การพัฒนาทักษะการอ่าน การเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียนก่อนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้การอ่าน การเขียนคำ ที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะ และ 3) เพื่อประเมินความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่มีต่อการจัดกิจกรรม การเรียนรู้การอ่าน การเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะ กลุ่มตัวอย่าง ที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านคอลอมุดอ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 3 ที่เรียนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 32 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบฝึกเสริมทักษะการอ่าน การเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด จำนวน 4 เล่ม แผนการจัดการเรียนรู้การใช้แบบฝึกเสริมทักษะการอ่าน การเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด จำนวน 20 ชั่วโมง แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังการเรียน แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะการอ่าน การเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละและ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1) แบบฝึกเสริมทักษะการอ่าน การเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีค่าประสิทธิภาพ ((E1/E2) เท่ากับ 89.84/90.42 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะการอ่าน การเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 พบว่า คะแนนเฉลี่ยร้อยละหลังเรียนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยร้อยละก่อนเรียน โดยมีค่าพัฒนาเฉลี่ยร้อยละ 33.33 ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้า
3) ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะการอ่าน การเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ในภาพรวมนักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.22