การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based learning)
ชื่อผู้วิจัย : นางสาวศิรินันท์ สุรสันติวรการ
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนากระบวนการการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based learning) และการลงมือปฏิบัติ (Practical Learning) 2) เพื่อศึกษาผลการจัดการเรียนการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based learning) และการลงมือปฏิบัติ (Practical Learning) ในรายวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี ม.2 (ง 22104) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยได้มาโดยการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (purposive sampling) เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/5 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 39 คน
ผลการวิจัยพบว่า 1) กระบวนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based learning) และการลงมือปฏิบัติ (Practical Learning) เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ โดยปัญหาจะเป็นตัวกระตุ้นหรือนำทางให้ผู้เรียนต้องไปแสวงหาความรู้ความเข้าใจด้วยตนเอง เพื่อจะได้ค้นพบคำตอบของปัญหานั้น กระบวนการหาความรู้ด้วยตนเองนี้จะทำให้ผู้เรียนเกิดทักษะในการแก้ปัญหา และสามารถลงมือปฏิบัติในการสร้างชิ้นงานได้อย่างสร้างสรรค์ การจัดกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่มตัวอย่างมีความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based learning) และการลงมือปฏิบัติ (Practical Learning) ได้อย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง 2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของกลุ่มตัวอย่างโดยการสอนแบบโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based learning) และการลงมือปฏิบัติ (Practical Learning) พบว่า เมื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยก่อนและหลังเรียนพบว่า คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน และคะแนนความคิดสร้างสรรค์อยู่ในระดับดีมาก