้ ส่วนที่ 4 การประเมินรูปแบบและส่วนที่ 5 เงื่อนไขความสำเร็จ
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการบริหารเพื่อพัฒนาคุณภาพนักเรียนโดยการบริหารที่ใช้โรงเรียนเป็นฐานโดยสรุปผลได้ดังนี้
3.1 ผลการพัฒนาการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานพบว่าโดยภาพรวมการพัฒนาอยู่ในระดับมากที่สุด (x-bar = 4.72)
3.2 ผลการพัฒนาปัจจัยและกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้พบว่า โดยภาพรวมการพัฒนาอยู่ในระดับมาก (x-bar = 4.45)
3.3 ผลการประเมินคุณภาพการบริหารจัดการศึกษาตามเกณฑ์โรงเรียนมาตรฐานคุณภาพตัวอย่างท้องถิ่น ร้อยละ 80 พบว่า ผลการประเมินโดยภาพรวม ร้อยละ 82.52 ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 80
3.4 ผลการศึกษาความพึงพอใจต่อกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ ศึกษาของโรงเรียนขมิ้นพิทยาสรรพ์ สรุปได้ว่า ครู นักเรียน ผู้ปกครองนักเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีความพึงพอใจโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (X-bar = 4.53)
4. สรุปผลการประเมินการใช้รูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานเพื่อพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการศึกษาของโรงเรียนขมิ้นพิทยาสรรพ์ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (x-bar = 4.60)